คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2999/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยติดต่อทางธุรกิจกับผู้ร้องซึ่งเป็นนิติบุคคลโดยใช้ชื่อว่า นายศุกร์สันต์เตชะธาดากุล ตลอดมา และชื่อนี้จำเลยได้เปลี่ยนมาจากชื่อเดิมว่านายฉ่งคี้แซ่แต้ เมื่อประมาณ20 ปี มาแล้ว จึงเป็นการยากที่ผู้ร้องจะรู้จักชื่อเดิมของจำเลยได้ดังนั้น คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ก็ดี การโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ก็ดีที่ได้กระทำในชื่อของจำเลยว่านายฉ่งคี้แซ่แต้ แต่เพียงชื่อเดียวผู้ร้องย่อมไม่อาจทราบได้ว่านายศุกร์สันต์ ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้โฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์นั้นแล้วถือว่าเป็นพฤติการณ์พิเศษที่ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนด 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดได้ และถือว่าเป็นกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำขอขยายระยะเวลาหลังจากสิ้นระยะเวลาแล้วได้ แต่ผู้ร้องจะต้องยื่นคำขอขยายระยะเวลาเสียภายในเวลาอันสมควรที่ผู้ร้องอาจยื่นได้หลังจากที่ทราบเรื่องจำเลยถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว การที่ผู้ร้องยื่นคำขอรับชำระหนี้หลังจากทราบคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดแล้วหลายเดือน โดยมิได้ขอขยายระยะเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 ก่อนแล้วจึงมาขอขยายระยะเวลา ผู้ร้องย่อมไม่อาจขอให้ขยายระยะเวลาได้

ย่อยาว

มูลกรณีสืบเนื่องมาจากเมื่อเดือนสิงหาคม 2524 จำเลยได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับผู้ร้องซึ่งเป็นนิติบุคคลในวงเงิน 1,800,000 บาท จำเลยใช้ชื่อว่านายศุกร์สันต์เตชะธาดากุล ผู้ร้องไม่ทราบมาก่อนว่า นายศุกร์สันต์ ยังมีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า นายฉ่งคี้แซ่แต้ ซึ่งถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด จึงเป็นเหตุสุดวิสัยทำให้ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดเวลา 2 เดือน ขอให้ศาลมีคำสั่งขยายระยะเวลาขอรับชำระหนี้และขอให้รับคำขอรับชำระหนี้ของผู้ร้อง
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องคัดค้านว่าเป็นเพราะความประมาทเลินเล่อของผู้ร้องที่ขาดความระมัดระวังเอาใจใส่ต่อรายชื่อ ฐานะและความเป็นอยู่ของลูกค้าผู้ร้องยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำขอรับชำระหนี้ล่วงเลยกำหนดเป็นเวลาปีเศษเป็นการไม่ชอบ ขอให้ยกคำร้องของผู้ร้องเสีย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า เดิมจำเลยมีชื่อว่านายฉ่งคี้ แซ่แต้เมื่อประมาณ 20 ปีมานี้จำเลยได้เปลี่ยนชื่อเป็นายศุกร์สันต์ เตชะธาดากุล วันที่10 สิงหาคม 2524 จำเลยขอเปิดบัญชีกระแสรายวันกับผู้ร้องวันรุ่งขึ้นขอกู้เงินและทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีในวงเงิน 1,800,000 บาท โดยจำนองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเฉพาะส่วนของจำเลยเป็นประกัน โดยจำเลยใช้ชื่อว่านายศุกร์สันต์ เตชะธาดากุล วันที่28 ธันวาคม 2526 ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดในชื่อนายฉ่งคี้ แซ่แต้ และครบกำหนดที่เจ้าหนี้จะยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้ภายในวันที่ 16 เมษายน 2527 เมื่อกลางปีพ.ศ. 2527 นางรุ่งจิตร์ โภคาชัยพัฒน์ฟ้องจำเลยในชื่อนายศุกร์สันต์ เป็นจำเลยที่ 8และฟ้องผู้ร้องเป็นจำเลยที่ 11 ผู้ร้องแต่งตั้งนายประเสริฐ อังอติชาติ เป็นทนายความวันที่ 10 กันยายน 2527 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของนายศุกร์สันต์ เตชะธาดากุลลูกหนี้ (จำเลยที่ 8) ยื่นคำแถลงต่อศาลในคดีดังกล่าวว่า ศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 8 เด็ดขาดแล้ว ตามคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ 329/2526 ระหว่างธนาคารกรุงเทพ จำกัด โจทก์ นายฉ่งคี้ แซ่แต้ หรือนายศุกร์สันต์ เตชะธาดากุล จำเลยวันที่ 20 กันยายน 2527 นายประเสริฐทนายความของผู้ร้องในคดีนี้นมีหนังสือแจ้งให้ผู้ร้องทราบว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ยื่นคำร้องต่อศาลว่าศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 8 เด็ดขาดแล้ว เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2526 และคดีดังกล่าวศาลสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 8 ต่อมาวันที่ 6 มีนาคม 2528 ผู้ร้องยื่นคำขอรับชำระหนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สั่งยกคำร้องเพราะยื่นคำขอรับชำระหนี้เกินกำหนดเวลาตามกฎหมาย ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องต่อศาลขอขยายกำหนดเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 23 และขอให้รับคำขอรับชำระหนี้ มีปัญหาว่า ผู้ร้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้หรือไม่เห็นว่า ผู้ร้องเป็นนิติบุคคล จำเลยติดต่อกับผู้ร้องในสทางธุรกิจในชื่อว่านายศุกร์สันต์เตชะธาดากุล ตลอดมา และชื่อนี้จำเลยได้เปลี่ยนมาจากชื่อเดิมว่านายฉ่งคี้ เมื่อประมาณ20 ปีมาแล้ว จึงเป็นการยากที่ผู้ร้องจะรู้จักชื่อเดิมของจำเลยได้ ดังนั้นคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ก็ดี การโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ก็ดี ที่ได้กระทำในชื่อของจำเลยว่านายฉ่งคี้ แซ่แต้แต่เพียงชื่อเดียว ผู้ร้องย่อมไม่อาจทราบได้ว่านายศุกร์สันต์ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้โฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์นั้นแล้ว ถือว่าเป็นพฤติการณ์พิเศษที่ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนด 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดได้ และถือว่าเป็นกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำขอขยายระยะเวลาหลังจากสิ้นระยะเวลาแล้วได้แต่ผู้ร้องจะต้องยื่นคำขอขยายระยะเวลาเสียภายในเวลาอันสมควรที่ผู้ร้องอาจยื่นได้หลังจากที่ทราบเรื่องจำเลยถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว ปัญหาจึงมีต่อไปว่าผู้ร้องทราบเรื่องที่จำเลยถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อใด นายประเสริฐ อังอติชาติพยานผู้ร้องเบิกความว่า ผู้ร้องได้รับหนังสือของพยานตามเอกสารหมาย ร.17 หลังจากวันที่ลงในหนังสือประมาณ 7 วันหนังสือดังกล่าวลงวันที่ 20 กันยายน 2527 จึงพอประมาณได้ว่าผู้ร้องได้รับหนังสือดังกล่าวอย่างช้าไม่เกินวันที่ 30 กันยายน 2527 หนังสือตามเอกสารหมาย ร.17 มีข้อความระบุว่าศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 8 เด็ดขาดเมื่อใด และระบุด้วยว่าในคดีดังกล่าว ศาลได้สั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 8ไปแล้ว เห็นว่า เอกสารดังกล่าวได้ยืนยันชัดเจน และเป็นเอกสารจากทนายความของผู้ร้องเองเป็นเอกสารที่เชื่อถือได้ จึงถือได้ว่าผู้ร้องได้ทราบเรื่องที่จำเลยถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้โฆษณาคำสั่งนั้นแล้วตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือเอกสารหมาย ร.17 หากผู้รับมีข้อสงสัยก็อาจตรวจสอบได้จากสำนวนดังกล่าวภายในเวลาอันสมควร เพราะมีรายละเอียดชัดเจนจากคำแถลงของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และเอกสารอื่น ๆ การที่ผู้ร้องยื่นคำขอรับชำระหนี้หลังจากทราบคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดแล้วหลายเดือนโดยมิได้ขอขยายระยะเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 ก่อน แล้วจึงมาขอขยายระยะเวลาตามคำร้องนี้ ผู้ร้องย่อมไม่อาจขอให้ขยายระยะเวลาได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกคำร้องของผู้ร้องชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share