คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1985/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 อาศัยรถยนต์ที่จำเลยที่ 3 ขับไปกระทำกิจธุระอื่นโดยมิได้มีเจตนาจะกระทำผิดฐานชิงทรัพย์มาก่อน เหตุชิงทรัพย์เกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วนโดยจำเลยที่ 1 ลงไปกระทำการขณะที่รถยนต์จอดเพราะการจราจรติดขัด ประกอบกับจำเลยที่ 3 ก็มิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยแต่อย่างใด การชิงทรัพย์ของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นการกระทำโดยใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันปล้นทรัพย์ของนายจำเรียงผู้เสียหายโดยจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายและใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อพาทรัพย์นั้นไปและเพื่อให้พ้นจากการถูกจับกุมขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340, 340 ตรี, 83จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 ปรับคนละ 1,000 บาทส่วนจำเลยที่ 3 ให้ยกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคหนึ่งลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามมาตรา 76 จำคุก 2 ปี 6 เดือน และปรับ 6,000 บาท ลดโทษให้หนึ่งในสามตามมาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 8 เดือนและปรับ 4,000 บาท ให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 2 ปี ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโจทก์ฎีกาโดยอธิบดีกรมอัยการรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ตามที่คู่ความนำสืบรับกันว่า เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2527 เวลาประมาณ 12.30 นาฬิกาขณะนายจำเรียง อินรุณ ผู้เสียหายยืนรอเพื่อนหญิงอยู่บนทางเท้าปากซอยเข้าโรงเรียนพณิชยการสามเสน ได้มีรถยนต์ตู้สีขาวที่จำเลยที่ 3 ขับขี่มาจอดห่างจากผู้เสียหายประมาณ 2 เมตร และมีจำเลยที่ 1 ที่ 2 ลงจากรถตรงเข้าไปหาผู้เสียหาย โดยจำเลยที่ 1ใช้มือทั้งสองจับอกเสื้อผู้เสียหายพูดว่า “ขอเถอะ” พร้อมกับปลดเอาเข็มรูปกางเขน เข็มวงกลมสัญลักษณ์ของโรงเรียนช่างกลบางซ่อนเพลทสำหรับเขียนแบบกับกำไลอะลูมิเนียมผสมทองเหลืองตามบัญชีทรัพย์ของกลางเอกสารหมาย จ.2 จากผู้เสียหายไป ส่วนจำเลยที่ 2ได้ยืนอยู่ใกล้ ๆ จากนั้นจำเลยทั้งสองพากันวิ่งขึ้นรถคันเดิมที่ขับแล่นเรื่อย ๆ ไปข้างหน้า ผู้เสียหายกับเพื่อนขับขี่รถจักรยานยนต์ติดตามและแจ้งเหตุขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจบริเวณนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ติดตามจับกุมจำเลยทั้งสามได้และค้นได้ของกลางซึ่งเป็นทรัพย์ผู้เสียหายอยู่ใต้เบาะนั่งรถยนต์จริงมีข้อวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสามได้กระทำผิดฐานปล้นทรัพย์โดยใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะตามฟ้องโจทก์หรือไม่ คดีฟังได้ตามพยานหลักฐานโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ได้ชิงทรัพย์ตามบัญชีของกลางเอกสารหมาย จ.2ของผู้เสียหายไปจริง แต่สำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 3 นั้น คงได้ความจากผู้เสียหายเพียงว่า ผู้เสียหายเห็นจำเลยที่ 2 มายืนข้างผู้เสียหายเท่านั้น แต่ผู้เสียหายมิได้กล่าวว่า จำเลยที่ 2 แสดงอาการหรือกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดต่อผู้เสียหาย เพียงแต่เมื่อรถยนต์คันที่จำเลยนั่งมาเคลื่อนไปข้างหน้าก็เห็นจำเลยที่ 2 วิ่งขึ้นรถไปพฤติการณ์ดังกล่าวอาจเป็นว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ต่างลงจากรถ และการกระทำของจำเลยที่ 2 เท่าที่ปรากฏถือไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2เข้าไปช่วยเหลือจำเลยที่ 1 ในการกระทำผิด อาจเป็นดังที่จำเลยที่ 2นำสืบว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 3 ขับรถติดสัญญาณไฟแดง จำเลยที่ 2ได้เห็นจำเลยที่ 1 ลงจากรถไปจับอกเสื้อนักเรียนช่างกลที่ยืนอยู่ที่ป้ายรถประจำทาง จำเลยที่ 2 เข้าใจว่าจะเกิดเรื่องตีกันจึงลงไปจากรถ แต่พอไปเกือบจะถึง จำเลยที่ 1 ได้วิ่งขึ้นรถจำเลยที่ 2 จึงวิ่งขึ้นตาม นอกจากนี้ผู้เสียหายรับด้วยว่าขณะเกิดเหตุการจราจรติดขัดและจำเลยที่ 3 จอดรถต่อท้ายรถประจำทางจึงได้เห็นจำเลยที่ 1 ที่ 2 ลงมาจากรถ แสดงว่าจำเลยที่ 3 ได้จอดรถตรงบริเวณที่ผู้เสียหายยืนอยู่จากเหตุเพราะรถติด เมื่อจำเลยที่ 3ขับรถเคลื่อนไปได้ก็โดยสภาพคล่องตัวของการจราจร มิใช่ว่าจำเลยที่ 3กระทำการช่วยเหลือในการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใดจำเลยที่ 1 ก็รับในการกระทำของตนว่า จำเลยที่ 3 มิได้มีส่วนรู้เห็นคดีจึงฟังได้เพียงว่า จำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานชิงทรัพย์แต่เพียงผู้เดียวโดยจำเลยที่ 2 ที่ 3 มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ส่วนปัญหาว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 จะเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์โดยใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรี หรือไม่นั้นเห็นว่า เมื่อคดีไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาจะใช้รถยนต์ไปกระทำผิดแต่อย่างใด คงได้ความแต่เพียงว่าจำเลยที่ 1 อาศัยรถยนต์ไปกระทำกิจธุระอื่นเท่านั้น เหตุชิงทรัพย์คดีนี้เกิดขึ้นโดยปัจจุบันทันด่วนโดยจำเลยที่ 1 ลงจากรถยนต์ไปกระทำการชิงทรัพย์ ขณะที่รถยนต์จอดเพราะการจราจรติดขัด ซึ่งจำเลยที่ 1 หาได้มีเจตนาที่จะกระทำการดังกล่าวมาก่อนแต่อย่างใดไม่ ประกอบกับจำเลยที่ 3บุตรของเจ้าของรถยนต์ซึ่งเป็นผู้ขับรถยนต์นั้นก็มิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยกับการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 คดีจึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1กระทำการชิงทรัพย์โดยใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะ ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานชิงทรัพย์ พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 3 จึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share