คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3277/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ในคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายในฐานะเป็นทายาทของผู้ตายซึ่งกระทำละเมิดต่อโจทก์ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยเหตุที่โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่า จำเลยที่ 2 เป็นภริยาชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย และผู้ตายมีทรัพย์มรดกตกทอดแก่ทายาทอย่างใดหรือไม่ แม้โจทก์จะอุทธรณ์เฉพาะปัญหาดังกล่าว เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าการกระทำของผู้ตายไม่เป็นละเมิด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องแล้ว ศาลอุทธรณ์ก็อาจยกฟ้องโจทก์โดยเหตุดังกล่าวได้โดยไม่จำต้องวินิจฉัยความรับผิดของจำเลยตามข้ออุทธรณ์ของโจทก์แต่อย่างใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสี่ในฐานะเป็นทายาทของผู้ตาย ซึ่งกระทำละเมิดต่อโจทก์ให้ร่วมกันใช้ค่าเสียหาย จำเลยทั้งสี่ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปรากฏจากคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์เพราะโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 เป็นภริยาชอบด้วยกฎหมายของนายสงวนผู้ตายโดยการแสดงใบสำคัญการสมรส ส่วนจำเลยอื่นโจทก์ก็มิได้นำสืบให้เห็นว่าผู้ตายมีทรัพย์มรดกตกทอดแก่จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และทายาทอย่างใดหรือไม่ คงนำสืบเพียงว่าเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายเท่านั้น มีปัญหาเฉพาะข้อกฎหมายว่าเมื่อโจทก์อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะในปัญหาว่าจำเลยที่ 2 เป็นภริยาผู้ตายหรือไม่และโจทก์จำต้องพิสูจน์ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ได้รับมรดกทรัพย์สินใดของผู้ตายหรือไม่ ศาลอุทธรณ์จะมีอำนาจวินิจฉัยว่าผู้ตายไม่ได้ขับรถยนต์โดยประมาทเลินเล่อหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าข้อเท็จจริงตามฟ้องโจทก์ที่ว่า นายสงวนผู้ตายขับรถยนต์ของโจทก์โดยประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์เสียหายอย่างไร และจำเลยทุกคนเป็นทายาทผู้รับมรดกมีความรับผิดแทนผู้ตายอย่างไรนั้นแม้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จะขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาโจทก์ก็ยังมีหน้าที่นำพยานมาสืบข้อเท็จจริงตามที่ศาลเห็นว่าจำเป็นเกี่ยวกับข้ออ้างของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 205 และเมื่อศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่าตามข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบฟังไม่ได้ตามฟ้องก็อาจพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยอาศัยเหตุต่างกันได้ ไม่เป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 205 และ 240 เฉพาะอย่างยิ่งศาลอุทธรณ์ฟังว่าการกระทำของผู้ตายไม่เป็นละเมิด ดังนั้นโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องซึ่งศาลจะยกขึ้นอ้างโดยลำพังได้ เพราะเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามมาตรา 205 และศาลอุทธรณ์ก็ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยเรื่องความรับผิดของจำเลยตามอุทธรณ์ของโจทก์ต่อไปแต่อย่างใด ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยชอบแล้วศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share