คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6442/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยขายหุ้นหรือทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้านและที่ดินให้บุคคลทั่วไป โดยตกลงทยอยซื้อคืนเป็นงวดรายเดือนและให้กำไรเป็นเงินสองเท่า เป็นการซื้อหรือทำสัญญาที่มุ่งจะขายคืนเพื่อต้องการกำไรเป็นสองเท่าโดยไม่ต้องร่วมในการขาดทุน หาใช่เป็นการซื้อหุ้นเพื่อร่วมลงทุนในกิจการด้วยประสงค์จะแบ่งกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำในรูปของเงินปันผล ซึ่งจะต้องร่วมในการขาดทุนด้วย ดังบริษัททั่วไป หรือทำสัญญาเพื่อมุ่งจะได้บ้านและที่ดินจากจำเลยไม่ ดังนั้นการขายหุ้นและทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้านและที่ดินของจำเลยก็คือการรับเงินโดยผู้กู้ยืมจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนหรือตกลงว่าจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้ให้กู้ยืมอันเป็นการกู้ยืมเงินตามความหมายใน พ.ร.ก. การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนพ.ศ. 2527 และเป็นหนี้ที่กำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน พนักงานอัยการโจทก์ดำเนินคดีเองโดยมิได้แต่งตั้งทนายความศาลย่อมไม่กำหนดค่าทนายความให้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการระหว่างวันที่ 5 ตุลาคม 2528 ถึงวันที่ 13 มกราคม 2530 จำเลยทั้งสองได้ทำการกู้ยืมเงินจากประชาชนทั่วไปโดยกระทำด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น ออกหลักฐานการกู้ยืมเงินในรูปหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ในรูปหนังสือสัญญาโอนหุ้นในบริษัทจำกัด(หุ้นถาวร) และในรูปใบหุ้นของจำเลยที่ 1 มีประชาชนผู้ให้กู้ยืมเงิน 5,850 ราย รวมเงินที่ให้กู้ยืมทั้งสิ้น 601,790,000 บาท จำเลยทั้งสองได้นำเงินที่กู้ยืมดังกล่าวบางส่วนจ่ายหมุนเวียนเป็นผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ประชาชนผู้ให้กู้ยืมเงินในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ ประชาชนผู้ให้กู้ยืมเงิน5,850 ราย ได้รับต้นเงินคืนจากจำเลยทั้งสองแล้ว 149,873,500 บาทจำเลยทั้งสองยังเป็นหนี้ประชาชนผู้ให้กู้ยืมเงินอีก 451,916,500 บาทนอกจากนี้จำเลยทั้งสองยังเป็นหนี้ภาษีอากรค้างจ่ายกรมสรรพากร22,674,541.33 บาท หนี้ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด 170,579.45 บาทหนี้ผู้เช่าซื้อบ้านและที่ดิน 28,524,416.25 บาท หนี้ผู้รับเหมาที่ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน 9,005,000 บาท หนี้ผู้รับเหมารายที่ยื่นฟ้องต่อศาล 18,221,917 บาท หนี้ธนาคารทหารไทย จำกัดตามสัญญาประนีประนอมยอมความในศาล 139,925,875.10 บาท หนี้ผู้เช่าซื้อบ้านตามสัญญาประนีประนอมยอมความในศาล 93,893 บาทรวมหนี้สินทั้งสิ้น 670,532,722.13 บาท แต่จำเลยทั้งสองมีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 240,718,506.53 บาท ซึ่งน้อยกว่าหนี้สิน429,814,215.60 บาท หนี้สินดังกล่าวกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนจำเลยทั้งสองมีสินทรัพย์ไม่พอชำระหนี้สินได้ โจทก์ได้ฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลในความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527แล้ว ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองไว้เด็ดขาด และพิพากษาให้จำเลยทั้งสองล้มละลาย
จำเลยทั้งสองไม่ยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสองเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 ประกอบด้วยพระราชกำหนด การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527มาตรา 10 จำเลยทั้งสองไม่ต้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ เพราะโจทก์ได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียม แต่ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทนายความแทนโจทก์ โดยคิดหักจากกองทรัพย์สินของจำเลยทั้งสองตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นสมควรกำหนดให้
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองมีว่าจำเลยทั้งสองมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือมีสินทรัพย์ไม่พอชำระหนี้สินหรือไม่ ในเรื่องหนี้สินที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่าจำเลยทั้งสองมีหนี้สินรวม 670,532,722.13 บาท นั้น จำเลยทั้งสองฎีกาว่าประชาชนผู้ถือหุ้นจำนวน 451,916,500 บาท ถือว่าเป็นเจ้าของบริษัท ส่วนผู้ทำหนังสือสัญญาซื้อขายบ้านและที่ดินส่วนมากก็ได้เข้าอยู่อาศัยในบ้านดังกล่าวแล้ว จึงมิใช่เจ้าหนี้ของจำเลยทั้งสอง เมื่อหักจากยอดหนี้จำนวน 670,532,722.13 บาท จำเลยทั้งสองมีหนี้สินเพียง 118,616,222.13 บาท ศาลฎีกาเห็นว่า ในการขายหุ้นหรือทำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายบ้านและที่ดินให้บุคคลทั่วไปนั้น จำเลยทั้งสองรับว่าได้ตกลงทยอยซื้อคืนโดยให้แบ่งเงินค่าหุ้นหรือสัญญาซื้อขายบ้านออกเป็น 24 งวด ให้ประชาชนขายคืนจำเลยทั้งสองเดือนละงวด จำเลยทั้งสองจะให้กำไรเป็นเงิน 2 เท่าของจำนวนที่ขายคืนในแต่ละงวดตลอดไปจนครบ 24 งวด จำเลยทั้งสองดำเนินกิจการดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2528 จนถึงวันที่ 13 มกราคม 2530ก็หยุดกิจการเพราะถูกจับ มีประชาชนทำสัญญากับจำเลยทั้งสองรวม5,850 ราย เป็นเงินรวม 601,790,000 บาท แต่จำเลยทั้งสองซื้อคืนจากประชาชนแล้ว 149,873,500 บาท เหลือเงินที่จำเลยทั้งสองยังมิได้ซื้อคืนอีก 451,916,500 บาท จะเห็นได้ว่าที่ประชาชนซื้อหุ้นหรือทำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายบ้านและที่ดินกับจำเลยทั้งสองต่างมุ่งที่จะขายคืนเป็นรายเดือน เพื่อที่จะได้กำไรเป็น 2 เท่าของจำนวนที่ขายคืน โดยไม่ต้องร่วมในการขาดทุนด้วย หาใช่เป็นการซื้อหุ้นของบริษัทเพื่อร่วมลงทุนในกิจการด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้นในรูปของเงินปันผลซึ่งจะต้องร่วมกันในการขาดทุนด้วยดังบริษัททั่วไป หรือการทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้านและที่ดินที่ผู้ซื้อมุ่งจะได้บ้านและที่ดินจากจำเลยทั้งสองไม่ การขายหุ้นและทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้านและที่ดินของจำเลยทั้งสองดังกล่าวก็คือการรับเงินโดยผู้กู้ยืมเงินจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนหรือตกลงว่าจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้ให้กู้ยืมเงิน อันเป็นการกู้ยืมเงินตามความหมายในพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนพ.ศ. 2527 นั่นเอง เงินจำนวน 451,916,500 บาท จึงเป็นหนี้เงินกู้ยืมที่จำเลยทั้งสองจะต้องใช้คืนประชาชนผู้กู้ยืมเงิน ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ในคดีอาญาที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองระบุว่ามีผู้แสดงความจำนงให้เรียกคืนเพียง 148 ราย เป็นเงิน 22,000,000 บาทฉะนั้นผู้ที่ไม่แสดงความจำนงให้โจทก์เรียกเงินคืน จึงมิใช่ผู้เสียหายในคดีนี้ หนี้ประชาชนถ้ามีจริงก็ไม่เกิน 22,000,000บาท มิใช่ 451,916,500 บาท นั้น เมื่อจำเลยทั้งสองเป็นหนี้ประชาชนผู้ให้กู้ยืมเงินจำนวน 5,850 ราย เป็นเงิน 451,916,500บาท ดังวินิจฉัยข้างต้น จึงเป็นหนี้ที่กำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระโดยพลันหรือในอนาคตก็ตาม ดังที่พระราชกำหนด การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527มาตรา 10 บัญญัติไว้ จึงไม่ต้องคำนึงว่ามีเจ้าหนี้ผู้ให้กู้ยืมเงินได้แสดงความจำนงให้เรียกเงินคืนกี่รายหรือไม่ ส่วนที่โจทก์ในคดีอาญาระบุว่ามีผู้แสดงความจำนงให้เรียกเงินคืน 148 รายคิดเป็นเงิน 22,000,000 บาท นั้นเป็นเรื่องที่พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 9 ให้อำนาจพนักงานอัยการโจทก์ฟ้องเรียกเงินคืนแทนผู้เสียหายในคดีอาญาหาได้เกี่ยวกับการฟ้องคดีล้มละลายในคดีนี้ไม่ คดีฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองมีหนี้สินรวม 670,532,722.13 บาท
ในเรื่องสินทรัพย์ จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ที่เจ้าพนักงานประเมินราคาสินทรัพย์ของจำเลยทั้งสองว่ามีจำนวน 240,718,506.55 บาท นั้นเป็นการประเมินที่ไม่ถูกต้อง ความจริงจำเลยที่ 1 มีสินทรัพย์1,078,030,746.58 บาท จำเลยที่ 2 มีสินทรัพย์ 418,648,801.95 บาทนั้น เห็นว่า ในเรื่องนี้โจทก์นำสืบโดยมีนายสราวุธ ภู่อภิสิทธิ์เจ้าหน้าที่ธนาคารแห่งประเทศไทย นายแคล้ว ทองสม กับนายปราโมทไตรยาวัฒน์ เจ้าหน้าที่สำนักงานกลางประเมินราคาทรัพย์สิน กรมที่ดินเป็นพยานเบิกความว่า การประเมินราคาสินทรัพย์ของจำเลยทั้งสองตามรายงานเอกสารหมาย จ.4 นั้น เป็นการประเมินราคาสินทรัพย์ในครั้งที่สองซึ่งทำอย่างละเอียดถูกต้องตามหลักวิชาการ สำหรับที่ดินได้ประเมินโดยเทียบจากราคาของหมู่บ้านจัดสรรที่อยู่ใกล้เคียงกัน ส่วนสิ่งปลูกสร้างได้ใช้มาตรฐานของสำนักงานกลางประเมินราคาทรัพย์สิน โดยถอดแบบสิ่งปลูกสร้างแล้วคำนวณว่าสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวใช้วัสดุก่อสร้างเท่าใดคำนวณแล้วก็จะได้ราคามาตรฐานเป็นจำนวนเงินต่อตารางเมตรของอาคารสิ่งปลูกสร้างกรณีทรัพย์สินอื่นส่วนใหญ่ประเมินจากราคาทรัพย์สินตอนที่จำเลยซื้อมาโดยไม่มีการหักค่าเสื่อมราคา จะเห็นได้ว่าพยานโจทก์ทั้งสามเป็นเจ้าหน้าที่ของทางราชการ กระทำการตามหน้าที่ไม่มีเหตุกลั่นแกล้งจำเลยทั้งสอง ที่จำเลยที่ 2 เบิกความว่า เคยมีเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังคนหนึ่งมาเรียกเงินจำนวน 100,000,000 บาท แต่จำเลยที่ 2 ไม่ยอมให้เลยถูกกลั่นแกล้งนั้น เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ โดยไม่ปรากฏว่าใครเป็นคนเรียกเงิน ทั้งไม่น่าเชื่อว่าจะมีคนกล้าเรียกเงินจากจำเลยถึง 100,000,000 บาท แล้วสามารถระงับคดีจำเลยทั้งสองได้ โดยเฉพาะพยานโจทก์ผู้ประเมินราคาสินทรัพย์ทั้งสามคนนั้นก็มิได้ทำงานที่กระทรวงการคลัง มิได้เกี่ยวข้องกับการเรียกเงินนั้นด้วย การประเมินราคาสินทรัพย์ดังกล่าวจึงน่าเชื่อถือ ที่จำเลยที่ 2 เบิกความว่าที่ดินของจำเลยซื้อมาครั้งแรกไร่ละ 90,000 บาท ครั้งที่สองไร่ละ 150,000 บาทครั้งที่สามไร่ละ 300,000 บาท ครั้งสุดท้ายไร่ละ 1,000,000 บาทปัจจุบันไร่ละ 600,000 บาท เป็นราคาขายยกแปลง 1,600 ไร่ เป็นการเบิกความลอย ๆ ส่วนรายการแสดงสินทรัพย์ของจำเลยทั้งสองตามเอกสารหมาย ล.8, ล.9 ที่ระบุว่า จำเลยที่ 1 มีสินทรัพย์รวม1,078,030,746.58 บาท จำเลยที่ 2 มีสินทรัพย์ 418,648,801.95 บาทนั้น เอกสาร 2 ฉบับนี้จำเลยพิมพ์ขึ้นมาโดยไม่มีหลักฐานอ้างอิงไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุนทั้งราคาที่ดินทุกแปลงตามเอกสารหมายล.8, ล.9 ที่ระบุว่าราคาตารางวาละ 7,000 บาท อันเป็นราคาเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2532 ก็ไม่ตรงกับราคาที่จำเลยที่ 2 เบิกความในวันที่ 17 มีนาคม 2532 ซึ่งเป็นระยะเวลาใกล้เคียง ส่วนที่จำเลยที่ 2 เบิกความว่ามีรายได้จากกิจการที่ฮ่องกงเดือนละ25,000,000 บาท ก็เป็นการเบิกความลอย ๆ ไม่ปรากฏว่าเงินได้ดังกล่าวอยู่ที่ใด ข้อนำสืบของจำเลยทั้งสองในเรื่องสินทรัพย์จึงไม่น่าเชื่อถือ คดีฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองมีสินทรัพย์ตามที่ฝ่ายโจทก์ประเมินไว้หักแล้วจึงต่ำกว่าหนี้สินถึง 429,814,215.60 บาทจำเลยทั้งสองมีสินทรัพย์ไม่พอชำระหนี้สินได้ เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวเมื่อพิจารณาได้ความจริงดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสองเด็ดขาดจึงชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้นเนื่องจากคดีนี้พนักงานอัยการโจทก์ดำเนินคดีเองโดยมิได้แต่งตั้งทนายความ ที่ศาลชั้นต้นให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทนายความแทนโจทก์จึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข”
พิพากษายืน โดยจำเลยทั้งสองไม่ต้องใช้ค่าทนายความในศาลชั้นต้นและในศาลฎีกาแทนโจทก์.

Share