คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1796/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การประเมินค่ารายปีสำหรับภาษีโรงเรือนประเภทโรงแรมตามสูตรที่จำเลยนำมาเป็นหลักเกณฑ์ในการประเมิน คือ ค่ารายปี =ค่าเช่าห้อง X จำนวนห้อง X219X15/100 นั้น หากมีการตกลงกำหนดจำนวนค่าเช่าห้องและจำนวนห้องที่เหมาะสมแล้ว หลักเกณฑ์หรือสูตรที่จำเลยคิดขึ้นก็จะถูกต้องตรงกับความเป็นจริงและเป็นธรรมและค่ารายปีที่คำนวณได้ตามสูตรนี้เป็นจำนวนเงินซึ่งอาคารโรงแรมสมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ ต้องตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช 2475 มาตรา 8 แล้ว
ในกรณีที่คู่ความยังมีปัญหาโต้แย้งเกี่ยวกับอัตราค่าเช่าห้องและจำนวนห้องตามหลักเกณฑ์หรือสูตรดังกล่าว ศาลย่อมมีอำนาจพิจารณากำหนดตามข้อเท็จจริงจากทางนำสืบของคู่ความเป็นราย ๆไป.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อาคารซึ่งใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม มีห้องพักในอาคารโรงแรมเป็นจำนวน 120 ห้อง เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2528 จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ได้แจ้งการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2528โดยส่งใบแจ้งรายการประเมิน ลงวันที่ 6 กันยายน 2528 มายังโจทก์ให้โจทก์ไปเสียภาษีโรงเรือนเป็นจำนวนเงิน 201,450 บาท ภายใน90 วัน นับแต่ได้รับแบบแจ้งรายการ โจทก์เห็นว่าเป็นการประเมินที่ไม่ถูกต้องจึงได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์การประเมิน จำเลยที่ 2ได้ชี้ขาดอุทธรณ์ของโจทก์โดยให้โจทก์เสียภาษีโรงเรือน เป็นจำนวนเงิน 201,450 บาทตามเดิม โจทก์ได้ชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินจำนวน 201,450 บาท บวกเงินเพิ่มอีกร้อยละ 10 ให้แก่จำเลยที่ 1 รับไปแล้วโจทก์เห็นว่าคำชี้ขาดอุทธรณ์ดังกล่าวไม่ถูกต้อง จึงขอให้ศาลพิพากษาว่าใบแจ้งรายการประเมินภาษีโรงเรือน (ภ.ร.ด.8) ลงวันที่ 6 กันยายน 2528 และใบแจ้งคำชี้ขาด(ภ.ร.ด.11) ลงวันที่ 27 มกราคม 2530 ของจำเลยที่ 2 ไม่ถูกต้อง ให้จำเลยทั้งหมดร่วมกันคืนเงินค่าภาษีโรงเรือนที่เก็บไปจากโจทก์โดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายและเงินเพิ่มเป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 101,970 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ 1 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการกำหนดค่ารายปีของโรงแรมโจทก์ไว้ว่า ค่ารายปีเท่ากับค่าเช่าต่อห้อง X จำนวนห้อง X 219X15/100 จำนวน 219 หมายถึงจำนวนวันซึ่งคิดจาก 60% ของ 1 ปี 15/100 หมายถึงค่าเช่าห้องทั้งปีและนำมาคิดเพียง 15% หลักเกณฑ์ในการประเมินดังกล่าวได้กำหนดเพื่อใช้ประเมินภาษีโรงเรือนประเภทโรงแรมในกรุงเทพมหานคร หลักเกณฑ์ที่จำเลยที่ 1 กำหนดขึ้นเป็นไปตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช 2475 แล้ว ขอให้ศาลยกฟ้องโจทก์
ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดตามฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้วินิจฉัยชี้ขาดคำขอพิจารณาการประเมินใหม่ และจำเลยที่ 3 เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ประเมินภาษี จึงไม่มีมูลหนี้ที่จะต้องรับผิดตามฟ้อง พิพากษาให้เพิกถอนใบแจ้งรายการประเมินภาษีโรงเรือน (ภ.ร.ด.8) ลงวันที่ 6 กันยายน 2528 และใบแจ้งคำชี้ขาด (ภ.ร.ด.11) ลงวันที่ 27 มกราคม 2530 เฉพาะรายการลำดับแรกให้จำเลยที่ 1 คืนเงินที่เรียกเก็บเกินไป 101,970บาทแก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2530 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์(ที่ถูกควรจะยกฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 เสียด้วย)
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นตามที่โจทก์ จำเลยที่ 1 นำสืบฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของอาคารเลขที่1777 ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม มีห้องพักจำนวน 120 ห้อง อัตราค่าเช่าห้องพักคืนละ 400 ถึง 500 บาท เมื่อปี พ.ศ. 2524 และ 2525 โจทก์ได้เสียภาษีโรงเรือนปีละ 91,200 บาท ต่อมาปี พ.ศ. 2526 และ 2527 จำเลยได้ประเมินให้โจทก์เสียภาษีโรงเรือนเป็นเงินปีละ 201,450 บาทโจทก์เห็นว่าการประเมินภาษีโรงเรือนของจำเลยสำหรับปี พ.ศ.2526 และ 2527 ไม่ชอบ โจทก์ฟ้องคดีต่อศาลแพ่ง ศาลแพ่งพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี ต่อมาในปี พ.ศ. 2528 จำเลยได้ประเมินภาษีโรงเรือนให้โจทก์ชำระเป็นเงิน 201,450 บาทเช่นเดียวกัน โจทก์จึงฟ้องคดีนี้ ปัญหาวินิจฉัยมีว่า การประเมินของจำเลยที่ 3 และคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 ชอบหรือไม่
โจทก์จำเลยนำสืบรับกันว่า สูตรที่จำเลยนำมาเป็นหลักเกณฑ์ในการประเมินหาค่ารายปี คือค่ารายปี = ค่าเช่าห้อง X จำนวนห้อง X219 X 15/100 เมื่อหาค่ารายปีได้แล้วจึงนำมาคิดเป็นค่าภาษีโรงเรือนในอัตราร้อยละสิบสองกึ่งต่อปีพิเคราะห์ตามคำเบิกความของนายจตุพร สิหนาทกถากุล กรรมการผู้จัดการโจทก์และคุณหญิงแร่มพรหมโมบล บุณยประสพ ซึ่งเป็นอุปนายกสมาคมโรงแรมไทยและเป็นเจ้าของโรงแรมเวียงใต้พยานโจทก์ ต่างก็ยอมรับว่าควรมีหลักเกณฑ์หรือสูตรในการประเมินค่ารายปีเกี่ยวกับโรงแรม และในการประชุมคณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐบาลและเอกชนซึ่งทั้งฝ่ายรัฐบาลและเอกชนซึ่งประกอบธุรกิจโรงแรมเข้าร่วมประชุม ที่ประชุมก็ไม่ขัดข้องในการประเมินค่ารายปีโดยใช้หลักเกณฑ์หรือสูตรที่จำเลยคิดขึ้น เพียงแต่ฝ่ายเอกชนยังไม่ยอมรับในเรื่องตัวแปรเกี่ยวกับค่าเช่าห้องและจำนวนห้องตามที่จำเลยกำหนดในการคิดคำนวณเท่านั้น เห็นว่าในเรื่องหลักเกณฑ์หรือสูตรนั้นโดยทั่วไปเป็นที่ยอมรับกันแล้วเพียงแต่ฝ่ายโรงแรมมีข้อเสนอว่าหากมีการตกลงกำหนดจำนวนค่าเช่าห้องและจำนวนห้องที่เหมาะสมแล้วหลักเกณฑ์หรือสูตรที่จำเลยคิดขึ้นก็จะถูกต้องตรงกับความเป็นจริงและเป็นธรรมในการที่จะใช้ในการคำนวณค่ารายปีสำหรับภาษีโรงเรือนประเภทโรงแรมและค่ารายปีที่คำนวณได้ตามสูตรนี้เป็นจำนวนเงิน ซึ่งอาคารโรงแรมสมควรจะให้เช่าได้ในปีหนึ่งๆต้องตรงตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา8 แล้ว หาใช่เป็นการคำนวณเงินได้จากการประกอบกิจการโรงแรมเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากรไม่ เพราะจำเลยได้คิดหักค่าใช้จ่ายอื่นซึ่งไม่เกี่ยวกับตัวอาคารออกให้แล้วถึง 85% คงนำมาคิดเฉพาะค่าเช่าอาคารที่แท้จริงเพียง 15% เท่านั้นและแม้ค่ารายปีที่คำนวณได้ตามสูตรจะสูงกว่าในปีก่อนๆ ก็เป็นที่เห็นได้ว่าการคำนวณค่ารายปีของจำเลยในปีก่อนๆ ต่ำไป และตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 ก็ให้อำนาจจำเลยที่ 1 คำนวณค่ารายปีเสียใหม่ได้ ถ้ามีเหตุบ่งให้เห็นว่าค่าเช่านั้นมิใช่จำนวนเงินอันสมควร ดังนั้นการที่จำเลยที่ 3 ประเมินภาษีโรงเรือนของโจทก์โดยใช้การคำนวณตามหลักเกณฑ์หรือสูตรข้างต้น วิธีการดังกล่าวจึงถูกต้องตามที่ตกลงกัน แต่สำหรับกรณีในคดีนี้ เมื่อคู่ความยังมีปัญหาโต้แย้งเกี่ยวกับอัตราจำนวนค่าเช่าห้องและจำนวนห้องตามหลักเกณฑ์หรือสูตรดังกล่าว ศาลจึงเห็นสมควรพิจารณากำหนดตามข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์จำเลย สำหรับปัญหาเกี่ยวกับค่าเช่าห้องโจทก์เสนอขอแก้ไขสูตรของจำเลยในการคิดจากเดิมโดยให้ประเมินเพียง 50% ของราคาค่าเช่าต่ำสุดที่แจ้งไว้ในใบโฆษณา ส่วนจำนวนห้องขอให้ประเมินเพียง 80% ของจำนวนห้องเมื่อคำนวณแล้วค่าเช่าห้องโจทก์จะเหลือเพียง 250 บาท จาก 500 บาท จำนวนห้องจะเหลือเพียง 96 ห้องจากจำนวน 120 ห้อง ได้ความจากนายจตุพรสิหนาทกถากุล กรรมการผู้จัดการโจทก์ว่า โรงแรมโจทก์มีห้องหลายประเภททั้งเตียงเดี่ยวและเตียงคู่อัตราค่าเช่าห้องอยู่ระหว่าง400 – 500 บาท บางครั้งเมื่อมีนักทัศนาจรมาพักเป็นกลุ่มก็จะลดค่าเช่าให้ แต่โดยเฉลี่ยแล้วโจทก์จะรับค่าเช่าห้องประมาณห้องละ 300 บาทปรากฏหลักฐานตามใบเสร็จเอกสารหมาย จ.12 ถึง จ.34จำเลยไม่มีพยานมานำสืบหักล้างให้ฟังเป็นอย่างอื่น จึงเห็นสมควรกำหนดค่าเช่าให้โดยเฉลี่ยห้องละ 300 บาทตามที่โจทก์นำสืบ สำหรับจำนวนห้องโจทก์นำสืบว่าโรงแรมโจทก์ใช้ได้ไม่เต็มที่จะต้องซ่อมแซมอยู่เสมอจะใช้ได้เต็มที่ประมาณ 80% ของจำนวนห้องเท่านั้น จำเลยนำสืบว่าจำเลยถือเอาจำนวนห้องพักของโรงแรมโจทก์ที่มีอยู่จริง 120 ห้อง หากโรงแรมมีการปิดหรือซ่อมแซมห้อง โจทก์มีหน้าที่แจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยทราบ เพื่อจะได้ไปทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงและพิจารณาลดค่ารายปีให้ตามส่วน เห็นว่าตามข้อเท็จจริงในคดีนี้ไม่ปรากฏจากคำพยานโจทก์ จำเลยว่า โจทก์ได้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ว่ามีการซ่อมแซมห้องพักแต่อย่างใด การที่โจทก์เพียงแต่กล่าวอ้างลอยๆ ว่ามีการซ่อมแซมห้องพักโดยปราศจากหลักฐาน จึงไม่อาจรับฟังข้อเท็จจริงตามข้ออ้างของโจทก์ เห็นว่ายังไม่สมควรลดจำนวนห้องให้ตามที่โจทก์เสนอ เมื่อคิดตามสูตรของจำเลยจะได้ค่ารายปีเป็นเงิน 1,182,600 บาท เมื่อนำมาคำนวณเป็นค่าภาษีโรงเรือนร้อยละสิบสองกึ่งจะเป็นจำนวน147,825 บาท โจทก์จะต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 10 ของภาษีที่ประเมินเป็นเงิน 14,782.50 บาท รวมเป็นเงินค่าภาษีโรงเรือนสำหรับอาคารโรงแรมโจทก์ ปี พ.ศ. 2528 เป็นเงิน 162,607.50 บาท แต่โจทก์เสียภาษีโรงเรือนและเงินเพิ่มไว้แล้วเป็นเงิน 221,595บาท จำเลยจะต้องคืนส่วนที่เรียกเก็บเกินไปจำนวน 58,987.50 บาทให้แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 1 บางส่วนฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินจำนวน 58,987.50 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ตั้งแต่วันพ้นกำหนดสามเดือนนับจากวันฟังคำพิพากษานี้ จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง.

Share