คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5136/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์รับเช็คของจำเลยไปเรียกเก็บเงินตามวิธีการของธนาคารเมื่อเก็บเงินได้แล้วจึงนำเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลย อันเป็นการเรียกเก็บเงินตามเช็คแทนจำเลย มิใช่จำเลยนำเช็คไปแลกเงินสดจากโจทก์ เมื่อโจทก์ได้นำเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยไปก่อนเพราะเชื่อว่าจะเรียกเก็บเงินตามเช็คได้เหมือนคราวก่อน ๆที่โจทก์เคยปฏิบัติมา แต่เช็คดังกล่าวถูกปฏิเสธการจ่ายเงินเช่นนี้ จึงถือได้ว่าจำเลยได้รับเงินไปจากโจทก์โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบเงินจำนวนดังกล่าวจึงเป็นลาภมิควรได้ อันจำเลยจำต้องคืนให้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 406

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยใช้เงินจำนวน 31,498.61 บาท พร้อมดอกเบี้ย จำเลยให้การว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยใช้เงิน 29,323.45 บาทให้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2525 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยเสร็จจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยนำเช็คดังกล่าวไปแลกเงินสดจากโจทก์ เงินที่จำเลยรับไปจากโจทก์ไม่ได้รับไปเนื่องจากโจทก์ชำระหนี้จำเลย และจำเลยรับเงินมาก็มีมูลอันจะอ้างกฎหมายได้จึงมิใช่เป็นเรื่องลาภมิควรได้ จำเลยไม่ต้องคืนให้โจทก์นั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2525จำเลยได้นำเช็คของบริษัทอับดุลลาห์ เอส ออล ราชิ อีเอสที.หมายเลข 04/01813 ลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2525 สั่งจ่ายเงินจำนวน 1,280.50 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา คิดเป็นเงินไทยจำนวน29,323 บาท 45 สตางค์ โดยเช็คฉบับดังกล่าวสั่งจ่ายเงินให้จำเลยการที่จำเลยนำเช็คดังกล่าวมาเรียกเก็บเงินที่ธนาคารโจทก์สาขาตากนั้น เป็นการที่ให้ธนาคารโจทก์สาขาตากไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด ให้อีกต่อหนึ่ง จำเลยยังไม่มีสิทธิรับเงินดังกล่าวไปจากธนาคารโจทก์สาขาตากจนกว่าจะขึ้นเงินดังกล่าวได้แล้วแต่จำเลยเป็นลูกค้าชั้นดีของธนาคารคือได้นำเช็คต่างประเทศมาให้ธนาคารเรียกเก็บเงินให้หลายครั้ง ไม่มีปัญหา ดังนั้น เมื่อจำเลยนำเช็คดังกล่าวมาให้ทางธนาคารเรียกเก็บเงินตามเช็คให้ ธนาคารจึงได้จ่ายเงินให้แก่โจทก์ไปก่อนโดยวิธีโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยจำนวน 29,323 บาท 45 สตางค์ และจะได้เรียกเก็บเงินตามเช็คในภายหลัง ในวันเดียวกันนั้นเองจำเลยได้เบิกเงินดังกล่าวไปจากธนาคารโจทก์จำนวน 20,000 บาท และในวันที่ 28 พฤษภาคม 2525จำเลยขอเบิกเงินในบัญชีดังกล่าวไปอีก 9,000 บาท โจทก์ได้นำเช็คดังกล่าวของจำเลยส่งไปเก็บเงินที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัดสำนักงานใหญ่ แต่ธนาคารดังกล่าวปฏิเสธการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลว่าบริษัทที่สั่งจ่ายเงินได้ล้มละลายแล้ว โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทราบและขอให้คืนเงินทั้งหมดแก่โจทก์ แต่จำเลยไม่คืนดังนี้ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่โจทก์รับเช็คของจำเลยไปเรียกเก็บเงินตามวิธีการของธนาคาร เมื่อเก็บเงินได้แล้วจึงนำเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยอันเป็นการเรียกเก็บเงินตามเช็คแทนจำเลยนั่นเองหาใช่เป็นการที่จำเลยนำเช็คไปแลกเงินสดจากโจทก์ดังที่จำเลยฎีกาไม่โจทก์ได้นำเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยไปก่อนเพราะเชื่อว่าจะเรียกเก็บเงินได้เหมือนคราวก่อน ๆ ที่โจทก์เคยเรียกเก็บเงินตามเช็คให้แก่จำเลยมาแล้วต่อมาเช็คดังกล่าวถูกปฏิเสธการจ่ายเงินเพราะบริษัทผู้จ่ายเงินตามเช็คล้มละลายแล้ว เช่นนี้ จึงถือได้ว่าจำเลยได้รับเงินจำนวน 29,323 บาท 45 สตางค์ ไปจากโจทก์โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบเงินจำนวนดังกล่าวจึงเป็นลาภมิควรได้อันจำเลยจำต้องคืนให้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 406 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยใช้เงินดังกล่าวแก่โจทก์นั้นชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share