แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ในกรณีที่มีการอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งไม่รับอุทธรณ์นั้น เมื่อผู้อุทธรณ์ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งและศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืนตามศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์หรือมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์คำสั่งของศาลอุทธรณ์นั้นเป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 236 จำเลยจะฎีกาคัดค้านคำสั่งศาลอุทธรณ์ไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระหนี้เงินกู้ ในระหว่างพิจารณา จำเลยยื่นคำร้องขอยื่นบัญชีระบุพยาน อ้างว่า จำเลยไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยานในกำหนดเวลา เป็นเหตุให้ศาลไม่รับบัญชีระบุพยาน จำเลยได้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสัญญากู้ใหม่จากนายวันชัย หากอนุญาตให้สืบพยานปากนี้จะเป็นประโยชน์แก่คดีและความยุติธรรม จึงขอยื่นบัญชีระบุพยานดังกล่าว ศาลชั้นต้นยกคำร้อง จำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นสั่งว่าเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาไม่รับอุทธรณ์ จำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์สั่งว่าเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ให้ยกคำร้อง จำเลยฎีกาคำสั่งศาลอุทธรณ์
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา234 บัญญัติว่า “ถ้าศาลชั้นต้นไม่รับอุทธรณ์ผู้อุทธรณ์อาจอุทธรณ์คำสั่งนั้นไปยังศาลอุทธรณ์…” และมาตรา 236 บัญญัติว่า “เมื่อคู่ความยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลที่ปฏิเสธไม่ยอมรับอุทธรณ์ให้ศาลส่งคำร้องเช่นว่านั้นไปยังศาลอุทธรณ์โดยไม่ชักช้าพร้อมด้วยคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีของศาลชั้นต้นและฟ้องอุทธรณ์ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นเป็นการจำเป็นที่จะต้องตรวจสำนวน ให้มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ ในกรณีเช่นนี้ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาคำร้องแล้วมีคำสั่งยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้นหรือมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์คำสั่งนี้ให้เป็นที่สุด แล้วส่งสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นอ่าน” เห็นว่าตามมาตรา 236 บัญญัติไว้ชัดว่า ในกรณีที่มีการอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งไม่รับอุทธรณ์นั้น เมื่อผู้อุทธรณ์ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งและศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืนตามศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ก็ดี หรือมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ก็ดีให้คำสั่งของศาลอุทธรณ์นั้นเป็นที่สุด กล่าวคือจะฎีกาคัดค้านคำสั่งศาลอุทธรณ์นั้นไม่ได้ ฉะนั้นคำสั่งของศาลอุทธรณ์ในคดีนี้ที่สั่งยืนตามศาลชั้นต้นที่สั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลย จึงเป็นคำสั่งถึงที่สุดตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา236 จำเลยจึงฎีกาคัดค้านคำสั่งศาลอุทธรณ์ไม่ได้”
พิพากษาให้ยกฎีกาจำเลย