แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เมื่อจำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ และเมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มิได้ชำระหนี้ภาษีบำรุงท้องที่ที่จำเลยต้องรับผิดให้แก่โจทก์ หากจำเลยจะมีสิทธิไล่เบี้ยจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อย่างใด ก็มิใช่เป็นหนี้เกี่ยวกับภาษีอากรหรือคดีที่มีกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจศาลภาษีอากร ศาลภาษีอากรกลางไม่มีอำนาจพิจารณาคดีเกี่ยวกับสิทธิต่าง ๆ ของจำเลยที่มีต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ จำเลยจึงไม่มีสิทธิจะเรียกเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าเป็นจำเลยร่วมในคดีภาษีอากร แม้จำเลยจะอยู่ในระหว่างที่ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เมื่อจำเลยยังมิได้ชำระภาษีบำรุงท้องที่ จำเลยก็ต้องรับผิดในเงินเพิ่มร้อยละยี่สิบต่อปีของจำนวนเงินที่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่จะอ้างเหตุว่าถูกพิทักษ์ทรัพย์แล้วไม่ต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มหาได้ไม่.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินจำนวน 33 แปลง รวมเนื้อที่ 704 ไร่ 2 งาน54 ตารางวา ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลประเวศ อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานครเจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ได้ประเมินภาษีบำรุงท้องที่ของที่ดินดังกล่าวสำหรับปี พ.ศ. 2529-2531 ให้จำเลยชำระภาษีบำรุงท้องที่คิดเป็นเงินภาษี 51,084.60 บาท ต่อปี รวม 3 ปี เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 153,253.80 บาท จำเลยซึ่งมีหน้าที่ต้องชำระภายในเดือนเมษายนของแต่ละปีนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529-2531 อ้างว่าในระหว่างนั้นจำเลยได้ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีล้มละลายของศาลแพ่งหน้าที่ชำระภาษีบำรุงท้องที่ดังกล่าวจึงเป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้รายหนึ่งได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภาษีบำรุงท้องที่ประจำปี พ.ศ. 2529 ผลปรากฏว่า โจทก์ไม่ได้รับการชำระหนี้ภาษีดังกล่าวจากกองทรัพย์สินของจำเลย ทั้งนี้เนื่องจากต่อมาในวันที่ 25 ธันวาคม 2530 ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด ศาลฎีกาพิพากษายืนโดยผลแห่งคำพิพากษานี้จำเลยจึงไม่ตกอยู่ในฐานะบุคคลล้มละลายอีกต่อไป เนื่องจากภาษีบำรุงท้องที่ประจำปี พ.ศ. 2529-2531เป็นหนี้ซึ่งเกิดขึ้นตามบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวกับทรัพย์ของจำเลย เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์เห็นว่า ข้อกล่าวอ้างของจำเลยที่ว่าขณะที่ถึงกำหนดชำระค่าภาษีบำรุงท้องที่อำนาจจัดการทรัพย์สินของจำเลยทั้งหมดตกอยู่แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นั้นไม่ถูกต้อง ถ้าหากจำเลยมีความประสงค์จะชำระหนี้ภาษีบำรุงท้องที่ประจำปีให้แก่โจทก์ภายในกำหนดแล้วก็สามารถดำเนินการได้โดยขออนุญาตต่อศาลหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่จำเลยหาได้กระทำไม่ นอกจากนี้ผลที่สุดศาลก็ได้มีคำพิพากษาให้ยกคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลย จำเลยจึงกลับเข้าสู่สถานภาพเดิมเหมือนกับว่า จำเลยไม่เคยถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดมาก่อน ต้องรับผิดหนี้ภาษีดังกล่าว เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์จึงได้แจ้งการประเมินภาษีบำรุงท้องที่ประจำปี พ.ศ. 2529-2530 ให้จำเลยทราบ สำหรับการประเมินภาษีบำรุงท้องที่ปี พ.ศ. 2531 เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ไม่ต้องแจ้งการประเมินใหม่ การที่จำเลยไม่ยอมชำระภาษีบำรุงท้องที่ดังกล่าวให้โจทก์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน และมิได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมินตามกฎหมาย จึงมีผลทำให้จำเลยต้องรับผิดชำระภาษีบำรุงท้องที่ประจำปี พ.ศ. 2529-2531รวม 3 ปี จำนวน 153,253.80 บาท และต้องชำระภายในเดือนเมษายนของแต่ละปี แต่จำเลยเพิ่งนำเงินภาษีบำรุงท้องที่จำนวน153,253.80 บาท ไปชำระแก่โจทก์ โดยการวางทรัพย์ไว้ ณ สำนักงานวางทรัพย์กลาง กรมบังคับคดี เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2531 อันเป็นการล่วงเลยระยะเวลาที่จำเลยผู้มีหน้าที่เสียภาษีต้องไปชำระตามกฎหมาย จำเลยจึงต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มภาษีในอัตราร้อยละยี่สิบสี่ต่อปี เฉลี่ยร้อยละ 2 ต่อเดือน (เศษของเดือนให้นับเป็นหนึ่งเดือน) ของเงินภาษีบำรุงท้องที่ตามการประเมิน ดังนั้นภาษี ปี 2529 จำนวน 51,084.60 บาท จำเลยต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มภาษี รวมเงินเพิ่มภาษีทั้งสิ้นเป็นเงิน 49,041.22 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินภาษีบำรุงท้องที่ที่ค้างชำระเป็นเงิน49,041.22 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2531 จนถึงวันฟ้องคิดเพียง 1 ปี 2 เดือน เป็นเงิน 4,219 บาท รวมทั้งสิ้น53,332.22 บาท และให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงิน 49,041.22 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ต่อมาจำเลยยื่นคำร้องขอยื่นคำให้การอ้างว่ามิได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การ และยื่นคำร้องว่าจำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด การจัดการทรัพย์สินเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ชำระหนี้ภาษีบำรุงท้องที่ให้โจทก์ จำเลยใช้สิทธิไล่เบี้ยต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ขอให้เรียกเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าเป็นจำเลยร่วม
ศาลภาษีอากรกลางไต่สวนแล้ว เชื่อว่าจำเลยได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแล้ว เป็นการจงใจขาดนัดยื่นคำให้การให้ยกคำร้องและไม่รับคำให้การจำเลย เมื่อจำเลยไม่ได้ยื่นคำให้การโดยชอบจึงไม่มีเหตุที่จะต้องพิจารณาสั่งคำร้องที่ให้เรียกเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้ามาเป็นจำเลยร่วม
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน49,041.22 บาท ให้แก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลมีอำนาจเก็บภาษีบำรุงท้องที่ตามพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัท จำกัดมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามโฉนดที่ดินจำนวน 33 แปลง รวมเนื้อที่704 ไร่ 2 งาน 54 ตารางวา ซึ่งจำเลยให้ผู้อื่นเช่าประกอบกสิกรรมทำนาประเภทไม้ล้มลุก จำเลยได้ชำระภาษีบำรุงท้องที่สำหรับที่ดินดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานเขตพระโขนงตลอดมาทุกปี จนถึงปี 2528ครั้งถึงเวลาที่จะต้องชำระภาษีบำรุงท้องที่ประจำปี พ.ศ. 2529ซึ่งจะต้องชำระภายในเดือนเมษายน จำเลยมิได้ชำระภายในกำหนดเนื่องจากศาลแพ่งได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดในคดีล้มละลายเลขแดงที่ ล.246/2529 ระหว่างบริษัทรามาทาวเวอร์ จำกัดกับพวก โจทก์ บริษัทต้องตา จำกัด จำเลยอำนาจในการจัดการทรัพย์สินของจำเลยได้โอนไปยังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินสำนักงานรายได้เขตพระโขนงของโจทก์ได้มีหนังสือลงวันที่ 15 กรกฎาคม 2529 แจ้งการประเมินเพื่อให้จำเลยเสียภาษีบำรุงท้องที่ประจำปี พ.ศ. 2529 เป็นเงินภาษี 51,084.60 บาทจำเลยขอให้โจทก์ไปยื่นคำขอรับชำระหนี้จากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โดยตรง เมื่อโจทก์ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภาษีบำรุงท้องที่ประจำปีพ.ศ. 2529 ได้รับอนุญาตให้รับชำระหนี้ได้ แต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยังไม่ได้ชำระหนี้ให้โจทก์ เพราะคดีล้มละลายยังไม่ถึงที่สุดและต่อมาเมื่อถึงกำหนดชำระภาษีบำรุงท้องที่ประจำปี พ.ศ. 2530โจทก์ได้แจ้งการประเมินให้จำเลยชำระค่าภาษีบำรุงท้องที่อีกเป็นเงิน 51,084.60 บาท แต่จำเลยก็มิได้ชำระ เนื่องยังถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดอยู่ ต่อมาวันที่ 25 ธันวาคม 2530 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้ยกคำสั่งของศาลแพ่งที่ให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาด จำเลยขอชำระภาษีบำรุงท้องที่ให้โจทก์ โจทก์เห็นว่าจำเลยจะต้องชำระเงินเพิ่มอีกร้อยละ 24 ต่อปีด้วย จึงไม่ยอมรับชำระ จำเลยจึงได้นำเงินค่าภาษีบำรุงท้องที่ประจำปี พ.ศ. 2529-2531ปีละ 51,084.60 บาท รวม 3 ปี เป็นเงิน 153,253.80 บาท ไปวางไว้ณ สำนักงานวางทรัพย์กลางเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2531 และโจทก์รับไปเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2531 โจทก์จึงฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินเพิ่มภาษีบำรุงท้องที่แต่ละปีนับแต่วันถึงกำหนดชำระจนถึงวันที่จำเลยวางทรัพย์ไว้และคิดเงินเพิ่มในปี พ.ศ. 2529-2531 เป็นเงินเพิ่ม 28,607.38 บาท 16,347.07 บาท และ 4,086.77 บาทตามลำดับ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 49,041.22 บาท …
อุทธรณ์จำเลยประการที่สองมีว่า ควรเรียกเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าเป็นจำเลยร่วมหรือไม่ เห็นว่าเมื่อจำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มิได้ชำระหนี้ภาษีบำรุงท้องที่ที่จำเลยต้องรับผิดให้แก่โจทก์ หากจำเลยจะมีสิทธิไล่เบี้ยจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อย่างใด ก็มิใช่เป็นหนี้เกี่ยวกับภาษีอากรหรือคดีที่มีกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจศาลภาษีอากร ศาลภาษีอากรกลางไม่มีอำนาจพิจารณาคดีเกี่ยวกับสิทธิต่าง ๆ ของจำเลยที่มีต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ จำเลยจึงไม่มีสิทธิจะเรียกเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าเป็นจำเลยร่วม
อุทธรณ์ประการสุดท้ายมีว่า จำเลยจะต้องรับผิดเงินเพิ่มหรือไม่เห็นว่าตามพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 มาตรา 45(4)กำหนดไว้ว่าถ้าไม่ชำระภาษีบำรุงท้องที่ภายในเวลาที่กำหนดให้เสียเงินเพิ่มร้อยละยี่สิบสี่ต่อปี ตามมาตรานี้มิได้กำหนดข้อยกเว้นที่ไม่ต้องชำระเงินเพิ่ม เมื่อจำเลยยังมิได้ชำระภาษีบำรุงท้องที่ก็ต้องรับผิดในเงินเพิ่มอยู่ตลอดเวลา ทั้งไม่มีกฎหมายใดกำหนดว่า ในระหว่างที่จำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดย่อมได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียเงินเพิ่มสำหรับภาษีบำรุงท้องที่ ฉะนั้นตราบใดที่จำเลยยังมิได้ชำระภาษีบำรุงท้องที่ ก็ต้องรับผิดเงินเพิ่มอยู่จนกว่าจะชำระ จะอ้างเหตุว่าถูกพิทักษ์ทรัพย์แล้วไม่ต้องรับผิดเงินเพิ่มหาได้ไม่…”
พิพากษายืน.