คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1965/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรรมการผู้จัดการหรือกรรมการนิติบุคคลเป็นผู้แสดงออกซึ่งการกระทำของนิติบุคคลหากร่วมกับนิติบุคคลออกเช็คหรือสลักหลังเช็คโดยเจตนาจะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คต้องถือว่าเป็นตัวการกระทำผิดร่วมกับนิติบุคคลนั้นด้วย ทั้งนี้ไม่ว่ากรรมการจะอยู่ในตำแหน่งในวันที่เช็คนั้นถึงกำหนดหรือไม่ก็ตาม.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ.2497 มาตรา 3
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามฟ้องยกฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 มีความผิดตามฟ้องด้วย
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัท จำกัดเดิมมีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการจำเลยที่ 3 เป็นกรรมการผู้จัดการ จำเลยที่ 1 สั่งซื้อสินค้าจากโจทก์แล้วออกเช็คพิพาททั้ง 4 ฉบับชำระราคาโดยจำเลยที่ 2ลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายและประทับตราของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อเป็นผู้สลักหลัง ต่อมาก่อนเช็คถึงกำหนดผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ประชุมตั้งกรรมการบริหารชุดใหม่ จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงพ้นจากตำแหน่งเมื่อเช็คถึงกำหนดโจทก์นำไปเรียกเก็บเงินธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินทั้ง 4 ฉบับว่ามีคำสั่งให้ระงับการจ่าย
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ฎีกาว่าวันออกเช็คคือวันที่ลงในเช็คจำเลยที่ 2 ที่ 3 ถูกปลดออกจากการเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ก่อนวันที่ลงในเช็คพิพาท จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 กระทำผิดร่วมกับบริษัทจำเลยที่ 1 ศาลฎีกาเห็นว่ากรรมการผู้จัดการหรือกรรมการของนิติบุคคลเป็นผู้แสดงออกซึ่งการกระทำของนิติบุคคลหากร่วมกับนิติบุคคลออกเช็คหรือสลักหลังเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น หรือในขณะที่ออกเช็คไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ กรรมการผู้จัดการหรือกรรมการของนิติบุคคลผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายหรือสลักหลังเช็คต้องถือว่าเป็นตัวการกระทำผิดร่วมกับนิติบุคคลนั้นด้วยเพราะการที่เช็คถูกปฏิเสธการจ่ายเงินนั้นเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของกรรมการผู้แทนนิติบุคคลทั้งนี้ ไม่ว่ากรรมการของนิติบุคคลนั้นจะอยู่ในตำแหน่งในวันที่เช็คนั้นถึงกำหนดชำระเงินหรือไม่ก็ตาม ดังนั้นเมื่อเช็คพิพาทถูกปฏิเสธการจ่ายเงินจึงต้องถือว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 ออกเช็คพิพาทด้วย และเห็นว่าแม้กรรมการชุดใหม่ของบริษัทจำเลยที่ 1 จะเปิดบัญชีกระแสรายวันบัญชีใหม่ในนามของบริษัทจำเลยที่ 1 แต่ยอดเงินคงเหลือของบัญชีใหม่ในวันที่เช็คพิพาททั้ง 4 ฉบับถึงกำหนดมีจำนวนน้อยกว่าจำนวนเงินตามเช็คพิพาททั้ง 4 ฉบับรวมกันอีกทั้งเป็นคนละบัญชีกันไม่เกี่ยวกับบัญชีกระแสรายวันเดิมที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 เปิดในนามบริษัทจำเลยที่ 1 เมื่อเช็คพิพาทถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเนื่องจากมีคำสั่งห้ามธนาคารจ่ายเงินและไม่มีเงินฝากในบัญชีของบริษัทจำเลยที่ 1 ที่จะจ่ายตามเช็ค จำเลยที่ 2 ที่ 3 ย่อมมีความผิดตามฟ้อง
พิพากษายืน.

Share