แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คำร้องขอให้ถอนผู้จัดการมรดกคนเดิมและตั้งผู้จัดการมรดกคนใหม่แทนนั้น ตามปกติย่อมกระทำได้โดยยื่นคำร้องในคดีเดิมแต่ถ้าผู้ขอประสงค์จะกระทำแยกจากคดีเดิมเพราะมีคำขออื่นที่เกี่ยวเนื่องรวมอยู่ด้วยก็กระทำได้ โดยยื่นคำฟ้องรวมเป็นคดีเดียวกัน กรณีเช่นนี้ไม่จำต้องประกาศคำฟ้องอีก ทายาทมีโอกาสทราบเพราะโจทก์ต้องส่งสำเนาคำฟ้องไปให้อยู่แล้ว และถือว่าเป็นคดีที่เกี่ยวพันกับคดีเดิม ทั้งการสืบพยานในคดีดังกล่าวก็ถือได้ว่าเป็นการไต่สวนที่ชอบแล้ว หากมีเหตุสมควรต้องถอนผู้จัดการมรดกคนเดิมและตั้งผู้จัดการมรดกคนใหม่ ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นทายาทนายจ่าง สำรวลหันต์ เจ้ามรดก จำเลยที่ 2 ได้รับแต่งตั้งจากศาลให้เป็นผู้จัดการมรดกแล้วไม่ทำหน้าที่ให้เสร็จสิ้น จำเลยที่ 1โอนที่ดินมรดก 3 แปลงให้แก่จำเลยที่ 2 เกินส่วนที่จะได้รับและจำเลยที่ 2 สมคบกับจำเลยที่ 3 โอนขายที่ดินแปลงหนึ่งในสามแปลงดังกล่าวให้จำเลยที่ 3 และโอนขายที่ดินที่เหลืออีก 2 แปลง ให้จำเลยที่ 4 โดยมิได้มีการชำระราคาเพื่อฉ้อโกงทายาทอื่น ขอให้เพิกถอนจำเลยที่ 1 จากการเป็นผู้จัดการมรดกและตั้งโจทก์ที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกแทน กับมีคำสั่งเพิกถอนนิติกรรมโอนที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าว ให้กลับคืนสู่สภาพเป็นทรัพย์มรดก จำเลยทั้งสี่ให้การว่าจำเลยที่ 1 ไม่สามารถแบ่งเป็นทรัพย์มรดกให้เสร็จสิ้นได้ เนื่องจากโจทก์ทั้งสองไม่ยอมส่งมอบทรัพย์มรดกให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 โอนที่ดินตามฟ้องตามที่ได้ตกลงกันในการประชุมระหว่างทายาทและการโอนขายกันกระทำโดยสุจริตเสียค่าตอบแทน และจดทะเบียนโดยสุจริต ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ถอนจำเลยที่ 1ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกผู้ตาย และให้ตั้งโจทก์ที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายต่อไป โดยให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 2121, 2122 และ 2186ระหว่างจำเลยทั้งสี่ โดยให้ที่ดินทุกแปลงกลับคืนสู่สภาพเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย จำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาตามที่จำเลยทั้งสี่ฎีกาว่าศาลอุทธรณ์จะตั้งให้โจทก์ที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกไม่ได้เพราะการขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกจะต้องยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นมีการประกาศเปิดโอกาสให้ทายาทอื่นคัดค้าน ศาลชั้นต้นยังมิได้ทำการไต่สวน หรือสืบพยานหลักฐานใด ๆ ทั้งคำฟ้องได้รวมเรื่องขอให้ถอนผู้จัดการมรดกขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกคนใหม่ และขอให้เพิกถอนนิติกรรมเป็นคดีเดียวกันเป็นการไม่ชอบ เห็นว่า คำร้องขอให้ถอนผู้จัดการมรดกคนเดิม และขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกคนใหม่แทนตามปกติย่อมกระทำได้โดยยื่นคำร้องในคดีเดิม เมื่อผู้ขอประสงค์จะกระทำแยกจากคดีเดิม เพราะมีคำขออื่นที่เกี่ยวเนื่องรวมอยู่ด้วยก็กระทำได้โดยยื่นเป็นคำฟ้องรวมเป็นคดีเดียวกันกรณีเช่นนี้ไม่จำเป็นต้องประกาศคำฟ้องอีก ทายาทมีโอกาสทราบโดยโจทก์ต้องส่งสำเนาฟ้องไปให้ และถือว่าเป็นคดีที่เกี่ยวกันกับคดีเดิมทั้งการสืบพยานในคดีดังกล่าวก็ถือได้ว่าเป็นการไต่สวนที่ชอบแล้วศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจพิพากษาหรือมีคำสั่งดังกล่าวได้
ปัญหาต่อไปมีว่า มีเหตุสมควรถอนจำเลยที่ 1 จากการเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่ และมีเหตุสมควรตั้งโจทก์ที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ศาลชั้นต้นสั่งตั้งจำเลยที่ 1เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2514ผู้ตายมีทรัพย์มรดกซึ่งเป็นที่ดิน 5 แปลง ต่อมา ปี พ.ศ. 2524จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกได้ฟ้องโจทก์ที่ 1 ที่ 2เรียกที่ดินมรดกคืน 2 แปลง และฟ้องโจทก์ที่ 2 เรียกพระพุทธรูปมรดกคืน 1 องค์ ตั้งแต่จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกไม่เคยทำบัญชีทรัพย์มรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1729 เห็นว่าเป็นระยะเวลานานเกินกว่า 10 ปี จำเลยที่ 1 มิได้ทำบัญชีทรัพย์มรดกทั้ง ๆ ที่ทรัพย์มรดกมีไม่มาก ตรวจนับได้ไม่ยากเพราะมีที่ดินเพียง 5 แปลง ที่ดิน 3 แปลง จำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครอง ที่ดินอีกหนึ่งแปลง จำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 1 นำไปขายเพื่อเอาเงินเข้ากองมรดก ที่ดินอีกหนึ่งแปลงจำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองและนำไปขายให้บุคคลอื่นเมื่อปี พ.ศ. 2519 จำเลยที่ 1 ก็ทราบดีนอกจากนี้ก็มีพระพุทธรูป 1 องค์ และอาวุธปืน 1 กระบอก ข้ออ้างของจำเลยที่ 1 ที่ว่าเหตุที่ทำบัญชีไม่ได้เพราะมีเหตุขัดข้อง เนื่องจากโจทก์ที่ 1 ที่ 2 นำที่ดินไปขายให้แก่บุคคลอื่น และโจทก์ที่ 1ที่ 2 ไม่ให้ความร่วมมือ เป็นข้ออ้างที่ไม่ตรงต่อความจริง เพราะตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 ถึงปี พ.ศ. 2519 เป็นเวลาถึง 5 ปี ที่จำเลยที่ 2 คงครอบครองที่ดินมรดก 1 แปลง น่าจะเป็นระยะเวลาเพียงพอในการทำบัญชีทรัพย์มรดก การที่จำเลยที่ 1 พิพาทกับโจทก์ที่1 ที่ 2 เรื่องที่ดินดังกล่าวและพิพาทกับโจทก์ที่ 2 เรื่องพระพุทธรูปในปี พ.ศ. 2524 ก็เป็นระยะเวลาภายหลังไม่เกี่ยวกับการทำบัญชี จึงฟังไม่ได้ว่าเหตุที่จำเลยที่ 1 ไม่ทำบัญชีทรัพย์มรดกเพราะมีเหตุขัดข้อง และการที่จำเลยที่ 1 ไม่แบ่งปันทรัพย์มรดกแก่ทายาทครบทุกคนตลอดระยะเวลา 10 ปี มีเหตุผลสมควรหรือไม่นั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินมรดก3 แปลง ที่ครอบครองให้แก่จำเลยที่ 2 คนเดียว โดยทายาทคนอื่นอีก5 คน ไม่ได้รับส่วนแบ่งด้วย เป็นการโอนทรัพย์มรดกที่ไม่ชอบจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจกระทำได้ ข้ออ้างของจำเลยที่ 1 ที่ว่ากรณีดังกล่าวเป็นการโอนที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 เพื่อให้จำเลยที่ 2นำไปจำนอง เพื่อนำเงินมาประกอบธุรกิจ ต่อมาจำเลยที่ 2 ตกลงซื้อที่ดินดังกล่าวในราคา 360,000 บาท ตามที่ทายาทตกลงกันไม่ใช่โอนเพื่อแบ่งมรดกนั้น เห็นว่า ตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.1ถึง จ.3 ระบุไว้ชัดว่าโอนมรดก และจำเลยที่ 1 โอนที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2515 ตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.1จ.2 และโอนที่ดินตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.3 เมื่อวันที่ 1มิถุนายน 2516 แสดงว่าขณะนั้นจำเลยที่ 2 ไม่ได้เดือดร้อนเรื่องการเงิน เพราะจำเลยที่ 2 นำที่ดินตามเอกสารหมาย จ.1ไปจำนองเมื่อปี 2521 และจำนองที่ดินตามเอกสารหมาย จ.2 เมื่อปี2519 ทั้งปรากฏว่าที่ดินตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.3 จำเลยที่ 2รับโอนวันที่ 1 มิถุนายน 2516 และในวันเดียวกันจำเลยที่ 2ก็ขายที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นภริยาของจำเลยที่ 1ประกอบกับไม่มีเหตุผลที่ทายาทจะตกลงกันให้นำที่ดินเกือบทั้งหมดให้จำเลยที่ 2 คนเดียวนำไปจำนองทั้ง ๆ ที่ไม่ปรากฏความเดือดร้อนให้เกิดความยุ่งยาก ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 เพื่อนำไปจำนอง หรือเพื่อเป็นหลักประกันส่วนข้ออ้างที่ว่าจำเลยที่ 2 ได้ซื้อที่ดินทั้งสามแปลงในราคา360,000 บาท ได้ชำระราคาแล้ว ก็เป็นแต่เพียงข้ออ้างลอย ๆไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุนที่เพียงพอ จำเลยที่ 2 เบิกความว่าจ่ายเงินค่าที่ดินเป็นงวด ๆ แต่กี่งวด งวดละเท่าใด จำไม่ได้ขณะที่จ่ายไม่มีคนอื่นรู้เห็นทุกงวด ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือทั้ง ๆ ที่ราคาที่ดินมีจำนวน 360,000 บาท ถือได้ว่าเป็นจำนวนเงินที่สูงมาก และได้ซื้อขายกันตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 จำเลยที่ 1 อ้างว่าได้เก็บเงินดังกล่าวไว้เอง ไม่ได้ฝากธนาคาร จึงเป็นข้ออ้างที่เป็นพิรุธ หากเป็นความจริงไม่มีเหตุผลที่จำเลยที่ 1 จะเก็บเงินจำนวนมากไว้เอง เพราะนอกจากจะไม่ปลอดภัยแล้วยังทำให้กองมรดกขาดรายได้ที่เป็นดอกเบี้ยเป็นเวลานานหลายปีคิดเป็นเงินจำนวนมากส่วนข้ออ้างที่ว่าใช้เป็นค่าจ้างทนายความฟ้องคดีก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังเท่านั้น ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 ขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 และพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ส่อไปในทางไม่สุจริตจึงไม่เป็นการสมควรที่จะให้จัดการทรัพย์มรดกของผู้ตายอีกต่อไป สำหรับโจทก์ที่ 1 แม้จะไม่ต้องห้ามในการเป็นผู้จัดการมรดก แต่ก็มีพฤติการณ์ไปในทางยักยอกทรัพย์มรดกดังที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้คืนที่ดินแก่กองมรดกตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่596/2525 ของศาลชั้นต้นจึงเป็นบุคคลที่ไม่สมควรเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายเช่นกัน
มีปัญหาว่ามีเหตุเพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดิน 3 แปลงที่พิพาทหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 โอนมรดกที่ดินทั้ง 3 แปลงให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นทายาทแต่เพียงคนเดียวเป็นการไม่ชอบ จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นภริยาของจำเลยที่ 1 รับโอนที่ดินจากจำเลยที่ 2 อ้างว่าเป็นการซื้อขาย เชื่อได้ว่าจำเลยที่ 3ก็ต้องทราบดีว่าจำเลยที่ 2 รับโอนที่ดินมาโดยไม่ชอบ จึงเป็นการรับโอนที่ไม่สุจริต ส่วนกรณีจำเลยที่ 2 และที่ 3 โอนที่ดินพิพาททั้ง 3 แปลงให้แก่จำเลยที่ 4 ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 เป็นหลานภริยาของจำเลยที่ 2 และเป็นญาติกับจำเลยที่ 1 การโอนที่ดินตามเอกสารหมาย จ.1 จำเลยที่ 4 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 กระทำการแทนการโอนที่ดินตามเอกสารหมาย จ.2 จ.3 จำเลยที่ 4 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 กระทำการแทน ทั้งปรากฏว่าก่อนที่จะโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 4 ในเดือนเมษายนและเดือนมิถุนายน 2524 โจทก์ทั้งสองและทายาทอีก 2 คน ได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นในคดีเดิมขอถอนจำเลยที่ 1 ออกจากผู้จัดการมรดก โดยอ้างว่าจำเลยที่ 1โอนที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 โดยไม่ชอบประการหนึ่งด้วย โดยยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2523 พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 4 รับโอนที่ดินมาโดยไม่สุจริต โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทมีสิทธิขอเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวได้ ที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งตั้งโจทก์ที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกแทนจำเลยที่ 1 นั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยทั้งสี่ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า คำขอให้ตั้งโจทก์ที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกแทนจำเลยที่ 1 ให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์