แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
นายจ้างเลิกจ้างโดยไม่ทราบว่าลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างเป็นกรรมการลูกจ้าง จึงไม่ได้ขออนุญาตต่อศาลแรงงาน เมื่อนายจ้างดำเนินคดีขอให้เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่มีคำสั่งให้รับลูกจ้างกลับเข้าทำงานหรือจ่ายค่าเสียหาย ลูกจ้างมายอมรับค่าเสียหายกับค่าชดเชยแล้วแถลงไม่ติดใจกล่าวหานายจ้างเกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรม ไม่ติดใจตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ดังนี้ย่อมเป็นข้อแสดงโดยแจ้งชัดว่า ลูกจ้างยอมรับถึงความถูกต้องของการเลิกจ้างกันโดยชอบแล้ว โดยไม่จำต้องให้นายจ้างไปขออนุญาตเลิกจ้างลูกจ้างต่อศาลแรงงานอีก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างโดยมิได้รับอนุญาตจากศาลแรงงาน ขอให้บังคับคดีจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน และจ่ายค่าจ้างในระหว่างนั้น จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะกระทำผิดระเบียบ แต่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำสั่งให้รับโจทก์กลับเข้าทำงาน หรือใช้ค่าเสียหาย เนื่องจากโจทก์ร้องเรียน จำเลยจึงฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว ระหว่างพิจารณา โจทก์ยอมรับค่าชดเชยและค่าเสียหาย คดีถึงที่สุดไปแล้วโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องคดีนี้อีก ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัย “ขณะที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์นั้น จำเลยไม่ทราบว่าโจทก์เป็นกรรมการลูกจ้าง จึงไม่ได้ขออนุญาตเลิกจ้างต่อศาลแรงงาน ครั้นจำเลยดำเนินคดีขอให้เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่มีคำสั่งให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานและจ่ายค่าเสียหาย 15,000 บาทแก่โจทก์ โจทก์มาศาลยอมรับค่าเสียหาย 15,000 บาท ค่าชดเชย 6,300 บาท เมื่อรับเงินแล้วโจทก์แถลงว่าไม่ติดใจกล่าวหาจำเลยเกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมอีกต่อไป ไม่ติดใจตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ดังนี้ย่อมเป็นข้อแสดงโดยแจ้งชัดว่าโจทก์ได้ยอมรับถึงความถูกต้องของการเลิกจ้างกันโดยชอบแล้วโดยไม่จำต้องให้จำเลยไปขอต่อศาลแรงงานเพื่อมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยเลิกจ้างโจทก์อีก ฉะนั้น การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ผู้เป็นกรรมการลูกจ้างโดยมิได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานจึงหาเป็นการไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518มาตรา 52 ดังข้ออุทธรณ์ของโจทก์ไม่ จำเลยจึงไม่ต้องรับโจทก์กลับเข้าทำงานและจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์”
พิพากษายืน