แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ชายหญิงตกลงกันในวันสู่ขอว่าจะไปจดทะเบียนสมรสหลังพิธีแต่งงานแล้ว ต่อมาชายเป็นฝ่ายที่ไม่ยอมจดทะเบียนสมรสอันเป็นการผิดสัญญาหมั้น ชายจะเรียกของหมั้นและสินสอดคืนไม่ได้ ทั้งไม่มีสิทธิเรียกค่าทดแทนความเสียหายที่ได้ใช้จ่ายไปในการเตรียมการสมรส เงินที่ฝ่ายชายมอบให้แก่ฝ่ายหญิงเพื่อซื้อบ้านอยู่อาศัยไม่มีลักษณะเป็นค่าใช้จ่ายในการเตรียมการสมรส แต่เป็นข้อตกลงนำเอามาเป็นเงินกองทุนเพื่อใช้เป็นที่อยู่และที่ทำมาหากินระหว่างชายกับหญิง หลังจากแต่งงานกันแล้ว เมื่อไม่มีการจดทะเบียนสมรสกันฝ่ายหญิงต้องคืนเงินจำนวนนี้ให้ฝ่ายชาย หนี้เงินตามเช็คที่ชายหญิงยังมีข้อต่อสู้โต้เถียงกันอยู่จะนำมาหักกลบลบหนี้กับหนี้ที่ชายหญิงมีอยู่ต่อกันไม่ได้ หญิงฟ้องแย้งเรียกค่าทดแทนความเสียหายเนื่องจากชายผิดสัญญาหมั้น แต่ข้อนำสืบของหญิงไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าหญิงได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียงในการที่ชายผิดสัญญาหมั้นอย่างไรบ้าง การที่หญิงกล่าวอ้างลอย ๆ ว่าได้รับความเสียหายยังไม่เพียงพอที่ศาลจะรับฟังว่าหญิงได้รับความเสียหายอันจะกำหนดให้ชายรับผิดชดใช้ค่าทดแทน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 3 ผิดสัญญาหมั้นที่ทำไว้กับโจทก์ที่ 2 ก่อนทำพิธีแต่งงาน ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนของหมั้นและสินสอดทั้งหมดให้แก่โจทก์ทั้งสอง ถ้าคืนไม่ได้ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ราคาเป็นเงินทั้งหมด 441,044 บาท ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ความเสียหายอันเนื่องจากค่าใช้จ่ายเตรียมการสมรสเป็นจำนวนเงิน 159,000 บาท และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 600,044 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสามจะได้ชำระเสร็จ
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า ฝ่ายโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นทำให้จำเลยที่ 3 ได้รับความเสียหาย จึงขอให้โจทก์ทั้งสองชดใช้ความเสียหายต่อกายและชื่อเสียงของจำเลยทั้งสามเป็นเงิน200,000 บาท ค่าทดแทนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ใช้จ่ายไปในการหมั้น และการสมรสของโจทก์ที่ 2 กับจำเลยที่ 3 เป็นเงิน84,000 บาท และให้โจทก์ทั้งสองร่วมกันชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 284,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะปฏิบัติตามคำพิพากษา
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 3 เป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นไม่มีสิทธิเรียกค่าทดแทนเพื่อความเสียหายและค่าใช้จ่ายใด ๆจากโจทก์ ถ้าจะฟังว่าโจทก์ที่ 2 ผิดสัญญา จำเลยที่ 1 และที่ 2ก็ไม่เสียหายต่อกายและชื่อเสียงแต่อย่างใด สำหรับจำเลยที่ 3เสียหายเพียง 20,000 บาท สำหรับค่าเสียหายเนื่องจากทำลายทรัพย์สิน จำเลยไม่มีสิทธิฟ้องเรียกจากโจทก์ หากจะมีสิทธิค่าเสียหายก็ไม่เกิน 1,000 บาท
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 3 คืนเงินจำนวน 100,000 บาทให้แก่โจทก์ที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก และให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยเสีย โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสามอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยที่ 3 คืนเงินจำนวน 2,000บาท ให้แก่โจทก์ที่ 2 พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบรับกันฟังได้ว่าโจทก์ที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ทำพิธีหมั้นและแต่งงานกันโดยฝ่ายโจทก์นำของหมั้นไปมอบให้แก่ฝ่ายจำเลย มีข้อตกลงกันในวันสู่ขอจำเลยที่ 3 ว่าจะจดทะเบียนสมรสหลังจากแต่งงานแล้วแต่โจทก์ที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ก็มิได้มีการจดทะเบียนสมรสกัน คงมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยต่อไปดังนี้
ข้อ 1. โจทก์หรือจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น
ข้อ 2. ฝ่ายใดจะต้องรับผิดชำระเงินให้แก่อีกฝ่ายหนึ่ง ตามที่โจทก์ฟ้องหรือฟ้องแย้งของจำเลยหรือไม่ เพียงใด
สำหรับปัญหาข้อแรกที่ว่า โจทก์หรือจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น ข้อนี้ฝ่ายโจทก์มีตัวโจทก์ที่ 2 อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่าหลังจากโจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 3 ได้ทำพิธีแต่งงานกันแล้วโจทก์ที่ 2 ได้ชักชวนจำเลยที่ 3 ไปทำการจดทะเบียนสมรสหลายครั้งแต่จำเลยที่ 3 ผัดผ่อนไม่ยอมไปจดทะเบียนสมรสด้วย ซึ่งการตกลงว่าจะไปจดทะเบียนสมรสนั้นเป็นข้อตกลงระหว่างโจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 2 ที่ตกลงกันในวันสู่ขอให้ไปจดทะเบียนสมรสหลังพิธีแต่งงานแล้ว และโจทก์อ้างเอกสารหมาย จ.10 บันทึกรายงานประจำวันของสถานีตำรวจนครบาลบางเขนซึ่งในบันทึกดังกล่าวจำเลยที่ 3รับว่าโจทก์ที่ 2 ได้เคยพาจำเลยที่ 3 ไปจดทะเบียนสมรส แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสเพราะบัตรประจำตัวประชาชนของจำเลยที่ 3หมดอายุ และยังปรากฏในเอกสารหมาย จ.10 อีกว่า เมื่อถึงสถานีตำรวจนครบาลบางเขนแล้ว โจทก์ที่ 2 ยังแจ้งความประสงค์จะอยู่กินกับจำเลยที่ 3 ต่อไป และขอให้จำเลยที่ 3 ไปจดทะเบียนสมรสด้วย แต่จำเลยที่ 3 ไม่ยอมตกลง นอกจากนั้นโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดมาสนับสนุนฟ้องของโจทก์ในข้อนี้อีก จำเลยได้นำสืบโต้แย้งว่า ฝ่ายจำเลยไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น แต่โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น โดยจำเลยมีจำเลยที่ 3 มาเบิกความว่าจำเลยที่ 3 ได้ชวนโจทก์ที่ 2 ไปจดทะเบียนสมรสด้วยหลายครั้งนอกจากนั้นญาติทางฝ่ายจำเลยได้เร่งเร้าให้โจทก์ที่ 2 พาจำเลยที่ 3 ไปจดทะเบียนสมรสด้วย แต่โจทก์ที่ 2 ก็ขอผัดผ่อนไม่ยอมไปจดทะเบียนกับจำเลยที่ 3 และตามเอกสารหมาย จ.10 ที่จำเลยที่ 3รับว่าโจทก์ที่ 2 เคยพาจำเลยที่ 3 ไปจดทะเบียนสมรสที่เขตบางเขนแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสเพราะบัตรประจำตัวประชาชนของจำเลยที่ 3หมดอายุนั้น จำเลยก็ได้นำสืบโต้แย้งว่า เหตุที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสเพราะโจทก์ที่ 2 เองให้จำเลยที่ 3 ไปต่ออายุบัตรประจำตัวประชาชนก่อน เห็นได้ว่าเหตุที่จำเลยที่ 3 ไม่ได้จดทะเบียนสมรสในวันนั้นเกิดขึ้นจากเหตุขัดข้องเนื่องจากบัตรประจำตัวประชาชนของจำเลยที่ 3 หมดอายุ หากจำเลยที่ 3 ไม่ประสงค์จะจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 3 ก็หาต้องไปที่ที่ว่าการเขตบางเขนกับโจทก์ที่ 2 ด้วยไม่ ส่วนข้อที่ว่าเมื่อโจทก์ที่ 2ได้ไปที่สถานีตำรวจนครบาลบางเขนเพื่อเจรจากับจำเลยที่ 3ตามเอกสารหมาย จ.10 โจทก์ที่ 2 ขอให้มีการจดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 3 แต่จำเลยที่ 3 ไม่ยอมด้วยนั้น จะถือว่าจำเลยที่ 3ผิดสัญญาหมั้นยังไม่ได้ เพราะที่จำเลยที่ 3 ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางเขนนั้น ก็ปรากฏจากเอกสารหมาย จ.10 เองว่าเพื่อให้เรียกโจทก์ที่ 2 มาตกลง เนื่องจากไม่ประสงค์จะอยู่กินกับโจทก์ที่ 2 อีกต่อไป เพราะทนความประพฤติของโจทก์ที่ 2 ไม่ไหว และปรากฏจากเอกสารหมาย จ.10 ซึ่งโจทก์ที่ 2 ก็รับว่า ก่อนจำเลยที่ 3 มาแจ้งความเรื่องนี้ โจทก์ที่ 2และจำเลยที่ 3 ได้เคยมีปากเสียงกันอย่างรุนแรง แล้วจำเลยที่ 3ก็ชวนโจทก์ที่ 2 ไปจดทะเบียนสมรส แต่โจทก์ที่ 2 ไม่ยอมตกลงจึงแสดงให้เห็นว่าในขณะที่จำเลยที่ 3 และโจทก์ที่ 2 มีโอกาสที่จะจดทะเบียนสมรสกันได้นั้น โจทก์ที่ 2 เองกลับเป็นฝ่ายไม่ยอมไปจดทะเบียนสมรส เมื่อจำเลยที่ 3 ทนต่อความประพฤติของโจทก์ที่ 2ไม่ไหวจึงไปแจ้งความตามเอกสารหมาย จ.10 ซึ่งโจทก์ที่ 2 เองเบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า โจทก์ที่ 2 ได้ทะเลาะกับจำเลยที่ 3 และการทะเลาะครั้งสุดท้ายนั้น โจทก์ที่ 2 ก็เอาเสื้อผ้าไป 2 ชุด แล้วออกจากบ้านไปค้างที่อื่น เมื่อกลับมาบ้านโจทก์ที่ 2 ก็ได้ทำลายทรัพย์สินภายในบ้านเพราะบันดาลโทสะด้วยปรากฏตามเอกสารหมาย จ.9 และภาพถ่ายหมาย ล.10 นอกจากนั้นโจทก์ที่ 2 เบิกความรับว่า ได้ทำร้ายพี่ชายจำเลยที่ 3 และทำร้ายจำเลยที่ 2 บนสถานีตำรวจนครบาลบางเขนจริง พฤติการณ์ดังกล่าวมาจะฟังว่าจำเลยที่ 3 เป็นฝ่ายไม่ยอมไปจดทะเบียนสมรสยังไม่ได้นอกจากนั้นฝ่ายจำเลยยังมีนางศรีวรรณ ทิชากรเอกสิทธิ์ ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านของโจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 3 เบิกความเป็นพยานยืนยันว่าก่อนที่โจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 3 จะทะเลาะกันอย่างรุนแรงและแยกกันอยู่นั้น โจทก์ที่ 2 เคยมาเล่าให้พยานฟังว่า โจทก์ที่ 2เสียเงินทองเพชรพลอยในการแต่งงานกับจำเลยที่ 3 เป็นจำนวนมากแต่จำเลยที่ 2 เอาไปหมด ทำให้โจทก์ที่ 2 เกิดความไม่สบายใจและคิดว่าจะอยู่กับจำเลยที่ 3 ไม่ได้ ซึ่งพฤติการณ์ดังกล่าวของโจทก์ที่ 2 แสดงให้เห็นว่าโจทก์ที่ 2 เป็นฝ่ายไม่ยอมไปจดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 3 เพราะโจทก์ที่ 2 ไม่พอใจที่จำเลยที่ 2เอาเงินสินสอดไปทั้งหมด ประกอบกับจำเลยที่ 3 เป็นฝ่ายหญิงเมื่อแต่งงานแล้วเป็นธรรมดาอยู่เองที่จะต้องมีความประสงค์ในเรื่องการจดทะเบียนสมรส โจทก์ที่ 2 เองรับว่าเมื่อทะเลาะกับจำเลยที่ 3อย่างรุนแรงแล้ว จำเลยที่ 3 ก็ยังชวนไปจดทะเบียนสมรสด้วยอีกคดีจึงฟังได้ว่าโจทก์ที่ 2 เป็นฝ่ายไม่ยอมไปจดทะเบียนสมรสอันเป็นการผิดสัญญาหมั้น
ส่วนปัญหาข้อที่ 2 นั้น เมื่อพฤติการณ์แห่งคดีถือไม่ได้ว่าเหตุที่ไม่มีการจดทะเบียนสมรสกันโดยฝ่ายจำเลยผิดสัญญาหมั้นฝ่ายจำเลยจึงไม่ต้องคืนของหมั้นและสินสอดให้แก่ฝ่ายโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1437 และ 1439 และฝ่ายโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าทดแทนความเสียหายจากฝ่ายจำเลยในส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายในการเตรียมการสมรสที่ฝ่ายโจทก์ได้ใช้จ่ายไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1439 ส่วนเงินที่โจทก์มอบให้ฝ่ายจำเลยเพื่อซื้อบ้านนั้น ไม่มีลักษณะเป็นค่าใช้จ่ายในการเตรียมการสมรส โดยเป็นข้อตกลงของทั้งสองฝ่ายนำเอามาเป็นเงินกองทุนเพื่อใช้เป็นสถานที่อยู่และที่ทำมาหากินระหว่างโจทก์ที่ 2 กับจำเลยที่ 3 หลังจากแต่งงานกันแล้ว เมื่อไม่มีการจดทะเบียนสมรสกัน ก็ต้องคืนเงินจำนวนนี้ให้ฝ่ายโจทก์ โจทก์อ้างว่าได้จ่ายซื้อบ้านตามข้อตกลงดังกล่าวเป็นเงิน 140,000 บาท โดยจ่ายเป็นเงินสด40,000 บาท และตั๋วแลกเงิน 100,000 บาท ปรากฏว่าสำหรับเงินสดจำนวน 40,000 บาทนั้น โจทก์กล่าวอ้างขึ้นลอย ๆ โดยไม่มีหลักฐานใดมาสนับสนุนให้เห็นว่าจำเลยได้รับเงินจำนวนนี้ของโจทก์ไว้เพื่อซื้อบ้านแต่อย่างใด จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้รับเงินดังกล่าวไว้ ส่วนตั๋วแลกเงินจำนวน 100,000 บาทนั้น จำเลยที่ 3 เบิกความยอมรับว่าได้รับจากโจทก์ที่ 2 จริง จึงฟังได้ว่า โจทก์ที่ 2ได้มอบเงินให้จำเลยที่ 3 เป็นเงิน 100,000 บาท ส่วนที่จำเลยที่ 3 นำสืบว่า โจทก์ที่ 2 ได้ขอยืมเงินของจำเลยที่ 3 ไปเป็นเงิน48,000 บาท ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.21 ถึง จ.27 และ จ.6หมายเลข 5 หลังจากหักกลบลบหนี้กับจำนวนเงินที่โจทก์ที่ 2จ่ายเป็นค่าซื้อบ้านแล้ว คงเหลือเป็นเงินในส่วนที่โจทก์ที่ 2จ่ายเป็นค่าซื้อบ้านเพียง 2,000 บาทนั้น โจทก์ที่ 2 นำสืบต่อสู้ว่า จำเลยที่ 3 นำเช็คตามเอกสารหมาย จ.22 และ จ.25 มาชำระหนี้เงินยืมให้โจทก์ที่ 2 ส่วนนอกนั้นเป็นเช็คที่จำเลยที่ 3 วานให้โจทก์ที่ 2 นำไปเบิกเงินจากธนาคารและโจทก์ที่ 2 ได้มอบเงินตามเช็คดังกล่าวให้จำเลยที่ 3 รับไปแล้ว เมื่อปรากฏว่า หนี้เงินตามเช็คดังกล่าวยังมีข้อต่อสู้โต้เถียงกันอยู่ว่าเป็นหนี้กันตามเช็คหรือไม่ เช่นนี้ จำเลยที่ 3 จึงไม่มีสิทธิหักกลบลบหนี้ได้ต้องคืนเงินจำนวนนี้ให้แก่โจทก์ที่ 2 ไป
ส่วนโจทก์จะต้องรับผิดชำระเงินตามฟ้องแย้งให้จำเลยหรือไม่เพียงใดนั้น เห็นว่า ที่จำเลยฟ้องแย้งเรียกค่าทดแทนความเสียหายต่อชื่อเสียงเนื่องจากโจทก์ผิดสัญญาหมั้น นอกจากข้อนำสืบของจำเลยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียงในการที่โจทก์ผิดสัญญาหมั้นอย่างไรบ้าง โดยกล่าวอ้างลอย ๆแต่เพียงว่าได้รับความเสียหายย่อมไม่เป็นการเพียงพอที่ศาลจะรับฟังว่า จำเลยได้รับความเสียหาย และกำหนดให้โจทก์รับผิดใช้ค่าทดแทน นอกจากนี้ศาลก็ได้วินิจฉัยให้ฝ่ายจำเลยไม่ต้องคืนของหมั้นและสินสอดให้ฝ่ายโจทก์ ซึ่งนับว่าเป็นค่าทดแทนเพียงพอที่ฝ่ายจำเลยพึงได้รับแล้ว ส่วนที่จำเลยเรียกร้องค่าใช้จ่ายในการเตรียมการสมรสเป็นเงิน 84,000 บาท ศาลล่างทั้งสองเห็นว่า เป็นการจ่ายซื้อเครื่องใช้สอยในครอบครัว ซึ่งเครื่องใช้สอยดังกล่าว จำเลยยังสามารถใช้ประโยชน์ได้ต่อไป และไม่กำหนดให้โจทก์รับผิดใช้ค่าทดแทนในส่วนนี้ให้จำเลยนั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ด้วยเหตุผลดังได้วินิจฉัยมา ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังขึ้นบางส่วนส่วนฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น