แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในชั้นขอคืนของกลางตาม ป.อ. มาตรา 36 ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีเพียงว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของแท้จริง และมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดเท่านั้นเมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่ารถจักรยานยนต์ของกลางเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดผู้ร้องที่ 2 ซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 ได้ให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงประกอบคำรับสารภาพของผู้ร้องที่ 2 ได้ให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงประกอบคำรับสารภาพของผู้ร้องที่ 2 ว่ารถจักรยานยนต์ของกลางเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำผิดซึ่งต้องริบตาม ป.อ. มาตรา33(1) ผู้ร้องที่ 2 มิได้อุทธรณ์ ดังนี้ ข้อเท็จจริงต้องฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ผู้ร้องจะยกขึ้นโต้เถียงในชั้นขอคืนของกลางอีกไม่ได้.(ที่มา-ส่งเสริมฯ)
ย่อยาว
คดีนี้สืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสี่ว่ากระทำความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1ที่ 2 และที่ 4 ฐานลักทรัพย์ และลงโทษจำเลยที่ 3 ฐานรับของโจรและริบรถจักรยานยนต์ของกลางสองคัน
ผู้ร้องที่ 1 และที่ 2 ร้องว่า รถจักรยานยนต์ยี่ห้อยามาฮ่าหมายเลขทะเบียน ป-9348 เชียงใหม่ ของกลางที่ศาลชั้นต้นสั่งริบนั้น เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องที่ 1 ซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจหรือมีส่วนรู้เห็นในการกระทำความผิดของผู้ร้องที่ 2(จำเลยที่ 2) และผู้ร้องที่ 2 ไม่ได้นำไปใช้เป็นพาหนะในการกระทำความผิดคดีนี้ ขอให้คืนรถจักรยานยนต์ดังกล่าวให้ผู้ร้องทั้งสอง
ผู้ร้องที่ 3 ยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องที่ 3 เป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์ ยี่ห้อ-ซูซูกิ หมายเลขทะเบียน ธ-3311 เชียงใหม่ของกลาง และไม่รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิด ขอให้คืนรถจักรยานยนต์ดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องที่ 3
โจทก์ยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้ร้องที่ 1 มิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์รถจักรยานยนต์ยี่ห้อยามาฮ่า หมายเลขทะเบียน ป-4348เชียงใหม่ แต่เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องที่ 2 ซึ่งนำไปใช้เป็นพาหนะในการกระทำความผิด โดยผู้ร้องที่ 1 มีส่วนรู้เห็นด้วยในการกระทำความผิด ส่วนผู้ร้องที่ 3 นั้น ก็ไม่ใช่เจ้าของรถจักรยานยนต์ยี่ห้อซูซูกิ หมายเลขทะเบียน ธ-3311 เชียงใหม่ ของกลางแต่เป็นของจำเลยที่ 1 ซึ่งใช้เป็นยานพาหนะในการกระทำความผิดโดยผู้ร้องที่ 3 มีส่วนรู้เห็นในการที่จำเลยที่ 1 ร่วมกระทำความผิดด้วย ขอให้ยกคำร้องทั้งหมด
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้ริบรถจักรยานยนต์ยี่ห้อซูซูกิหมายเลขทะเบียน ธ-3311 เชียงใหม่ ให้ผู้ร้องที่ 3 ให้ยกคำร้องของผู้ร้องที่ 1 และที่ 2
ผู้ร้องที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘แม้จะปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ร้องที่ 1เป็นผู้เช่าซื้อรถจักรยานยนต์ยี่ห้อยามาฮ่าก็จริง แต่ปรากฏจากทะเบียนรถว่ามีชื่อผู้ร้องที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถจักรยานยนต์คันดังกล่าว ที่ผู้ร้องที่ 1 อ้างว่าเหตุที่มีชื่อผู้ร้องที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์นั้น เพราะผู้ร้องที่ 1 ไม่รู้หนังสือ จึงให้ใส่ชื่อผู้ร้องที่ 2 แทน ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อผู้ร้องที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าซื้อด้วยตนเองได้โดยไม่มีอุปสรรคเกี่ยวกับการไม่รู้หนังสือแต่อย่างใดดังนั้นถ้าผู้ร้องที่ 1 จะจดทะเบียนใส่ชื่อผู้ร้องที่ 1เป็นเจ้าของรถเสียเองก็น่าจะไม่มีอุปสรรคเช่นกัน เหตุที่ผู้ร้องอ้างว่าผู้ร้องที่ 1 ไม่รู้หนังสือจึงให้จดทะเบียนเป็นชื่อของผู้ร้องที่ 2 จึงมีน้ำหนักเบา ประกอบกับผู้ร้องที่ 1 อ้างว่าได้ชำระเงินงวดแรกเป็นเงินของผู้ร้องที่ 1 เอง ส่วนเงินงวดที่สองเป็นเงินที่ผู้ร้องที่ 1 ขอมาจากนางเอมอรบุตรสาวซึ่งขัดกับคำเบิกความของผู้ร้องที่ 2 ว่าการชำระเงินงวดสุดท้ายนั้น ผู้ร้องที่ 2เป็นผู้ชำระร่วมกับนายสำราญ ธรรมธิ ที่ขาย โดยเหตุนี้ข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่าผู้ร้องที่ 1 เช่าซื้อรถจักรยานยนต์ยี่ห้อยามาฮ่าของกลางโดยมีจุดประสงค์ให้ผู้ร้องที่ 2 เมื่อภายหลังผู้ร้องที่ 2 จดทะเบียนมีชื่อผู้ร้องที่ 2 เป็นเจ้าของผู้ร้องที่ 2 จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ หาใช่ผู้ร้องที่ 1เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ไม่ ส่วนที่ผู้ร้องทั้งสองอ้างว่าผู้ร้องที่ 2 ไม่ได้นำรถจักรยานยนต์ยี่ห้อยามาฮ่าของกลางไปใช้ในการกระทำผิดนั้น เห็นว่าในชั้นขอคืนของกลางตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 นั้น ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีเพียงว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของแท้จริงและมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดเท่านั้น ส่วนปัญหาที่ว่ารถจักรยานยนต์ของกลางเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดหรือไม่นั้นเมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่ารถจักรยานยนต์ของกลางเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิด ผู้ร้องที่ 2 ซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 ในคดีดังกล่าวได้ให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงตามคำฟ้องประกอบคำรับสารภาพของผู้ร้องที่ 2 ว่ารถจักรยานยนต์ของกลางดังกล่าวเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิด ซึ่งต้องริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1) ผู้ร้องที่ 2 มิได้อุทธรณ์ ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นว่า รถจักรยานยนต์ของกลางเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิด ผู้ร้องทั้งสองจะยกขึ้นโต้เถียงในชั้นขอคืนของกลางนี้อีกไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ชอบแล้ว ฎีกาของผู้ร้องที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น’
พิพากษายืน.