คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3781/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในศาลและศาลได้พิพากษาตามยอม คดีถึงที่สุดแล้ว แม้จำเลยที่ 3 เป็นผู้เยาว์แต่ก็เป็นคู่ความในคดีอยู่แล้วโดยมีผู้แทนโดยชอบธรรม คำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความมีผลผูกพันจำเลยที่ 3 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145

ย่อยาว

โจทก์และจำเลยคดีนี้ ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันเกี่ยวกับกรณีพิพาทเรื่องภาระจำยอมในที่ดิน โดยจำเลยทั้งสามยอมยกที่ดินให้แก่เทศบาล และรับค่าตอบแทนจากโจทก์ที่ 1 ที่ 2ต่อมาจำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ อ้างว่าจำเลยที่ 3เป็นผู้เยาว์ จำเลยที่ 1, ที่ 2 ไม่ได้แสดงเจตนาทำสัญญาประนีประนอมยอมความยกที่ดินบางส่วนของจำเลยที่ 3 และการทำสัญญาขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1574 ขอให้ไต่สวนและสั่งว่าคำพิพากษาตามยอมไม่มีผลบังคับ ศาลชั้นต้นยกคำร้องของจำเลยที่ 3จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้เยาว์โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้แทนโดยชอบธรรมเป็นคู่ความในคดีนี้ ดังนั้นคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีนี้จึงผูกพันจำเลยที่ 3 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 แม้จำเลยที่ 3จะเป็นผู้เยาว์ก็ตาม ทั้งคำพิพากษาดังกล่าวก็ถึงที่สุดแล้วเนื่องจากไม่มีผู้ใดอุทธรณ์คัดค้าน จำเลยที่ 3 ไม่อาจยื่นคำร้องเช่นนี้ได้ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share