คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3067/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปส่งจำหน่ายต่างประเทศซึ่งเป็นการประกอบการค้าประเภทการค้า 1 ชนิด 1(ก) ตามบัญชีอัตราภาษีการค้าเมื่อโจทก์มีสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปคงเหลือ ณ โรงงานของโจทก์ โดยโจทก์ไม่ทำบัญชีคุมสินค้าตามมาตรา 83 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร แม้โจทก์จะได้รับการส่งเสริมการลงทุนสำหรับสินค้าที่ส่งออก โจทก์ก็ไม่ได้รับยกเว้นการทำบัญชีคุมสินค้าตามมาตรา 83 ทวิ วรรค 2 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อโจทก์ไม่ทำบัญชีคุมสินค้าจึงถือว่าเป็นการขายสินค้านั้นโดยถือมูลค่าของสินค้าดังกล่าวเป็นรายรับตามมาตรา 79 ทวิ (6) แห่งประมวลรัษฎากรโจทก์ต้องเสียภาษีการค้า เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และภาษีบำรุงเทศบาลตามกฎหมาย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เจ้าพนักงานประเมินจังหวัดสมุทรปราการได้มีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีการค้าเลขที่ 2737/3/00120 ต่อโจทก์โดยแจ้งว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าประเภทการค้า 1 ชนิด 1 (ก)ตามบัญชีอัตราภาษีการค้าประกอบกิจการค้าผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปส่งจำหน่ายต่างประเทศ จากการตรวจนับสินค้าสำเร็จรูปคงเหลือ ณสถานการค้าของโจทก์ ปรากฏว่าโจทก์มิได้จัดทำบัญชีคุมสินค้าซึ่งตามประมวลรัษฎากร มาตรา 79 ทวิ (6) ถือว่าสินค้าโดยไม่ลงบัญชีคุมสินค้า และให้ถือว่าเป็นการขายสินค้า โดยให้ถือมูลค่าของสินค้าดังกล่าวเป็นรายรับที่ต้องเสียภาษีการค้าซึ่งเจ้าพนักงานคำนวณมูลค่าของสินค้าที่โจทก์มิได้จัดทำบัญชีคุมสินค้านั้นเป็นเงินจำนวน 2,130,908.36 บาท เจ้าพนักงานได้ใช้อำนาจตามมาตรา 87(2), 88, 89(4) และ 89 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากรประเมินภาษีการค้าพร้อมทั้งเงินเพิ่ม เบี้ยปรับ และภาษีบำรุงเทศบาล หรือสุขาภิบาลตามกฎหมาย แจ้งมายังโจทก์รวมเป็นเงินค่าภาษีที่ประเมินทั้งสิ้นจำนวน 667,688 บาท โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ได้มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่3/2530 ลงวันที่ 18 มีนาคม 2530 แจ้งว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์ไม่เห็นด้วยกับการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์จึงได้ยื่นฟ้องต่อศาล ขอให้พิพากษาเพิกถอนการประเมินภาษีตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีการค้า เลขที่2737/3/00120 ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2529 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาที่ 3/2530 ลงวันที่ 18 มีนาคม 2530
จำเลยให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ในวันนัดชี้สองสถาน คู่ความยอมรับกันว่า โจทก์ได้รับการส่งเสริมการลงทุน และได้รับสิทธิตามประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยภาษีการค้า (ฉบับที่14) และโจทก์เป็นผู้ผลิตสินค้าตามฟ้องเพื่อส่งออกจริง กับโจทก์ยอมรับว่าโจทก์ไม่ได้ทำบัญชีคุมสินค้าตามที่จำเลยประเมิน
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติว่าโจทก์ประกอบกิจการค้าผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป จัดเข้าประเภทการค้า 1 ชนิด 1 (ก) ตามบัญชีอัตราภาษีการค้าท้ายประมวลรัษฎากร และโจทก์ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน โดยได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีการค้าสำหรับสินค้าที่โจทก์ผลิตขึ้นและส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศตามนัยประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยภาษีการค้า (ฉบับที่ 14) เรื่องให้ยกเว้นและลดอัตราภาษีการค้าสำหรับสินค้าบางประเภท ข้อ 2 (1)แต่สำหรับสินค้าพิพาทเป็นสินค้าคงเหลือของโจทก์ โดยโจทก์มิได้จัดทำบัญชีคุมสินค้า ปัญหาวินิจฉัยมีว่า โจทก์มีหน้าที่ต้องจัดทำบัญชีคุมสินค้าพิพาทหรือไม่ การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2ที่ 3 และที่ 4 ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ในปัญหาแรกโจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่ต้องทำบัญชีคุมสินค้า เพราะได้รับยกเว้นตามประมวลรัษฎากร มาตรา 83 ทวิ วรรคสอง ซึ่งเป็นบทยกเว้นของวรรคแรกที่บัญญัติให้ผู้ประกอบการค้ามีหน้าที่ต้องทำบัญชีคุมสินค้า และตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีการค้า (ฉบับที่ 20) ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2517 เนื่องจากตามมาตรา 83ทวิ วรรคสอง ดังกล่าวบัญญัติว่า ‘ในกรณีที่มีการอนุมัติหรือประกาศตามมาตรา 79 (5) หรือ (6) แล้ว ให้ยกเว้นการทำบัญชีตามวรรคก่อน เว้นแต่อธิบดีจะสั่งเป็นอย่างอื่น’ และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีการค้า (ฉบับที่ 20) ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์2517 ก็สอดคล้องกับมาตรา 83 ทวิ วรรคสอง ดังกล่าว คือเท่ากับเป็นการประกาศตามมาตรา 79(5) หรือ (6) โดยมิได้สั่งให้มีการทำบัญชีคุมสินค้าอย่างใดศาลฎีกาเห็นว่า ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีการค้า (ฉบับที่ 20) ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์2517 เป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้นำเข้าหรือผู้ส่งออก และไม่มีข้อความใดที่จะปรับเข้าได้กับกรณีสินค้าพิพาท เนื่องจากโจทก์เป็นผู้ผลิต และสินค้าพิพาทเป็นสินค้าคงเหลือ มิใช่สินค้าที่ส่งออก จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการประกาศตามมาตรา 75(5) หรือ(6) แต่อย่างใด ข้ออ้างของโจทก์คงเหลือเกี่ยวกับมาตรา 79(6) แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งก็เป็นเรื่องที่จะต้องมีการร้องขอให้อธิบดีได้สั่งอนุมัติตามมาตรา 78 ตรี แล้ว ซึ่งไม่ปรากฏในกรณีของโจทก์ ทั้งตามมาตรา 78 ตรี เป็นเรื่องของผู้ผลิตผู้นำเข้าหรือผู้ส่งออกเกี่ยวกับเรื่องขอให้ถือว่าได้มีการขายในวันผลิตหรือวันนำเข้าหรือวันส่งออกจึงไม่สามารถปรับใช้กับกรณีของโจทก์เช่นกัน เพราะสินค้าพิพาทเป็นสินค้าคงเหลือโจทก์มิได้ส่งออกแต่อย่างใด อันจะขอให้ถือว่ามีการขายในวันผลิตได้ ข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าในช่างเวลานั้นประเทศสหรัฐอเมริกาได้ห้ามนำสินค้าประเภทเสื้อสำเร็จรูปจากประเทศไทยเข้า จึงต้องระงับการส่ง และต่อมาเมื่อประเทศสหรัฐอเมริกาเลิกห้ามนำเข้า โจทก์ก็ได้ส่งสินค้าพิพาทไปจำหน่ายในประเทศสหรัฐอเมริกาทันที เพื่อจะแสดงให้เห็นว่ากรณีของโจทก์ต้องตามมาตรา 79(6) ดังกล่าว ก็ไม่สามารถอ้างได้เนื่องจากมิได้มีการสั่งอนุมัติตามมาตรา 78 ตรีหรืออธิบดีได้ประกาศตามมาตรา 78 จัตวาแล้วดังวินิจฉัยมาข้างต้น ดังนั้นกรณีของโจทก์จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา83 ทวิ วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร นอกจากนี้อธิบดีกรมสรรพากรได้เคยออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้และภาษีการค้า (ฉบับที่ 2) เรื่อง กำหนดให้มีบัญชีพิเศษและกำหนดแบบบัญชีคุมสินค้าตามมาตรา 17 และมาตรา 83 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากรเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2519 กำหนดให้ผู้ประกอบการค้าตามประเภทการค้า 1 ทุกชนิด แต่ไม่รวมถึงชนิด 7(ค)แห่งบัญชีอัตราภาษีการค้า ต้องทำบัญชีคุมสินค้าให้มีรายการตามแบบท้ายประกาศดังกล่าว ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ประกาศอธิบดีดังกล่าวเป็นเรื่องการจัดทำบัญชีพิเศษและไม่เกี่ยวกับการจัดทำบัญชีคุมสินค้าตามมาตรา 83 ทวิ โดยตรงนั้น ปรากฏว่าตามประกาศฉบับนั้น ข้อ 2 กำหนดให้ถือว่าบัญชีที่มีตามข้อ 1(ซึ่งหมายถึงบัญชีพิเศษ) เป็นบัญชีคุมสินค้าด้วย แสดงให้เห็นว่าประกาศฉบับดังกล่าวเป็นเรื่องเกี่ยวกับการจัดทำบัญชีคุมสินค้านั่นเอง และตามชื่อเรื่องของประกาศและข้อความในประกาศก็ระบุไว้ชัดแจ้งว่าเป็นการกำหนดมาตรา 83 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากรด้วย ดังนั้นอุทธรณ์ของโจทก์จึงฟังไม่ขึ้น โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้าตามประกาศย่อมมีหน้าที่ต้องทำบัญชีคุมสินค้าตามมาตรา 83 ทวิวรรคแรก ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2519 ดังกล่าว
ส่วนในปัญหาที่ว่าการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น เมื่อฟังว่าโจทก์มีหน้าที่บัญชีคัมสินค้าพิพาทและโจทก์มิได้ทำบัญชีดังกล่าว กรณีจึงต้องตามประมวลรัษฎากร มาตรา 79 ทวิ (6) ที่ว่า ‘ผู้ประกอบการค้าตามประเภทการค้า 1 ……มีสินค้าโดยไม่ทำหรือลงบัญชีคุมสินค้า……’ โดยกฎหมายกำหนดให้ถือว่าเป็นการขายสินค้าและให้ถือมูลค่าของสินค้าดังกล่าวเป็นรายรับ ซึ่งหมายความว่าราคาสินค้าพิพาทให้ถือเป็นรายรับของโจทก์ที่จะต้องเสียภาษีการค้า ข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าโจทก์ได้รับยกเว้นภาษีการค้าตามประกาศกระทรวงการคลัง ว่าด้วยภาษีการค้า (ฉบับที่14) นั้น เป็นเรื่องที่โจทก์ได้ส่งสินค้าของโจทก์ออกนอกราชอาณาจักรเท่านั้น จึงจะได้รับยกเว้นภาษีการค้า แต่สำหรับกรณีนี้เป็นเรื่องโจทก์ไม่ลงบัญชีคุมสินค้าตามที่กฎหมายบังคับไว้และให้ถือว่าเป็นการขายสินค้า เป็นคนละกรณีกัน ส่วนข้อที่โจทก์อ้างว่าการไม่ทำบัญชีคุมสินค้า ตามประมวลรัษฎากรได้บัญญัติให้ลงโทษปรับและโทษจำคุกไว้ตามมาตรา 89(4) และ92 และโจทก์ก็ได้ถูกปรับไปแล้ว จึงไม่ควรถูกประเมินและถูกเรียกเก็บเบี้ยปรับและเงินเพิ่มอีกนั้นเห็นว่าแม้โจทก์จะถูกปรับไปแล้วก็มิใช่เหตุที่จะลบล้างมิให้โจทก์ต้องได้รับการประเมิน และเจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจทำการประเมินในกรณีของโจทก์นี้ได้ ตลอดจนมีอำนาจเรียกเอาเบี้ยปรับและเงินเพิ่มได้อีกด้วยและเมื่อโจทก์มีหน้าที่ต้องเสียภาษีการค้าแล้ว โจทก์ก็มีหน้าที่ต้องเสียภาษีบำรุงเทศบาลด้วยเหตุผลต่าง ๆ ที่โจทก์อ้างมาในอุทธรณ์ฟังไม่ขึ้นศาลฎีกาเห็นว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายและกรณีไม่มีเหตุสมควรที่จะลดหรืองดเบี้ยปรับ เงินเพิ่มให้
พิพากษายืน.

Share