คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 194/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 50 ปี คดีถึงที่สุดแล้ว และไม่ปรากฏว่ามีการเขียนหรือพิมพ์ผิดพลาด จำเลยจะร้องขอให้แก้ไขคำพิพากษานั้นหาได้ไม่.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

สืบเนื่องจากศษลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4, 11 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา268, 352 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษบทหนักตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 ให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรม 46 กระทง จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 230 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 115 ปี แต่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4ให้ลงโทษจำคุกไม่เกิน 50 ปี จึงให้ลงโทษจำคุกจำเลย 50 ปีริบเอกสารปลอมของกลาง ให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 24,935 บาทแก่องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย
โจทก์จำเลยไม่อุทธรณ์ คดีถึงที่สุด
จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยไม่ถูกต้องศาลพิพากษาลงโทษจำคุกกระทงละ 5 ปี เมื่อรวมกระทงแล้วจะจำคุกเกิน 20 ปีไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 (2) ขอให้ศาลชั้นต้นกำหนดโทษให้จำเลยใหม่ โดยให้ลงโทษจำคุกไม่เกิน 20 ปี ขอให้ศาลชั้นต้นสั่งยกเลิกหมายจำคุกเดิมและออกหมายจำคุกใหม่เป็นจำคุกไม่เกิน 20 ปี
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คำพิพากษาที่กำหนดไว้ถูกต้องแล้วไม่อาจแก้ไขได้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คำพิพากษาศาลชั้นต้นถึงที่สุด จำเลยไม่มีสิทธิขอให้ศาลกำหนดโทษให้จำเลยใหม่ พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยกระทำความผิดฐานใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 ซึ่งมีโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 3 ปีเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วต้องจำคุกไม่เกิน 10 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (1) ขอให้มีคำสั่งใหม่ ลงโทษจำคุกจำเลยเพียง 10 ปีนั้น ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2503 มาตรา 4, 11 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา268, 352 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันและผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักที่สุดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 10 ปีขึ้นไป โดยให้จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 46 กระทง เมื่อลดโทษให้จำเลยแล้ว คงจำคุก 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) ซึ่งเป็นการถูกต้องแล้ว และจำเลยมิได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น เมื่อคำพิพากษาถึงที่สุด ไม่ปรากฏว่ามีการเขียนผิดหรือพิมพ์ผิดพลาด จำเลยจะร้องขอให้แก้ไขคำพิพากษานั้นหาได้ไม่ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น’
พิพากษายืน.

Share