แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อพยานหลักฐานของผู้ร้องที่นำสืบเพียงพอแก่การวินิจฉัยชี้ขาดคดีแล้วการที่ผู้ร้องขอสืบพยานบุคคลซึ่งเห็นเหตุการณ์จึงไม่ทำให้ข้อเท็จจริงมีผลเปลี่ยนแปลงและไม่เป็นประโยชน์แก่คดี
ข้อบังคับของผู้ร้องนั้นศาลพิจารณาได้เองโดยไม่ต้องสืบพยานข้อบังคับของผู้ร้องที่ว่า ‘ห้ามก่อการวิวาทหรือชกต่อยในบริเวณโรงงานหรือบริษัท’ นั้นหมายเฉพาะผู้ที่กระทำผิดในฐานเป็นผู้ก่อให้เกิดการวิวาทชกต่อยกันและลูกจ้างที่ถูกทำร้ายไม่มีเหตุตามกฎหมายที่จะใช้สิทธิตอบโต้ป้องกันการกระทำผิดของผู้ก่อเรื่องได้เท่านั้น หาได้หมายความรวมถึงกรณีที่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือด้วยความจำเป็นที่กฎหมายยกเว้นโทษให้ไม่.(ที่มา-ส่งเสริมฯ)
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้คัดค้านเป็นลูกจ้างของผู้ร้องและเป็นกรรมการลูกจ้างผู้คัดค้านได้ทำร้ายร่างกายนายสุชิน บัวรอดเพื่อนร่วมงานในระหว่างปฏิบัติงานตามหน้าที่ ซึ่งเป็นความผิดอย่างร้ายแรงตามระเบียบข้อบังคับของผู้ร้อง ขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านมิได้ทำร้ายร่างกายนายสุชิน แต่เป็นกรณีที่นายสุชินเมาสุราหาเรื่องก่อกวนและทำร้ายร่างกายเพื่อนร่วมงานกับผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านกระทำไปเพื่อป้องกันตัวพอสมควรแก่เหตุ ไม่ผิดต่อระเบียบข้อบังคับผู้ร้องไม่มีสิทธิเลิกจ้างผู้คัดค้าน
วันนัดพิจารณา เมื่อศาลแรงงานกลางสืบนายจำเรียง เอกสุวรรณวัฒนาพยานผู้ร้องได้ 1 ปาก และผู้ร้องส่งเอกสารต่อศาลรวม 2 ฉบับซึ่งศาลหมาย ร.1 และ ร.2 แล้ว ศาลแรงงานกลางสอบถามคู่ความถึงพยานซึ่งจะนำสืบ ผู้ร้องแถลงว่าผู้ร้องประสงค์จะสืบพยานบุคคลซึ่งเห็นเหตุการณ์อีกหลายปาก และสืบผู้จัดการบริษัทผู้ร้องเพื่อให้พยานอธิบายข้อบังคับของผู้ร้อง ผู้คัดค้านแถลงว่าผู้คัดค้านประสงค์จะสืบพยานบุคคลเพื่อให้เห็นว่า ข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่ผู้คัดค้านได้ให้การไว้ตามเอกสารหมาย ร.2ศาลแรงงานกลางเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้แล้ว จึงงดสืบพยานทั้งสองฝ่าย
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ผู้ร้องไม่มีสิทธิเลิกจ้างผู้คัดค้านยกคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลแรงงานกลางข้อที่สั่งงดสืบพยานผู้ร้องและข้อที่ไม่อนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้าน
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ‘ผู้ร้องอุทธรณ์ว่าพยานหลักฐานของผู้ร้องซึ่งนำสืบไปแล้ว ยังไม่เพียงพอแก่การวินิจฉัยชี้ขาดข้อเท็จจริงเพราะผู้ร้องยังมิได้สืบพยานซึ่งเห็นเหตุการณ์ และนายจำเรียงพยานผู้ร้องซึ่งสืบไปแล้วเป็นพยานบอกเล่าซึ่งจะรับฟังคำของพยานไม่ได้ การที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงจากคำเบิกความของนายจำเรียงพยานบอกเล่า เป็นการรับฟังพยานหลักฐานที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ศาลแรงงานกลางสั่งงดสืบพยานผู้ร้องจึงไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงจากบันทึกคำให้การของนายสุชินและผู้คัดค้านตามเอกสารหมาย ร.1 และ ร.2 ว่า สาเหตุที่ผู้คัดค้านชกต่อยนายสุชินในวันเกิดเหตุเกิดจากนายสุชินใช้มือตบศีรษะและไหล่ของผู้คัดค้านก่อน เมื่อผู้คัดค้านไม่พอใจและต่อว่า นายสุชินได้เดินเข้ามาหา ผู้คัดค้านจึงถอยหลังสะดุดสิ่งของและเซเสียหลักเมื่อผู้คัดค้านตั้งตัวได้ จึงชกนายสุชิน 1 ที บันทึกเอกสารทั้งสองฉบับดังกล่าวคู่กรณีได้ให้การตามพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นตรงกันและคู่ความมิได้โต้เถียงถึงความไม่ถูกต้องของเอกสาร จึงมิใช่เป็นกรณีที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงจากคำเบิกความของนายจำเรียงพยานบอกเล่าดังอุทธรณ์ของผู้ร้อง และเมื่อปรากฏว่าพยานหลักฐานของผู้ร้องที่นำสืบเพียงพอแก่การวินิจฉัยชี้ขาดคดีดังกล่าวแล้ว การที่ผู้ร้องขอสืบพยานบุคคลซึ่งเห็นเหตุการณ์จึงไม่ทำให้ข้อเท็จจริงมีผลเปลี่ยนแปลงและไม่เป็นประโยชน์แก่คดีสำหรับในกรณีที่ผู้ร้องจะนำสืบพยานบุคคลอธิบายความหมายของข้อบังคับของผู้ร้องนั้น เห็นว่า ศาลย่อมพิจารณาข้อบังคับของผู้ร้องได้เองโดยไม่จำเป็นต้องนำสืบพยานของผู้ร้องให้อธิบายแต่อย่างใดที่ศาลแรงงานกลางสั่งงดสืบพยานผู้ร้องนั้นชอบแล้วอุทธรณ์ข้อนี้ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
ข้อที่ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า การที่ผู้คัดค้านชกต่อยนายสุชินต้องถือว่าผู้คัดค้านทำผิดต่อข้อบังคับของผู้ร้อง ข้อ 54 ซึ่งกำหนดว่า ‘ห้ามก่อการวิวาทหรือชกต่อยในบริเวณโรงงานหรือบริษัท’ ซึ่งมีความหมายว่า ถ้าลูกจ้างคนใดชกต่อยกันในบริเวณโรงงานหรือบริษัทแล้ว ไม่ว่าลูกจ้างผู้นั้นจะเป็นฝ่ายผิดหรือไม่ก็ตาม ก็เป็นการกระทำผิดตามข้อบังคับดังกล่าวทั้งสิ้นผู้ร้องจึงมีสิทธิเลิกจ้างผู้คัดค้าน ศาลฎีกาเห็นว่า การที่ผู้ร้องออกข้อบังคับกำหนดวินัยของลูกจ้างและบทลงโทษผู้ฝ่าฝืนไว้นั้น ย่อมมีความประสงค์ที่จะลงโทษเฉพาะผู้ที่กระทำผิดในฐานเป็นผู้ก่อให้เกิดการวิวาทชกต่อยกันและลูกจ้างที่ถูกกระทำร้ายไม่มีเหตุตามกฎหมายที่จะใช้สิทธิตอบโต้ป้องกันการกระทำผิดของผู้ก่อเรื่องนั้นได้เท่านั้น หาได้หมายความรวมถึงกรณีที่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือด้วยความจำเป็นที่กฎหมายยกเว้นโทษด้วยไม่ มิฉะนั้นจะกลายเป็นว่าลูกจ้างของผู้ร้องจำต้องยอมให้ผู้อื่นลงมือทำร้ายตนโดยไม่อาจใช้สิทธิที่กฎหมายบัญญัติคุ้มครองให้ไว้ ซึ่งเป็นการแปลข้อบังคับที่ไม่ชอบด้วยเหตุผล กรณีของผู้คัดค้านศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยชี้ขาดเป็นยุติว่า การที่ผู้คัดค้านชกต่อยนายสุชิน 1 ที นั้นเป็นการตอบโต้พอสมควรแก่เหตุ ซึ่งไม่เป็นความผิดตามกฎหมายแล้วย่อมไม่เป็นความผิดตามข้อบังคับดังกล่าวของผู้ร้องด้วย ผู้ร้องไม่มีเหตุที่จะเลิกจ้างผู้คัดค้านที่ศาลแรงงานกลางสั่งยกคำร้องของผู้ร้องนั้น ชอบแล้ว อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้นเช่นกัน’
พิพากษายืน.