คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2614/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พยานโจทก์ชั้นศาลฟังไม่ได้ว่าพยานจำพวกของจำเลยที่ 1ได้ แม้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนว่าร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำผิดแต่คำให้การชั้นสอบสวนเป็นเพียงพยานบอกเล่า เมื่อจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ให้การปฏิเสธในชั้นศาล ดังนี้ จะนำคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 มาฟังลงโทษจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 หาได้ไม่
การที่วินิจฉัยว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและเป็นเหตุในลักษณะคดี แม้จำเลยที่2 ที่ 3 ได้ถอนอุทธรณ์ไปแล้วก็ตาม ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจพิพากษาแก้ให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้.(ที่มา-ส่งเสริมฯ)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340,340 ตรี, 371, 376 พระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8ทวิ, 72, 72 ทวิ และริบของกลาง
จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งห้ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา 340, 340 ตรี ให้ลงโทษจำคุกคนละ 18 ปีนอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา376 พระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ฐานยิงปืนในหมู่บ้านปรับ 50 บาท ชั้นสอบสวนจำเลยทั้งห้าให้การรับสารภาพ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 13 ปีและปรับ 34 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 ที่3 ที่ 4 ที่ 5 คนละ 12 ปี ริบของกลาง
จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์ ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยที่2 และที่ 3 ขอถอนอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์อนุญาต
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง, 371, 376 พระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ฐานชิงทรัพย์จำคุก 10 ปี ฐานมีอาวุธปืนจำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนลงโทษบทหนักตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ พ.ศ. 2490 จำคุก 6 เดือน และฐานยิงปืน ปรับ 50 บาท รวมจำคุก 11 ปี 6 เดือนและปรับ 50บาทชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 5 ปี 9 เดือนและปรับ 25 บาท ริบปืนกระสุนปืนของกลางคืนเรือของกลางแก่เจ้าของ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘…ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนร้ายกระชากสร้อยคอของผู้เสียหายไปพร้อมกับใช้อาวุธปืนของกลางจี้หน้าผากผู้เสียหายและยิงปืนขึ้นฟ้า 1 นัดก่อนลงเรือของพวกหลบหนีไปจริง สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 นั้น… ในเมื่อพยานโจทก์ฟังไม่ได้เสียแล้วว่าจำพวกของจำเลยที่ 1ได้ จริงอยู่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนตามคำให้การของผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ.36 ถึง จ.39 ว่าร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำผิดตามฟ้อง แต่คำให้การชั้นสอบสวนก็เป็นเพียงพยานบอกเล่าเช่นเดียวกัน เมื่อจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5มาให้การปฏิเสธในชั้นศาลเสียแล้วจะนำคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 มาฟังลงโทษจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5หาได้ไม่ ทั้งขณะเกิดเหตุไม่ปรากฏว่าพวกที่มากับจำเลยที่ 1 ได้เกี่ยวข้องลงมือกระทำผิดตามฟ้องร่วมกับจำเลยที่ 1แต่อย่างใด เพียงแต่ลงไปอยู่ในเรือลำเดียวกับจำเลยที่ 1เท่านั้น ข้อเท็จจริงจึงฟังได้เพียงว่าจำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียวกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ผู้เสียหาย โดยใช้อาวุธปืน การที่จำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและเป็นเหตุในลักษณะคดี แม้จำเลยที่ 2 ที่ 3ได้ถอนอุทธรณ์ไปแล้วก็ตามศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทความผิดจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ พ.ศ. 2490มาตรา 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ โดยมิได้ระบุวรรคนั้น เห็นสมควรระบุเสียให้ชัดแจ้งด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคแรก, 72 วรรคแรก, 72 ทวิวรรคสอง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์’.

Share