คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 197/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีปล้นทรัพย์ เหตุเกิดบนรถยนต์โดยสารปรับอากาศ อ. ผู้เสียหายคนหนึ่งนั่งใกล้กับจำเลยบริเวณหน้าห้องสุขา มีแสงสว่างจากโคมไฟหน้าห้องสุขาส่องสว่างสามารถอ่านหนังสือพิมพ์ได้อ. ได้คุยกับจำเลยนานถึง 2 นาทีก่อนจะเกิดเหตุปล้นทรัพย์นอกจากนี้ ศ. พยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้โดยสารได้เบิกความยืนยันว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ปลดสร้อยคอและล้วงเอาเงินรวมทั้งทรัพย์สินอื่นไปจากตน โดยจำลักษณะต่าง ๆ บนใบหน้าของจำเลยได้ พยานโจทก์ดังกล่าวฟังลงโทษจำเลยได้.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องจำเลยกับพวกอีก 2 คนที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340, 340 ตรี, 83, 91แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 ข้อ 14, 15 ริบของกลาง ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 78,240 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340 ประกอบกับมาตรา 340 ตรี แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 14,15 จำคุก 30 ปี ริบของกลาง ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน78,240 บาท แก่ผู้เสียหาย ที่โจทก์มีคำขอให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ 1236/2526 หมายเลขแดงที่1107/2526 ของศาลชั้นต้นนั้น คดีดังกล่าวศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 1 ปี แต่ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี จึงไม่อาจนับโทษจำเลยต่อจากคดีดังกล่าวได้ ให้ยกคำขอโจทก์ส่วนนี้
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘ได้ความจากนายอ้วน อุ่นคำ พยานโจทก์ว่า นายอ้วนเป็นผู้โดยสารที่นั่งท้ายสุดของรถติดห้องสุขาด้านซ้าย คนร้าย 2 คนนั่งตรงข้ามกับนายอ้วน ส่วนอีกคนนั่งต่างหาก นายอ้วนเบิกความยืนยันว่าจำคนร้ายคนที่นั่งใกล้กับตนได้ว่าเป็นจำเลย เพราะก่อนรถจะออกจากจังหวัดมหาสารคาม คนร้ายคนเดียวกันนี้ได้ถามนายอ้วนว่าอยู่กรุงเทพ ฯ หรือร้อยเอ็ด นายอ้วนได้ตอบว่าอยู่ร้อยเอ็ด ได้ความจากนายอ้วนว่าได้คุยอยู่กับจำเลยนานถึง 2 นาทีก่อนจะเกิดเหตุปล้นทรัพย์ขึ้น นายอ้วนเห็นจำเลยและจำจำเลยได้เพราะนอกจากจะนั่งอยู่ใกล้กันแล้ว ยังปรากฏว่าในรถดังกล่าวมีแสงไฟจากหน้าห้องสุขาตรงที่นายอ้วนนั่ง จึงทำให้จำหน้ากันได้ แสงไฟดังกล่าว นายอ้วนยืนยันว่าสว่างสามารถอ่านหนังสือพิมพ์ได้ แม้จะได้ความด้วยว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่สวมหมวกไหมพรมสีทึบ แต่ไม่ปิดหน้าเพราะม้วนขึ้นและแม้ในระหว่างที่จำเลยกับพวกทำการปล้นทรัพย์ผู้โดยสารนั้น นายอ้วนจะเบิกความว่าเมื่อไฟสว่างทั่วทั้งรถ นายอ้วนก็ไม่ได้มองหน้าคนร้ายเพราะกลัวจะถูกยิงดังจำเลยฎีกาก็ตามก็ไม่เป็นเหตุทำให้นายอ้วนซึ่งเห็นและจำหน้าจำเลยได้อยู่ก่อนเกิดเหตุแล้ว ขาดน้ำหนักน่าเชื่อแต่อย่างใด นอกจากนี้โจทก์ยังมีานายศรียาวงศ์ จันปุ่ม ผู้โดยสารอีกคนมาเป็นพยานเบิกความยืนยันทำนองเดียวกันว่า จำคนร้ายคนที่ปลดสร้อยคอและล้วงเอาเงินรวมทั้งทรัพย์สินอื่นไปจากนายศรียาวงศ์ได้ โดยจำลักษณะของคนร้ายได้ด้วยว่าเป็นคนมีหนวดและมีไฝอยู่บริเวณริมฝีปากด้านบนเยื้องมาทางแก้ม และยืนยันว่าคนร้ายดังเบิกความเป็นจำเลยตามภาพถ่ายหมาย ป.ธ.4 คนที่สามนับจากขวา น่าเชื่อว่าพยานโจทก์ดังกล่าวจำจำเลยได้ว่าเป็นคนร้ายรายนี้จริง ที่จำเลยฎีกาว่า นายสวาท โพธิ์ไทรย์ พยานโจทก์คนหนึ่งเบิกความว่าไฟหน้าห้องสุขาท้ายรถมีแสงสว่างเพียงสลัวไม่ชัดเจน รวมทั้งนางสาวถาวร งามสมโสด ร้อยตรีกมล สังข์วิทูณ นางยุพา สังข์วิทูณพยานโจทก์ต่างก็เบิกความทำนองเดียวกันว่า ขณะมีการปล้นทรัพย์ ภายในรถดับไฟจึงไม่สามารถจะจดจำคนร้ายได้ หรือไม่อาจยืนยันได้แน่นอน เพราะจำคนร้ายได้คลับคล้ายคลับคลาก็ดี ไม่กล้ามองหน้าคนร้ายตรง ๆ ก็ดีนั้น เห็นว่า ที่นายอ้วน มีโอกาสเห็นและจดจำจำเลยได้ดีกว่าพยานโจทก์คนอื่นที่จำเลยหยิบยกอ้างมาในฎีกาก็เพราะนายสวาทเป็นผู้โดยสารที่นั่งรถคันเกิดเหตุแถวที่ 4 ส่วนนางสาวถาวรเป็นพนักงานต้อนรับประจำรถอยู่ที่ด้านหน้ารถ พยานโจทก์ดังกล่าวทุกคนล้วนอยู่ด้านหน้ารถคันเกิดเหตุทั้งสิ้นรวมทั้งร้อยตรีกมลและนางยุพาสองสามีภริยาด้วย จึงย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองที่แสงไฟจากหน้าห้องสุขาท้ายรถส่องไปไม่ถึง จึงทำให้พยานโจทก์ดังกล่าวอ้างว่าไฟในรถมีแสงสว่างไม่เพียงพอ ส่วนนายศรียาวงศ์พยานโจทก์อีกคนหนึ่งที่เห็นและจำจำเลยได้นั้น ได้ความว่านายศรียาวงศ์จำได้เฉพาะจำเลย เนื่องจากจำเลยเป็นคนปลดสร้อยคอและล้วงเอาเงินรวมทั้งทรัพย์สินอื่นจากกระเป๋าเสื้อของนายศรียาวงศ์จึงเป็นเหตุให้นายศรียาวงศ์สามารถจดจำจำเลยได้ รวมทั้งลักษณะพิเศษของจำเลยได้ด้วย ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะเป็นช่วงระยะที่คนขับรถเปิดไฟดังนางสาวถาวรพยานโจทก์เบิกความถึงก็เป็นได้ ดังนั้นเหตุที่จำเลยอ้างในฎีกาจึงหาเป็นพิรุธแก่คดีของโจทก์ไม่จำเลยฎีกาประการต่อมาว่าจ่าเอกจำรัส วิภาพรรณ และนายประยูร สรุปราษฎร์เบิกความว่าจำเลยเหมือนคนในภาพถ่ายหมาย ป.จ.1 แต่จะใช่หรือไม่ไม่แน่ใจ และดูรูปถ่ายที่เจ้าพนักงานตำรวจให้ดูแล้วคล้ายคนร้ายที่ยิงตามลำดับ เห็นว่า ก็อาจเป็นเพราะจ่าเอกจำรัสนั้นได้ความว่านั่งรถคันเกิดเหตุมาด้วยอาการอันหลับ ๆ ตื่น ๆ และถูกคนร้ายยิงได้รับบาดเจ็บสาหัสจนล้มฟุบไป จึงเป็นการยากที่จะให้จ่าเอกจำรัสแน่ใจในตัวคนร้าย ส่วนที่นายประยูรเบิกความนั้น ก็น่าจะเป็นเรื่องเบิกความไปตามความเป็นจริงมากกว่า หามีผลกระทบถึงพยานอื่นที่เห็นและจำจำเลยได้ดังกล่าวแล้วไม่ จำเลยฎีกาอีกว่า ที่พันตำรวจตรีมนตรี นพคุณ นำภาพถ่ายจำเลยให้พยานที่เห็นเหตุการณ์ดูรวมกับภาพถ่ายคนอื่นอีก 3 ภาพนั้น พันตำรวจตรีมนตรีจัดทำภาพถ่ายของบุคคลที่มีลักษณะตรงกับตำหนิรูปพรรณตามที่พยานให้การ ไม่ปรากฏว่าได้สอบสวนจากพยานคนใดนั้น ปรากฏว่าพันตำรวจตรีมนตรีก็ได้เบิกความไว้แล้วเมื่อตอบโจทก์ว่าได้จากการสอบสวนพยานคือนายอ้วนและนายประยูร นอกจากนี้พันตำรวจมนตรียังได้ประมวลเหตุผลจากการที่จำเลยเป็นคนท้องที่รู้สภาพพื้นที่ดี จึงสามารถหลบหนีได้รวดเร็ว จากการใช้อาวุธปืนและลูกระเบิดซึ่งไม่เคยมีคนร้ายใช้ในพื้นที่เกิดเหตุและพื้นที่ใกล้เคียง รวมทั้งจากการพูดของคนร้ายในขณะปล้นทรัพย์ มีลักษณะคล้ายกับการพูดของจำเลยซึ่งพันตำรวจตรีมนตรีได้สืบทราบจากเจ้าพนักงานตำรวจที่เคยคลุกคลีอยู่กับจำเลย พันตำรวจตรีมนตรีจึงได้นำภาพถ่ายของจำเลยให้พยานดูด้วยเหตุผลที่ประมวลเข้าด้วยกันดังกล่าวโจทก์หาจำต้องนำสืบว่าได้มีการสืบทราบจากเจ้าพนักงานตำรวจคนใดจึงจะรับฟังได้ดังจำเลยฎีกาไม่ และจากเหตุผลดังกล่าวจึงทำให้พันตำรวจตรีมนตรีสามารถนำไปสู่การให้พยานดูภาพถ่ายจำเลย ตลอดจนให้พยานไปดูตัวจำเลยขณะอยู่ในวงสุราที่แคร่หน้าบ้านจำเลย การไปดูตัวจำเลยนี้ไม่ว่าจำเลยจะสวมหมวกไหมพรมเหมือนคืนเกิดเหตุหรือไม่ก็ตาม แต่ก็ปรากฏว่านายอ้วนพยานโจทก์สามารถจำจำเลยและชี้ตัวให้เจ้าพนักงานตำรวจดำเนินการจับกุมจำเลยได้ในที่สุด เหตุเหล่านี้จึงไม่ใช่เหตุชวนสงสัยดังจำเลยฎีกา ข้อเท็จจริงรับฟังลงโทษจำเลยฐานร่วมกับพวกปล้นทรัพย์ได้ดังโจทก์ฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้นทุกประการ แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาปรับบทลงโทษจำเลยโดยไม่ได้กำหนดวรรคนั้นไม่ถูกต้อง’
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสาม ประกอบด้วยมาตรา 340 ตรี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share