คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2016/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยทำสัญญาเช่าตึกแถวในนามของตนเองเป็นผู้เช่าจากโจทก์จำเลยและจำเลยร่วมจะนำสืบพยานบุคคลว่าที่จำเลยลงชื่อในสัญญาเช่าเป็นการกระทำแทนจำเลยร่วม จำเลยเป็นตัวแทนเชิดของจำเลยร่วมไม่ได้เพราะเท่ากับนำสืบว่าความจริงจำเลยไม่ใช่ผู้เช่า แต่จำเลยร่วมเป็นผู้เช่า จึงเป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารสัญญาเช่าต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเช่าตึกแถวพิพาทจากโจทก์ ต่อมาโจทก์ต้องมอบที่ดินและตึกแถวให้เจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ จึงได้บอกเลิกสัญญาเช่า ให้จำเลยมอบตึกที่เช่าคืน แต่จำเลยเพิกเฉยจึงขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากตึกที่เช่า และให้จำเลยชำระเงินต่าง ๆ ที่ค้างพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยให้การว่านายจินดา เกตุปัญญา ได้เชิดจำเลยเป็นตัวแทนทำสัญญาเช่าตึกแถวจำเลยไม่ได้อยู่อาศัยหรือรับประโยชน์จากตึกที่เช่านายจินดาได้ถอนจำเลยจากการเป็นตัวแทนแล้ว ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ต่อมานายจินดาได้เข้าเป็นจำเลยร่วมและให้การทำนองเดียวกันกับจำเลยศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารออกจากตึกพิพาทกับให้ชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยและจำเลยร่วมอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยและจำเลยร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่จำเลยและจำเลยร่วมฎีกาในข้อแรกว่าที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยและจำเลยร่วมจะนำสืบพยานบุคคลว่าจำเลยลงชื่อในสัญญาเช่าเป็นการกระทำแทนจำเลยร่วมต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 ชอบแล้ว แต่จำเลยลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าในฐานะตัวแทนเชิดของจำเลยร่วม ซึ่งการตั้งตัวแทนเชิดย่อมไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ แม้สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 538 บังคับให้มีหลักฐานเป็นหนังสือจึงจะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ และมาตรา 798บัญญัติว่า กิจการอันใดท่านบังคับไว้โดยกฎหมายว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อกิจกรรมนั้นต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือแต่โดยสภาพของตัวแทนเชิดย่อมไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือเมื่อมีการตั้งตัวแทนเชิดในสัญญาเช่าจึงควรจะเป็นข้อยกเว้นของมาตรา 798 วรรคสอง เพราะจะบังคับให้ตัวแทนเชิดมีหลักฐานเป็นหนังสือก็เท่ากับไม่ใช่ตัวแทนเชิด ด้วยเหตุนี้จำเลยและจำเลยร่วมจึงมิต้องห้ามนำสืบพยานบุคคลว่า จำเลยลงชื่อในสัญญาเช่าเป็นการกระทำการแทนจำเลยร่วมนั้นเห็นว่า การที่จำเลยเป็นผู้ลงชื่อเป็นผู้เช่าในสัญญาเช่า และในสัญญาเช่าก็ระบุว่าจำเลยเป็นผู้เช่าซึ่งมีอายุการเช่า 8 ปี และได้จดทะเบียนการเช่าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยชอบแล้ว เป็นการทำสัญญาเช่าในนามจำเลยเอง การที่จำเลยและจำเลยร่วมจะนำสืบพยานบุคคลว่าจำเลยลงชื่อในสัญญาเช่าดังกล่าวเป็นการกระทำแทนจำเลยร่วม จำเลยเป็นตัวแทนเชิดของจำเลยร่วมก็เท่ากับนำสืบว่าความจริงจำเลยไม่ใช่ผู้เช่าจำเลยร่วมเป็นผู้เช่าจึงเป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารสัญญาเช่าตึกแถวพิพาท ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94(ข) ตามแนวคำพิพากษาฎีกาที่ 3/2516 ระหว่าง นางทิพย์วัลย์นิตยางกูร โจทก์ นายไวกูร รัชต์บริรักษ์ จำเลย ศาลล่างทั้งสองไม่รับฟังพยานจำเลยและจำเลยร่วมในข้อนี้ชอบแล้ว ฎีกาจำเลยและจำเลยร่วมในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ที่จำเลยและจำเลยร่วมฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายข้อที่สองว่า ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ตัวแทนเชิดหมายถึงตัวแทนโดยปริยาย ย่อมไม่ต้องระบุชื่อในสัญญาเป็นการถูกต้องแต่ใช้เฉพาะตัวแทนกับตัวการ จะใช้ยันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกหาได้ไม่ จำเลยและจำเลยร่วมเห็นว่า การตั้งตัวแทนเชิดหาได้มีกฎหมายบัญญัติให้ใช้เฉพาะตัวแทนกับตัวการไม่ หากยังใช้รับผิดต่อบุคคลภายนอกได้โดยระบุไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821เมื่อจำเลยร่วมตั้งให้จำเลยเป็นตัวแทนเชิดในการเช่าทรัพย์จากโจทก์จำเลยร่วมก็ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยแล้วบังคับคดีตามคำร้องของจำเลยร่วมนั้น เห็นว่า เมื่อได้วินิจฉัยไว้ในข้อแรกแล้วว่า จำเลยและจำเลยร่วมจะนำสืบว่าจำเลยลงชื่อในสัญญาเช่าแทนจำเลยร่วมไม่ได้ จึงต้องฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นผู้เช่าตึกแถวพิพาท ไม่ใช่จำเลยร่วม จำเลยจึงต้องรับผิดตามสัญญาเช่าต่อโจทก์ ฎีกาของจำเลยและจำเลยร่วมในข้อนี้จึงเป็นข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย เพราะถึงอย่างไรก็ไม่มีผลทำให้จำเลยพ้นความรับผิดในฐานะที่เป็นคู่สัญญาเช่าต่อโจทก์ได้ เป็นฎีกาที่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรก ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยฎีกาจำเลยและจำเลยร่วมในข้อนี้ให้”
พิพากษายืน

Share