แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
คนร้ายสามคนสวมหมวกไหมพรมแบบอ้ายโม่งเห็นเฉพาะใบหน้าบางส่วน คนร้ายใช้อาวุธปืนจี้บังคับให้ผู้เสียหายคุกเข่าก้มหน้าหมอบลงกับพื้น โดยผู้เสียหายคงได้ยินเสียงคนร้ายเท่านั้นดังนั้นคำเบิกความของผู้เสียหายที่ระบุว่า จำเลยทั้งสองเป็นคนร้ายเพราะจำเสียงได้นั้นจึงมีน้ำหนักน้อยเพราะเสียงพูดของบุคคลแต่ละคนอาจเหมือนหรือคล้ายคลึงกันได้ หรืออาจเลียนแบบให้เหมือนหรือคล้ายคลึงกันได้ นอกจากนี้พยานโจทก์มิได้ระบุชื่อคนร้ายในขณะที่พบกับร้อยตำรวจโท จ. ในโอกาสแรก แต่เพิ่งระบุชื่อหลังจากร้อยตำรวจโท จ. กลับจากดูที่เกิดเหตุแล้ว ทั้งจำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธมาโดยตลอด พยานหลักฐานโจทก์จึงฟังลงโทษจำเลยที่ 2 ในคดีปล้นทรัพย์ได้ แม้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดแต่ละกระทงไม่เกิน 5 ปี ซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218 แต่เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ไม่พอรับฟังว่าจำเลยที่ 2 เป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนร่วมกับพวกทำการปล้นทรัพย์แล้ว ศาลฎีกามีอำนาจยกฟ้องโจทก์ในความผิดแต่ละกระทงดังกล่าวได้ เมื่อข้อเท็จจริงที่ศาลฎีกาวินิจฉัยยกฟ้องจำเลยที่ 2เป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งมิได้ฎีกาให้มิต้องรับโทษได้ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบด้วยมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 32, 33, 91, 340, 340 ตรี, 371 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 14, 15พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21ตุลาคม 2519 ข้อ 3, 6, 7 ให้จำเลยทั้งสองคืนหรือใช้ราคาแก่ผู้เสียหายริบของกลางที่ใช้กระทำผิดและคืนของกลางแก่เจ้าของด้วย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามฟ้อง ลงโทษฐานมีอาวุธปืนให้จำคุกคนละ 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนติดตัวฝ่าฝืนกฎหมายให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490ซึ่งเป็นบทหนัก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุกคนละ3 เดือน ฐานปล้นทรัพย์โดยใช้อาวุธปืนให้จำคุกคนละ 22 ปี 6 เดือนรวมเป็นจำคุกไว้มีกำหนดคนละ 24 ปี ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาแทนแก่ผู้เสียหาย ริบของกลางที่ใช้กระทำผิดกับคืนของกลางนอกนั้นแก่เจ้าของ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ได้กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ โจทก์มีนายโกวิทย์ สระทองดี ผู้เสียหายที่ 1นางบถญมี ศรีชนะ ผู้เสียหายที่ 2 และนายร้อย ศรีชนะ เป็นประจักษ์พยานต่างเบิกความยืนยันว่าในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง ขณะที่ผู้เสียหายที่ 1 ที่ 2 และนายร้อยนั่งผิงไฟอยู่รอบ ๆ กองไฟบริเวณหน้ากระท่อม โดยทุกคนนั่งหันหน้าเข้าหากองไฟห่างประมาณ 1 ศอก กองไฟดังกล่าวให้แสงสว่างสามารถมองเห็นกันได้ในระยะ 5 เมตร ทันใดนั้นมีคนร้าย 3 คนจู่โจมเข้ามาอย่างรวดเร็ว ถือปืนสั้นคนละ 1 กระบอก ทั้งสามคนสวมหมวกไหมพรมแบบอ้ายโม่ง เปิดเป็นรูปไข่วงรีให้เห็นเฉพาะระหว่างกึ่งกลางหน้าผากส่วนล่าง กับริมฝีบากด้านบน และบางส่วนของแก้มทั้งสองข้างสวมเสื้อหนาวแบบเสื้อแจกเกตฟิลด์ของทหาร คนร้ายดังกล่าวตรงเข้าใช้ปืนจี้พยานโจทก์ทั้งสาม แล้วบังคับให้คุกเข่าก้มหน้าหมอบลงกับพื้นและห้ามไม่ให้มองหน้า ต่อจากนั้นคนร้ายที่คุมตัวผู้เสียหายที่ 1 ได้ถามหาสร้อยคอพร้อมกับใช้ปืนตีที่ศีรษะผู้เสียหายที่ 1แล้วใช้มือล้วงเอาสร้อยคอ 1 เส้น จากคอผู้เสียหายที่ 1 ไปและคนร้ายที่คุมตัวผู้เสียหายที่ 2 ถามผู้เสียหายที่ 2 ว่าสร้อยคออยู่ที่ไหนและใช้ปืนตีศีรษะผู้เสียหายที่ 2 หนึ่งทีผู้เสียหายที่ 2 จึงเอาถึงซึ่งบรรจุเงินสดจำนวน 1,550 บาท และสร้อยคอ 1 เส้น ให้แก่คนร้ายนั้นไป ส่วนคนร้ายที่คุมตัวนายร้อยได้ใช้มือจับศีรษะนายร้อยถูกับพื้นหิน แล้วใช้ปืนตีท้ายทอยนายร้อย 1 ที จนปืนลั่นขึ้น 1 นัด คนร้ายดังกล่าวถามนายร้อยว่ามาจากไหนและขู่ว่าจะฆ่านายร้อย นายร้อยไม่ตอบ แต่ผู้เสียหายที่ 2 ได้ตอบคนร้ายแทนนายร้อยไปว่า มาจากจังหวัดยโสธรและขอร้องไม่ให้คนร้ายนั้นฆ่านายร้อยเพราะนายร้อยใกล้จะบวชอยู่แล้ว พยานโจทก์ทั้งสามได้ลอบมองคนร้ายในบางโอกาสจึงจำลักษณะและเสียงพูดของคนร้ายได้ว่าเป็นจำเลยที่ 1 ที่ 2 ในคดีนี้โดยจำเลยที่ 1 เป็นคนร้ายคุมตัวนายร้อย จำเลยที่ 2 เป็นคนร้ายที่คุมผู้เสียหายที่ 2 ส่วนคนร้ายที่คุมตัวผู้เสียหายที่ 1 นั้นพยานโจทก์ทั้งสามจำไม่ได้เลย และยังได้ความจากพยานโจทก์ทั้งสามต่อไปด้วยว่า ถ้าคนร้ายไม่พูดพยานโจทก์ทั้งสามจะไม่สามารถจำได้เลยว่า คนร้ายเหล่านั้นเป็นใคร จากคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสามดังกล่าวแล้ว จะเห็นได้ว่าเหตุที่พยานโจทก์ทั้งสามจำคนร้ายได้ว่าเป็นจำเลยที่ 1 ที่ 2 ก็เพราะจำเสียงพูดของคนร้ายตอนพูดขู่เอาทรัพย์จากผู้เสียหายที่ 1 ที่ 2 และขู่ทำร้ายนายร้อยเท่านั้น ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่า ลำพังแต่เสียงพูดของคนร้ายนั้นไม่พอที่จะชี้ให้เห็นได้โดยแน่ชัดว่า คนร้ายนั้นเป็นใคร เพราะเสียงพูดของบุคคลแต่ละคนอาจเหมือนหรือคล้ายคลึงกันได้ หรืออาจเลียนแบบให้เหมือนหรือคล้ายคลึงกันก็เป็นได้ จึงเป็นการไม่แน่นอนเสมอไป ดังนั้นคำเบิกความยืนยันของโจทก์พยานโจทก์ในเรื่องนี้จึงมีน้ำหนักน้อย ไม่พอที่จะชี้หรือพิสูจน์ให้เห็นได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นคนร้ายรายนี้ นอกจากนี้เมื่อคนร้ายทำการปล้นทรัพย์เสร็จและหลบหนีไปแล้วมีเพื่อนบ้านหลายคนมาที่บ้านผู้เสียหายและเมื่อพยานโจทก์ทั้งสามไปแจ้งความต่อนายเนียรผู้ใหญ่บ้านไว้ก็ไม่ปรากฏว่าพยานโจทก์ทั้งสามได้บอกแก่เพื่อนบ้านหรือระบุชื่อคนร้ายต่อนายเนียรแต่อย่างใด และครั้นเมื่อนายเนียรนำพยานโจทก์ทั้งสามไปแจ้งความต่อร้อยตำรวจโทวันชัย อิ่มโภชน์ร้อยเวรสถานีตำรวจภูธรอำเภอนิคมคำสร้อยพยานโจทก์ทั้งสามก็มิได้ระบุชื่อคนร้ายขณะที่พบกับร้อยตำรวจโทวันชัยในโอกาสแรกแต่กลับปรากฏว่าพยานโจทก์ทั้งสามเพิ่งระบุชื่อคนร้ายว่าเป็นจำเลยที่ 1 ที่ 2 เมื่อร้อยตำรวจโทวันชัยกับพวกกลับมาจากไปดูที่เกิดเหตุแล้ว ที่เป็นเช่นนี้น่าเชื่อว่า เป็นเพราะพยานโจทก์ทั้งสามไม่แน่ใจว่าคนร้ายเป็นใครนั่นเอง ประกอบทั้งจำเลยที่ 2ก็ได้ให้การปฏิเสธตลอดมา ดังนี้ พยานหลักฐานโจทก์เท่าที่นำสืบมา จึงรับฟังลงโทษจำเลยที่ 2 ไม่ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 มานั้น จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น ส่วนความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในความครอบครองและพกพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น แม้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 แต่ละกระทงไม่เกิน 5 ปี ซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 ก็ตาม แต่เมื่อศาลฎีกาเห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์ไม่พอรับฟังว่าจำเลยที่ 2เป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนร่วมกับพวกทำการปล้นทรัพย์ของผู้เสียหายแล้วศาลฎีกาก็มีอำนาจที่จะยกฟ้องโจทก์ในความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวแล้วได้ด้วย ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185
อนึ่ง เมื่อจากจำเลยที่ 1 ที่ 2 ถูกกล่าวหาว่า ได้ร่วมกันกระทำความผิดในความผิดเดียวกันก็เป็นชุดเดียวกัน ข้อเท็จจริงที่วินิจฉัยมาแล้วจึงเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งมิได้ฎีกาให้มิต้องถูกรับโทษได้ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213ประกอบด้วยมาตรา 225
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2ทุกข้อหา ริบปลอกกระสุนปืนขนาด .38 จำนวน 4 ปลอก ปลอกกระสุนปืนขนาด .410 จำนวน 1 ปลอก หัวกระสุนปืนจำนวน 2 หัว คืนหมวกคลุมหน้าไหมพรม 1 ใบ เสื้อกันหนาว 1 ตัว รองเท้าหนังกลับ 1 คู่กางเกงขายาว 1 ตัว แก่เจ้าของ”