แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นลูกจ้างรายวันของจำเลย ตำแหน่งพนักงานขับรถยนต์โดยสารประจำทาง ในปีงบประมาณ 2530 โจทก์ลาป่วยทุกเดือนรวม 38 วันและยังลากิจอีกเป็นบางเดือนซึ่งรวมแล้วเป็นเวลา 20 วัน การที่โจทก์ลาป่วยโดยไม่เว้นเดือนและยังลาป่วยเกินสิทธิตามข้อบังคับของจำเลยด้วย แสดงว่าสุขภาพของโจทก์ไม่สมบูรณ์ แม้เป็นการลาป่วยโดยได้รับอนุญาตจากจำเลย และโจทก์ยังสามารถทำงานต่อไปได้ ก็ถือได้ว่าโจทก์เจ็บป่วยจนหย่อนสมรรถภาพในการทำงานอันเป็นเหตุอันสมควรที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้ ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำรายวันในตำแหน่งหน้าที่พนักงานขับรถโดยสารประจำทาง ต่อมาจำเลยไล่โจทก์ออกจากงานอ้างว่าโจทก์หย่อนสมรรถภาพในการทำงาน เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้พิพากษาเพิกถอนคำสั่งของจำเลยและให้รับโจทก์กลับเข้าทำงาน และจ่ายค่าเสียหายให้โจทก์ จำเลยให้การว่าจำเลยมีเหตุเลิกจ้างโจทก์ได้โดยชอบด้วยกฎหมายไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีข้อวินิจฉัยว่าที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่โจทก์อุทธรณ์ว่า ในปีงบประมาณ 2529 (ที่ถูกเป็น 2530) ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2529 ถึงเดือนกันยายน 2530 โจทก์ลาป่วย รวม38 วัน เป็นการลาป่วยเกินสิทธิ เพียง 8 วันเท่านั้น การลาป่วยของโจทก์แต่ละครั้งได้รับความยินยอมจากจำเลยและไม่ทำให้จำเลยเสียหายแต่อย่างใดเพราะโจทก์เป็นลูกจ้างประจำรายวัน หากวันใดโจทก์ไม่ได้มาทำงานนอกจากการลาป่วยก็ไม่ได้รับค่าจ้าง และทางจำเลยจะสั่งให้พนักงานคนอื่นทำงานแทนและตัดรายได้ของโจทก์ไปจ่ายให้ ซึ่งทางปฏิบัติของจำเลยยินยอมให้พนักงานทุกคนลาป่วยเช่นนี้ตลอดมา การที่โจทก์ลาป่วยโดยได้รับอนุญาตจากจำเลย จะถือว่าโจทก์หย่อนสมรรถภาพในการทำงานไม่ได้ เพราะการหย่อนสมรรถภาพในการทำงาน จะต้องเห็นได้ชัดว่าโจทก์ไม่สามารถทำงานต่อไปได้เนื่องจากร่างกายไม่สมบูรณ์ ไม่สามารถที่จะทำงานในหน้าที่ที่จำเลยมอบหมายต่อไปได้จะถือเอาการลาป่วยเกินสิทธิของโจทก์ว่าโจทก์หย่อนสมรรถภาพในการทำงานแต่อย่างเดียวไม่ได้ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในปีงบประมาณ 2530 นั้น โจทก์ลาป่วยทุกเดือนรวม 38 วันและยังลากิจอีกเป็นบางเดือนซึ่งรวมแล้วเป็นเวลา 20 วัน การที่โจทก์ลาป่วยโดยไม่เว้นเดือนที่ผ่านมา และโจทก์ยังลาป่วยเกินสิทธิตามข้อบังคับของจำเลยด้วย แสดงให้เห็นว่าสุขภาพของโจทก์ไม่สมบูรณ์ ไม่สามารถตรากตรำทำงานในหน้าที่พนักงานขับรถโดยสารอันเป็นงานหนักได้ แม้โจทก์ลาป่วยโดยได้รับอนุญาตจากจำเลยและโจทก์ยังสามารถทำงานต่อไปได้ กรณีก็ถือได้ว่าโจทก์เจ็บป่วยจนหย่อนสมรรถภาพในการทำงาน อันเป็นเหตุอันสมควรที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้แล้ว ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่าการลาแต่ละประเภทจนเกินสิทธิตามข้อบังคับของจำเลยไม่ถือว่าเป็นความผิดและก่อนที่จะพิจารณาเลิกจ้างพนักงานผู้ใดฐานหย่อนสมรรถภาพในการทำงานจะต้องเตือนเป็นหนังสือให้พนักงานผู้นั้นทราบก่อน แต่คำเตือนของจำเลยที่มีต่อโจทก์เป็นหนังสือนั้นเป็นคำเตือนที่มิชอบด้วยกฎหมายเพราะผู้ออกคำเตือนมีตำแหน่งหัวหน้ากองเดินรถ ถึงแม้จะเป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์ในสายงานก็ไม่ใช่นายจ้างของโจทก์ ไม่มีอำนาจเตือนโจทก์ การที่โจทก์ลาป่วยเกินสิทธิตามข้อบังคับของจำเลย จึงมิใช่เป็นการกระทำผิดซ้ำคำเตือนนั้น เห็นว่า โจทก์เจ็บป่วยจนหย่อนสมรรถภาพในการทำงานอันเป็นเหตุอันสมควรที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้อยู่แล้ว จึงไม่ต้องพิจารณาว่าจำเลยได้มีคำเตือนเป็นหนังสือให้โจทก์ทราบโดยชอบหรือไม่ เมื่อการเลิกจ้างมีเหตุอันสมควรจึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม”
พิพากษายืน