แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
กฎหมายได้บัญญัติทางแก้สำหรับกรณีผู้นำเข้าหรือลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ค่าภาษีอากรขาเข้า ค่าภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลไว้ โดยเฉพาะแล้ว กล่าวคือ ในส่วนที่เป็นเงินภาษีอากรขาเข้าเพิ่มกรณีที่ตรวจเก็บอากรขาดตามพระราชบัญญัติศุลกากรมาตรา 102 ตรี(3) ซึ่ง มาตรา 112 จัตวา วรรคแรก ห้ามมิให้เรียกเก็บเงินเพิ่ม ส่วนกรณีภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลประมวลรัษฎากรมาตรา 89 ทวิ บัญญัติให้ผู้ประกอบการค้าเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละหนึ่งต่อเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ โดยเงินเพิ่มจะต้องไม่เกินจำนวนภาษีที่ต้องชำระ ดังนั้นจึงนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 ว่าด้วยดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดมาเรียกร้องเอากับลูกหนี้ซ้ำอีกหาได้ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยนำเขากวางอ่อนเข้ามาในราชอาณาจักรโดยสำแดงราคาต่ำกว่าความเป็นจริง ขอให้บังคับจำเลยชำระอากรขาเข้าภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลเพิ่ม และเงินเพิ่มภาษีการค้ารวม 733,000.42 บาท และดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องแก่โจทก์จำเลยให้การว่า ราคาที่จำเลยสำแดงเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดแล้ว ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินภาษีจำนวน 733,000.42 บาทแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองที่ว่า โจทก์มีสิทธิเรียกเอาดอกเบี้ยของต้นเงิน733,000.42 บาท ตามคำขอท้ายฟ้องหรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าในส่วนที่เป็นเงินภาษีอากรขาเข้าเพิ่มนั้น เป็นกรณีที่มีการตรวจเก็บอากรขาด และเจ้าหน้าที่ผู้สำรวจเงินอากรตรวจพบเป็นผลให้เรียกอากรเพิ่มเติมได้ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 102 ตรีอนุมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ซึ่งตามมาตรา 112 จัตวา วรรคแรก บัญญัติไว้มิให้เรียกเก็บเงินเพิ่มในกรณีนี้ และในส่วนที่เป็นภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลเพิ่มรวมทั้งเงินเพิ่มของภาษีทั้ง 2 ชนิดดังกล่าวนั้น ประมวลรัษฎากรมาตรา 89 ทวิ ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นบัญญัติให้ผู้ประกอบการค้าที่ไม่ชำระภาษีให้เสียเงินเพิ่มอีกร้อยละหนึ่งต่อเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ และกำหนดไว้ด้วยว่าเงินเพิ่มตามมาตรานี้มิให้เกินกว่าจำนวนภาษีที่ต้องชำระ ก็แสดงให้เห็นชัดแจ้งว่ากฎหมายได้บัญญัติทางแก้สำหรับกรณีลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ค่าภาษีอากรขาเข้า หนี้ค่าภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาลไว้โดยเฉพาะแล้วตามพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับดังกล่าว ในกรณีอากรขาเข้ากฎหมายไม่ประสงค์จะให้เรียกเก็บเงินเพิ่ม ซึ่งเทียบเคียงได้เท่ากับว่าเป็นค่าดอกเบี้ยนั่นเอง และในกรณีภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลกฎหมายมุ่งประสงค์เพียงที่จะเรียกเอาเป็นเงินเพิ่มไม่เกินกว่าจำนวนภาษีที่ต้องชำระเท่านั้น ซึ่งโจทก์ก็รวมคิดมาครบถ้วนแล้วทั้งสองกรณีดังกล่าวจึงจะนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 ว่าด้วยดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดมาเรียกร้องเอากับลูกหนี้ซ้ำอีกหาได้ไม่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยดังที่อุทธรณ์มา ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยและของโจทก์ทั้งสองต่างฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน