แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองในข้อหาหมิ่นประมาทโดยจำเลย ทั้งสองกับพวกทำหนังสือใส่ความโจทก์ซึ่งเป็นกำนันร้องเรียนต่อ นายอำเภอ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง คดีเสร็จเด็ดขาดแล้ว โจทก์จะนำการกระทำอันเดียวกันมาฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้อีกในข้อหาแจ้งความเท็จกล่าวหาโจทก์ต่อนายอำเภอซึ่งเป็นเจ้าพนักงานไม่ได้แม้ประเด็นในคดีทั้งสองนี้จะต่างกันก็ตาม สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4) แล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันนำความเท็จไปร้องเรียนต่อนายอำเภอบางปะอินซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย กล่าวหาโจทก์ซึ่งเป็นกำนัน และนายทะเบียนตำบลเชียงรากน้อยว่า กระทำความเดือดร้อนให้แก่จำเลยกับพวกโดยสั่งให้เจ้าหน้าที่สำนักงานของโจทก์เรียกเงิน 50 บาทในการที่จำเลยกับพวกไปขอเลขบ้านซึ่งความจริงโจทก์มิได้เรียกหรือสั่งให้ผู้ใดเรียกเงินทองหรือสิ่งใด ๆ ตอบแทนในการปฏิบัติหน้าที่ราชการของโจทก์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172, 173, 174, 181 และ 83ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ววินิจฉัยว่า คดีโจทก์ไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ฎีกาได้แต่เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 222 บัญญัติว่า ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน คดีนี้ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสองกับพวกทำหนังสือร้องเรียนโจทก์ต่อนายอำเภอบางปะอินมีข้อความตามที่โจทก์กล่าวในฟ้อง โจทก์จึงฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลแขวงพระนครศรีอยุธยาหาว่าจำเลยทั้งสองหมิ่นประมาทโจทก์ ศาลแขวงพระนครศรีอยุธยาพิพากษายกฟ้อง ซึ่งปรากฏตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าคดีเสร็จเด็ดขาดแล้ว ดังนั้นการที่โจทก์นำการกระทำอันเดียวกันนั้นมาฟ้องเป็นคดีนี้หาว่าจำเลยแจ้งความเท็จจึงมีปัญหาว่าโจทก์จะนำคดีนี้มาฟ้องได้อีกหรือไม่ ข้อนี้โจทก์ฎีกาว่าคดีนี้มีปัญหาว่า จำเลยทั้งสองไปขอเลขบ้านที่สำนักงานของโจทก์หรือไม่ จำเลยได้รับความเสียหายเนื่องจากถูกเรียกเงิน 50 บาทหรือไม่ส่วนปัญหาในคดีก่อนคือโจทก์ได้สั่งให้เรียกเก็บเงินหรือไม่เห็นได้ว่า ประเด็นในคดีทั้งสองไม่เหมือนกัน โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องคดีนี้ได้อีกนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า มาตรา 39(4) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา บัญญัติว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปเมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง ดังนี้เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองหาว่ากระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทต่อศาลแขวงพระนครศรีอยุธยา และศาลนั้นพิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุดแล้วไม่ว่าประเด็นในคดีนี้กับคดีก่อนจะต่างกันดังที่โจทก์ฎีกาหรือไม่ก็ตาม โจทก์ก็ต้องห้ามมิให้การกระทำอันนั้นมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้อีก ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคดีโจทก์ไม่มีมูล ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน