แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยมีกระสุนปืนซึ่งนายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในความครอบครอง และถูกจับในระยะเวลา 90 วันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2530ใช้บังคับ อันเป็นระยะเวลาที่จำเลยอาจนำกระสุนปืนดังกล่าวไปมอบแก่นายทะเบียนท้องที่ได้ จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษตามพระราชบัญญัติดังกล่าวมาตรา 4 วรรคหนึ่ง ส่วนมาตรา 4 วรรคสองหมายความว่า ผู้ที่ถูกจับ ถูกสอบสวนหรือถูกฟ้องอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ จะไม่ได้รับประโยชน์จากความในวรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องจำเลยขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯและริบของกลาง จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน แต่ริบของกลาง โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยในชั้นนี้ตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่จำเลยมิได้นำเครื่องกระสุนปืนตามฟ้องมามอบให้นายทะเบียนท้องที่ จะได้รับยกเว้นโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2530 มาตรา 4 หรือไม่พิเคราะห์แล้วเห็นว่าพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่ 8)พ.ศ. 2530 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ผู้ใดมีอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิด นอกจากที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 55 ถ้าได้นำอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิดดังกล่าวมามอบให้นายทะเบียนท้องที่ภายในกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ” และพระราชบัญญัติฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2530จำเลยถูกจับคดีนี้เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2530 อันอยู่ในระยะเวลา90 วัน ที่จำเลยอาจจะนำเครื่องกระสุนปืนตามฟ้องไปมอบให้นายทะเบียนท้องที่ได้ จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ส่วนที่มาตรา 4 วรรคสองบัญญัติต่อไปว่า “ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่ผู้กระทำความผิดที่ถูกจับกุมและอยู่ในระหว่างการสอบสวนหรือระหว่างที่คดียังไม่ถึงที่สุดในวันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับ” นั้น หมายความว่า ผู้ที่ถูกจับ ถูกสอบสวนหรือถูกฟ้องอยู่แล้ว จะไม่ได้รับประโยชน์จากความในวรรคหนึ่งเมื่อจำเลยถูกจับหลังวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ จำเลยจึงได้รับประโยชน์จากความในวรรคหนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันให้ยกฟ้องโจทก์มานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน