แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่โจทก์ทั้งเจ็ดออกมาร่วมนัดหยุดงานภายหลังจากที่สหภาพแรงงานได้นัดหยุดงานไปแล้วย่อมเป็นการนัดหยุดงานโดยชอบ เมื่อจำเลยที่ 15 เลิกจ้างโจทก์ทั้งเจ็ด จึงเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518มาตรา 121 คำสั่งของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 14 ซึ่งเป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ไม่ชอบ ให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว แต่เนื่องจากโจทก์มีคำขอให้จำเลยที่ 15 รับโจทก์กลับเข้าทำงานและจ่ายค่าเสียหายหรือให้จ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างค้างจ่าย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายเนื่องจากถูกเลิกจ้างซึ่งเป็นดุลพินิจอันเป็นข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่อาจวินิจฉัยได้ พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาวินิจฉัย เช่นนี้ เป็นเรื่องที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยแล้วว่าการเลิกจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 121 ซึ่งโจทก์ทั้งเจ็ดมีสิทธิเรียกร้องให้รับโจทก์ทั้งเจ็ดกลับเข้าทำงานหรือให้จ่ายค่าเสียหายได้ตาม มาตรา 41(4) หาใช่เป็นกรณีที่ศาลฎีกาให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 49 ไม่ ดังนั้น เมื่อย้อนสำนวนไปแล้วศาลแรงงานกลางกลับวินิจฉัยว่าการเลิกจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดของจำเลยที่ 15 เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมและกำหนดค่าเสียหายตามหลักเกณฑ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 49 จึงไม่ถูกต้อง จึงต้องย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยใหม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 15 เลิกจ้างโจทก์เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม และคำสั่งของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 14 ซึ่งเป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ที่วินิจฉัยว่าการเลิกจ้างโจทก์ไม่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมไม่ชอบ ขอให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ และให้จำเลยที่ 15 รับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิมหรือใช้ค่าเสียหาย ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง โจทก์ทั้งเจ็ดอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า การเลิกจ้างโจทก์เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางให้วินิจฉัยคำขอของโจทก์ที่ให้จำเลยที่ 15รับโจทก์กลับเข้าทำงานหรือใช้ค่าเสียหาย แล้วพิพากษาใหม่
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การเลิกจ้างของจำเลยที่ 15 เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม โจทก์กับจำเลยที่ 15 ไม่อาจทำงานร่วมกันได้พิพากษาให้จำเลยที่ 15 จ่ายค่าชดเชยและค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ด คำขออื่นให้ยก โจทก์ทั้งเจ็ดอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลฎีกาได้พิพากษายกคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางโดยวินิจฉัยว่าการที่โจทก์ทั้งเจ็ดออกมาร่วมนัดหยุดงานภายหลังจากที่สหภาพแรงงานได้นัดหยุดงานไปแล้วย่อมเป็นการนัดหยุดงานโดยชอบ การที่จำเลยที่ 15 เลิกจ้างโจทก์ทั้งเจ็ด จึงเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 121 คำสั่งที่ 40-44/2530ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2530 ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 14 จึงไม่ชอบให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว แต่เนื่องจากโจทก์มีคำขอให้จำเลยที่ 15รับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่เดิม และจ่ายค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้างตั้งแต่วันเลิกจ้างถึงวันที่รับกลับเข้าทำงานหรือให้จ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างค้างจ่าย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายเนื่องจากถูกเลิกจ้างซึ่งเป็นดุลพินิจอันเป็นข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่อาจวินิจฉัยได้จึงให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาวินิจฉัย ดังนี้ เป็นเรื่องที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยแล้วว่าการเลิกจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 121ซึ่งโจทก์ทั้งเจ็ดมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับโจทก์ทั้งเจ็ดกลับเข้าทำงานหรือให้จ่ายค่าเสียหายได้ตามมาตรา 41(4) หาใช่เป็นกรณีที่ศาลฎีกาให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49ไม่ ดังนั้น ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การเลิกจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดของจำเลยที่ 15 เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมและกำหนดค่าเสียหายตามหลักเกณฑ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522จึงไม่ถูกต้อง กรณีจึงต้องย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยใหม่”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยตามนัยที่ระบุในคำพิพากษาฎีกาครั้งแรก แล้วพิพากษาชี้ขาดตามรูปคดีต่อไป