คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3101/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ข้อหาความผิดฐานจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 1 เดือน กับให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอื่นของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ยกคำขอที่ให้นับโทษต่อเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขเล็กน้อย ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218ส่วนข้อหาความผิดฐานฉ้อโกง ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 ให้จำคุก 2 ปี กับให้จำเลยคืนเงินแก่ผู้เสียหายทั้งสี่ และให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอื่นของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้โดยให้ยกคำขอที่ให้จำเลยคืนเงินแก่ผู้เสียหายบางคน กับให้ยกคำขอที่ให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอื่น ส่วนบทมาตราที่จำเลยกระทำผิดและอัตราโทษจำคุกศาลอุทธรณ์ยังคงลงโทษเท่ากับศาลชั้นต้น เป็นการแก้ไขเล็กน้อยจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามบทกฎหมายดังกล่าวเช่นกัน

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยฐานฉ้อโกงตามมาตรา 341, 343 จำคุก2 ปี ฐานจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุก 1 เดือน รวมโทษจำคุก2 ปี 1 เดือน ให้คืนเงินแก่ผู้เสียหายและนับโทษต่อจากคดีอื่นจำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอที่ให้คืนเงินและนับโทษต่อเสียนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปรากฏว่าข้อหาความผิดฐานจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 1 เดือนกับให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอื่นของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ยกคำขอที่ให้นับโทษต่อ เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขเล็กน้อย จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 ส่วนข้อหาความผิดฐานฉ้อโกงนั้นศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 กับให้จำเลยคืนเงินแก่ผู้เสียหายทั้งสี่ และให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอื่นของศาลชั้นต้นศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยให้ยกคำขอที่ให้จำเลยคืนเงินแก่ผู้เสียหายบางคน กับให้ยกคำขอที่ให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอื่น ส่วนบทมาตราที่จำเลยกระทำผิดและอัตราโทษจำคุกศาลอุทธรณ์ยังคงลงโทษเท่ากับศาลชั้นต้น เป็นการแก้ไขเล็กน้อย คดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามบทกฎหมายดังกล่าวเช่นกัน ที่โจทก์ฎีกามาในข้อ 2 ก. เป็นใจความว่า โจทก์มีพยานเบิกความยืนยันแล้วว่านายสำรวย นายสมาน และนายสิงห์ ผู้เสียหายได้จ่ายเงินให้แก่จำเลยไปแล้วจำนวนเท่าใด เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาล จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนฎีกาโจทก์ข้อ 2 ข. ซึ่งโจทก์ฎีกาในปัญหาว่า จะนำโทษในคดีนี้ของจำเลยนับต่อจากโทษในคดีอื่นของจำเลยได้หรือไม่อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย ไม่ต้องห้ามฎีกานั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่าคดีนี้โจทก์ได้มีคำขอท้ายฟ้องขอให้นับโทษจำเลยต่อจากคดีอาญาหมายเลขดำที่ 480/2527 และ 1589/2527 ของศาลชั้นต้นไว้แล้ว และจำเลยก็ให้การยอมรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อจริง ต่อมาเมื่อคดีดังกล่าวศาลได้พิพากษาแล้ว โจทก์ได้ยื่นคำร้องลงวันที่ 24 ธันวาคม 2528 ระบุว่าคดีอาญาหมายเลขดำที่ 480/2527 ที่ขอให้นับโทษต่อเป็นคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1997/2527 จำเลยมิได้โต้แย้งอย่างใด จึงฟังได้ว่าคดีดังกล่าวศาลพิพากษาลงโทษจำเลยแล้วจริง ดังนี้ศาลย่อมพิพากษาให้นับโทษต่อกันได้ ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้นและที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานพ.ศ. 2521 มาตรา 21 กับที่ปรับบทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 มาด้วยนั้นไม่ถูกต้องเพราะเมื่อลงโทษตามมาตรา 343 แล้วก็ไม่ต้องปรับบทลงโทษตามมาตรา 341 อีก ทั้งการที่ปรับบทมาตรา 343โดยไม่ระบุว่าวรรคใดย่อมไม่ชัดแจ้งจึงสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 343 วรรคแรก, 83, 91 พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2511 มาตรา 4, 7, 27 วรรคแรก, 28 และให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1997/2527 ของศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share