คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3558/2531

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การฆ่าโดยทรมานนั้นจะต้องมีการกระทำอื่นนอกจากการกระทำให้ตายในลักษณะที่จะทำให้ผู้ตายได้รับความลำบากจนสาหัสก่อนตายส่วนการที่ผู้ตายทั้งสองถูกทำร้ายมีบาดแผลทั้งถูกยิงถูกฟันตีหลายแห่งเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ปราศจากความยับยั้งเนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดโดยปัจจุบันทันด่วน และแม้จำเลยที่ 4ใช้ไม้กระดานพาดที่คอ ส. ผู้ตาย แล้วพวกของจำเลยขึ้นไปยืนบนปลายไม้เพื่อกดศีรษะให้จมน้ำ ก็เป็นการกระทำเพื่อจะให้ ส.ถึงแก่ความตายโดยฉับพลันเท่านั้น มิใช่เป็นการฆ่าโดยทารุณโหดร้าย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288,289, 83
จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งหมดเว้นจำเลยที่ 6 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 83 ให้ลงโทษประหารชีวิตจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ส่วนจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 5 จำเลยที่ 7จำเลยที่ 8 จำเลยที่ 9 และจำเลยที่ 10 ให้จำคุกคนละ 20 ปีให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 6
โจทก์ร่วมที่ 1 จำเลยทั้งหมดเว้นจำเลยที่ 6 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสิบคนมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 289(5), 83 เป็นความผิดกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289(5) ซึ่งเป็นบทหนักที่สุด ให้ประหารชีวิตจำเลยทั้งหมดนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งหมดเว้นจำเลยที่ 6 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสิบได้ร่วมกันฆ่าผู้ตายจริง แล้ววินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปว่า การกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยการกระทำทารุณโหดร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(5)หรือไม่นั้น เห็นว่า การฆ่าโดยทรมานนั้นจะต้องมีการกระทำอื่นนอกจากการทำให้ตายในลักษณะที่จะทำให้ผู้ตายได้รับความลำบากจนสาหัสก่อนตาย ส่วนจะเป็นการฆ่าโดยทารุณโหดร้ายหรือไม่นั้นเห็นว่า การที่ผู้ตายทั้งสองถูกทำร้ายมีบาดแปลทั้งถูกยิงถูกฟันตีหลายแห่งก็เป็นลักษณะของการกระทำที่ปราศจากความยับยั้งเนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดโดยปัจจุบันทันด่วน และแม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่าจำเลยที่ 4 ใช้ไม้กระดานพาดที่คอนายสมบูรณ์ แล้วพวกของจำเลยขึ้นไปยืนปลายไม้เพื่อกดศีรษะให้จมน้ำ ก็เป็นการกระทำเพื่อจะให้นายสมบูรณ์ถึงแก่ความตายโดยฉับพลันเท่านั้น จึงมิใช่เป็นการฆ่าโดยทารุณโหดร้าย
สำหรับโทษที่จะลงแก่จำเลยทั้งสิบคนนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าที่ศาลล่างกำหนดมายังไม่เหมาะสม จึงจะได้แก้ให้เหมาะสมแก่การกระทำของจำเลยแต่ละคน จึงไม่จำเป็นที่จะต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ว่า โจทก์ร่วมที่ 1 ลงชื่อเป็นผู้เรียงอุทธรณ์จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบ
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสิบคนมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 83 ให้ลงโทษประหารชีวิต นายบุญเนื่อง องอาจจำเลยที่ 2 และให้จำคุกจำเลยที่ 4 ไว้ตลอดชีวิต ส่วนจำเลยที่ 1จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 5 ถึงจำเลยที่ 10 ให้จำคุกคนละ 20 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์”

Share