คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6135/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามคำร้องขอจัดการมรดกของผู้ร้องมีทรัพย์สินจะต้องจัดการถึง7 รายการ แม้ผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินเฉพาะบางรายการให้ผู้คัดค้านที่ 2 แล้ว ก็ยังมีทรัพย์สินอื่นนอกพินัยกรรมที่จะต้อง จัดการอยู่อีก ผู้ร้องเป็นทายาทโดยธรรมเป็นผู้มีส่วนได้เสียและ ไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1718 จึงมีสิทธิที่จะเป็น ผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ หนังสือตัดทายาทโดยธรรมระบุนามสกุลผู้คัดค้านที่ 1 ว่า สกุล”ธรรมรัตน์”เป็น”ธรรมรักษ์” ซึ่งเป็นข้อผิดพลาดเพียงเล็กน้อย ไม่ ทำให้หนังสือตัดทายาทโดยธรรมเสียไป การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ถูกตัดจากการเป็นทายาทโดยธรรม โดยไม่วินิจฉัยชี้ชัดว่าผู้คัดค้านที่ 1 เป็นทายาท จริงหรือไม่นั้น การวินิจฉัยชี้ขาดว่าเป็นทายาทหรือไม่เป็นทายาท ของผู้ตายไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไปปัญหาข้อนี้เป็นอุทธรณ์ที่ ไร้สาระศาลอุทธรณ์ชอบที่จะไม่รับวินิจฉัยให้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1695 ผู้ทำพินัยกรรมอาจเพิกถอนพินัยกรรมทั้งหมดหรือแต่บางส่วนได้ โดยทำลายหรือขีดฆ่าเสียด้วยความตั้งใจหมายความว่า ต้องเพิกถอนด้วยการฉีก ทำลาย หรือทำให้หมดสิ้นจนใช้การไม่ได้ หรือขีดฆ่าลงบนพินัยกรรมนั้นเพื่อให้เห็นว่า ผู้ทำพินัยกรรมไม่มีเจตนาจะให้มีผลเป็นพินัยกรรมต่อไป ดังนั้น เพียงแต่บันทึกไว้ในช่องหมายเหตุในทะเบียนพินัยกรรมของ ที่ว่าการอำเภอว่า ขอถอนพินัยกรรม และบันทึกในใบรับพินัยกรรมว่า ขอถอน 14 มี.ค. 20 จึงยังไม่ถือว่าผู้ทำพินัยกรรมมีเจตนาทำลาย พินัยกรรม พินัยกรรมจึงยังมีผลสมบูรณ์.

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนางแฉล้ม ศรีเอนก ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนางแฉล้ม
ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำร้องว่า ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นบุตรของนางแฉล้ม ศรีเอนก ผู้ร้องไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียและมิได้เป็นทายาทของนางแฉล้ม ผู้คัดค้านที่ 1 มีคุณสมบัติไม่ต้องห้ามตามกฎหมายที่จะเป็นผู้จัดการมรดกของนางแฉล้ม ขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนางแฉล้ม และตั้งผู้คัดค้านที่ 1เป็นแทน
ผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำร้องว่า ผู้คัดค้านที่ 2 เด็กหญิงปัญจศรีเอนก และเด็กชายสันทัด ศรีเอนก เป็นผู้มีสิทธิรับมรดกของนางแฉล้มตามพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมือง ผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ได้เกี่ยวข้องในที่ดินและบ้านดังกล่าว ผู้คัดค้านที่ 2 มีคุณสมบัติไม่ต้องห้ามตามกฎหมายที่จะเป็นผู้จัดการมรดก ขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนางแฉล้ม และตั้งผู้คัดค้านที่ 2เป็นแทน
ผู้ร้องยื่นคำร้องคัดค้านผู้คัดค้านทั้งสองว่า ผู้คัดค้านที่ 1ไม่ใช่บุตรของนางแฉล้ม แต่เป็นบุตรของนายครึ้ม หนูขาว และนางปุ่นนางแฉล้มนำผู้คัดค้านที่ 1 มาอุปการะเลี้ยงดูโดยไม่ได้จดทะเบียนรับเป็นบุตรบุญธรรม แต่เพื่อความสะดวกในการอุปการะเลี้ยงดูจึงได้แจ้งชื่อตนและร้อยตำรวจเอกถม ศรีเอนก เป็นบิดามารดาต่อมานางแฉล้มเห็นว่าผู้คัดค้านที่ 1 ไม่เหมาะสมจะรับมรดกจึงทำหนังสือตัดทายาทโดยธรรมไว้เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2520 สำหรับพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองของนางแฉล้มนั้นผู้ร้องเพิ่งทราบภายหลังที่ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนางแฉล้ม แต่พินัยกรรมดังกล่าว นางแฉล้มได้ขอเพิกถอนแล้ว ผู้คัดค้านที่ 2 จึงไม่มีสิทธิรับทรัพย์ตามพินัยกรรมขอให้ยกคำร้องคัดค้านของผู้คัดค้านทั้งสอง
ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้ว มีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านที่ 2เป็นผู้จัดการมรดกของนางแฉล้ม ศรีเอนก ร่วมกับผู้ร้อง ยกคำร้องของผู้คัดค้านที่ 1
ผู้ร้อง ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้อง ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสองข้อแรกมีว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนางแฉล้มผู้ตายชอบหรือไม่ ผู้คัดค้านทั้งสองฎีกาว่าเมื่อนางแฉล้มผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2แล้ว ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิในทรัพย์สินตามพินัยกรรมที่จะจัดการได้นั้น เห็นว่าทรัพย์สินที่ระบุไว้ในพินัยกรรมมีเพียง 2 รายการคือที่ดินตาม น.ส.3 เลขที่ 480 หมู่ที่ 4 ตำบลหมอนนาง อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ 3 ไร่ 3 งาน 80 ตารางวา และมียุ้งข้าวปลูกอยู่บนที่ดินอีก 1 หลัง และที่ดินที่มีตราจองเลขที่ 608ตำบลหมอนนาง อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี และมีบ้านปลูกอยู่บนที่ดินอีก 1 หลัง แต่ตามคำร้องขอจัดการมรดกของผู้ร้องมีทรัพย์สินจะต้องจัดการถึง 7 รายการ ดังนั้น แม้จะฟังว่านางแฉล้มผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินเฉพาะบางรายการให้ผู้คัดค้านที่ 2 แล้วก็ตาม ผู้ร้องก็ยังมีทรัพย์สินอื่นนอกจากพินัยกรรมที่จะต้องจัดการอยู่อีก ผู้ร้องเป็นทายาทโดยธรรม เป็นผู้มีส่วนได้เสียและไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1718 จึงมีสิทธิที่จะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้…
ปัญหาจะต้องวินิจฉัยข้อต่อไปมีว่า หนังสือตัดทายาทโดยธรรมตามเอกสารหมาย ร.1 มีผลหรือไม่ ผู้คัดค้านที่ 1 ฎีกาว่า หนังสือตัดทายาทโดยธรรมไม่ได้จัดเก็บไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอพนัสนิคมจังหวัดชลบุรี และมีพิรุธ จึงไม่มีผลเป็นการตัดทายาทนั้น…
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ร้อยตำรวจเอกถมและนางแฉล้มได้ทำหนังสือตัดทายาทโดยธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1608(2)แล้ว ส่วนที่ผู้คัดค้านที่ 1 อ้างว่าไม่ได้เก็บหนังสือไว้ที่ว่าการอำเภอพนัสนิคมนั้นเห็นว่า เมื่อได้ทำหนังสือถึงพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว ก็เป็นเรื่องที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ และตามพฤติการณ์น่าเชื่อว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ได้จัดการและเก็บไว้ให้เป็นไปตามความประสงค์ของร้อยตำรวจเอกถมและนางแฉล้มแล้ว ผู้คัดค้านที่ 1 อ้างอีกข้อหนึ่งว่านามสกุลของผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ตรงกับหนังสือตัดทายาทโดยธรรม ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าอาจมีการพิมพ์ผิดพลาดไปจากนามสกุลผู้คัดค้านที่ 1 ว่า สกุล “ธรรมรัตน์” เป็น “ธรรมรักษ์”ซึ่งเป็นข้อผิดพลาดเพียงเล็กน้อย ไม่ทำให้หนังสือตัดทายาทโดยธรรมเสียไป หนังสือตัดทายาทโดยธรรมจึงมีผลสมบูรณ์…
ปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องมีว่า การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า แม้จะฟังว่าผู้คัดค้านที่ 1 เป็นทายาทก็ถูกตัดจากการเป็นทายาทโดยธรรมแล้ว โดยไม่วินิจฉัยว่าผู้คัดค้านที่ 1 เป็นทายาทจริงหรือไม่ จึงเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบและศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยปัญหาข้อนี้ จึงไม่ชอบเช่นกันนั้น การที่ศาลชั้นต้นไม่วินิจฉัยชี้ชัดลงไปว่าผู้คัดค้านที่ 1 เป็นทายาทโดยธรรมของนางแฉล้มหรือไม่นั้น เห็นว่า หากวินิจฉัยชี้ขาดไปว่าเป็นทายาทหรือไม่เป็นทายาทของนางแฉล้มแล้ว ก็ไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไปดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าปัญหาข้อนี้ของผู้ร้องเป็นอุทธรณ์ที่ไร้สาระและไม่รับวินิจฉัยจึงชอบแล้ว…
สำหรับฎีกาของผู้ร้องที่จะต้องวินิจฉัยข้อสุดท้ายมีว่า ได้มีการเพิกถอนพินัยกรรมแล้วหรือไม่นั้น เห็นว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1695 บัญญัติว่าผู้ทำพินัยกรรมอาจเพิกถอนพินัยกรรมทั้งหมดหรือแต่บางส่วนได้ โดยทำลายหรือขีดฆ่าเสียด้วยความตั้งใจซึ่งหมายความว่า ผู้ทำพินัยกรรมจะต้องเพิกถอนพินัยกรรมนั้นด้วยการฉีกทำลายหรือทำให้หมดสิ้นไปจนใช้การไม่ได้ หรือขีดฆ่าลงบนพินัยกรรมนั้นเพื่อให้เห็นว่าผู้ทำพินัยกรรมไม่มีเจตนาจะให้มีผลเป็นพินัยกรรมต่อไปแล้ว ดังนั้นเพียงแต่บันทึกไว้ในช่องหมายเหตุในทะเบียนพินัยกรรมของที่ว่าการอำเภอเอกสารหมาย ร.3 ว่า ขอถอนพินัยกรรมและบันทึกในใบรับพินัยกรรม ตามเอกสารหมาย ร.5 ว่าขอถอน 14 มี.ค. 20 นั้น จึงยังไม่ถือว่าผู้ทำพินัยกรรมมีเจตนาทำลายพินัยกรรม ตามนัยของบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น พินัยกรรมจึงยังมีผลสมบูรณ์…”
พิพากษายืน.

Share