คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 371/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การสอบสวนที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 120 ต้องสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(6) ประกอบด้วยมาตรา 18 เมื่อเหตุเกิดในเขตท้องที่สถานีตำรวจภูธรสำโรงใต้ม.เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาลบางซื่อย่อมไม่มีอำนาจสอบสวน เมื่อไม่มีเหตุอื่นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 18 วรรคสองที่จะทำให้ ม.มีอำนาจสอบสวนได้ ทั้งถือไม่ได้ว่าเป็นการทำการแทนพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 128 บัญญัติไว้ การสอบสวนพยานผู้กล่าวหาของ ม. จึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแม้ จ. พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรสำโรงใต้จะสอบสวนจำเลย ทำแผนที่เกิดเหตุ ตรวจสถานที่เกิดเหตุ และทำบันทึกการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพของจำเลยก็ไม่ทำให้การสอบสวนคดีนี้ชอบด้วยกฎหมายเพราะไม่ปรากฏว่า จ.เห็นว่าการสอบสวนเฉพาะส่วนของตนเป็นการสอบสวนเสร็จแล้วตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 140 การสอบสวนของจ.เป็นการสอบสวนเพียงบางส่วนของคดี เมื่อการสอบสวนทั้งคดีรวมการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไว้ด้วย การสอบสวนคดีนี้จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 18 และไม่เป็นการสอบสวนตามที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 120 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง คำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมของผู้เสียหายย่อมตกไปด้วย ข้อที่ว่าการสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกาพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่มิได้ฎีกาด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335, 83 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2525 มาตรา 11 จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ จำเลยที่ 2ให้การรับสารภาพ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า การสอบสวนพยานทำโดยเจ้าพนักงานที่ไม่มีอำนาจตามกฎหมาย จึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบแม้จะมีการสอบสวนเพิ่มเติมโดยพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรสำโรงใต้ในภายหลัง ก็ไม่ทำให้การสอบสวนที่เสียไปแล้วกลับคืนดีขึ้นมา พนักงานอัยการโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ร่วมซึ่งฟ้องคดีโดยอาศัยคำฟ้องของพนักงานอัยการจึงไม่มีอำนาจฟ้องเช่นเดียวกันปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนและเป็นลักษณะคดี ย่อมมีผลถึงจำเลยที่ 2 ที่ให้การรับสารภาพด้วยพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์ร่วมอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรสำโรงใต้ซึ่งความรับผิดคดีนี้เกิดในเขตอำนาจ ได้ทำการสอบสวนจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไว้ จึงฟังได้ว่า ได้มีการสอบสวนคดีนี้โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว เพราะกฎหมายไม่ได้บัญญัติว่าจะต้องมีการสอบสวนมากน้อยเพียงใด พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี จำเลยที่ 1ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังยุติตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองว่า โจทก์ร่วมร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรสำโรงใต้ท้องที่เกิดเหตุกล่าวหาว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ลักน้ำมันดีเซลของโจทก์ร่วม ในชั้นสอบสวน พันตำรวจโทมณเฑียรประทีปะวณิช เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาลบางซื่อเป็นผู้สอบสวนพยานของผู้กล่าวหา ส่วนร้อยตำรวจโทจำรัส นัดดาหลงพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรสำโรงใต้ ซึ่งความผิดคดีนี้เกิดในเขต ได้ทำการสอบสวนจำเลยที่ 1 ที่ 2 ตลอดจนตรวจสถานที่เกิดเหตุทำแผนที่เกิดเหตุ และบันทึกการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพของจำเลยที่ 2 คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่าการสอบสวนดังกล่าวเป็นการสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120บัญญัติว่า “ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาลโดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน” การสอบสวนที่บัญญัติไว้ในมาตรา 120นี้ ศาลฎีกาเห็นว่า ต้องสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนตามที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(6) ประกอบด้วยมาตรา 18 เมื่อเหตุคดีนี้เกิดในเขตท้องที่สถานีตำรวจภูธรสำโรงใต้อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ พันตำรวจโทมณเฑียรเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ ก็ไม่มีอำนาจสอบสวนเพราะคดีเกิดนอกเขตอำนาจของตน และไม่มีเหตุอื่นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 18 วรรคสอง ที่จะทำให้ตนมีอำนาจสอบสวนได้ ทั้งถือไม่ได้ว่าเป็นการทำการแทนพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 128 บัญญัติไว้ การสอบสวนดังกล่าวจึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายส่วนที่ร้อยตำรวจโทจำรัส พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรสำโรงใต้สอบสวนจำเลยที่ 1 ที่ 2 ทำแผนที่เกิดเหตุตรวจสถานที่เกิดเหตุและบันทึกการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพของจำเลยที่ 2 จะฟังว่าการสอบสวนคดีนี้ชอบด้วยกฎหมายแล้วเพราะกฎหมายไม่ได้บัญญัติว่าจะต้องทำการสอบสวนมากน้อยเพียงใดดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยก็ไม่ได้ เพราะไม่ปรากฏว่าร้อยตำรวจโทจำรัส เห็นว่าการสอบสวนเฉพาะของตนเป็นการสอบสวนเสร็จแล้วตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 140ดังนี้ การสอบสวนของร้อยตำรวจโทจำรัสจึงเป็นการสอบสวนเพียงบางส่วนของคดีเมื่อการสอบสวนทั้งคดีรวมการสอบสวนของพันตำรวจโทมณเฑียรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไว้ด้วย การสอบสวนคดีนี้จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 18 และไม่เป็นการสอบสวนตามที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 120 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง คำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมของผู้เสียหายย่อมเป็นอันตกไปด้วย คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น แม้จำเลยที่ 2จะมิได้ฎีกา แต่ข้อที่ว่าการสอบสวนคดีนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกาเห็นสมควรพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 ด้วย
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น”

Share