แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
คำสั่งของศาลอุทธรณ์เกี่ยวกับการขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าเสียหายตามเงื่อนไขที่ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้มีการทุเลาการบังคับไว้ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์นั้นเป็นคำสั่งต่อเนื่องกับการทุเลาการบังคับ ซึ่งเป็นอำนาจโดยเฉพาะของศาลอุทธรณ์ ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 231 เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งสามขยายระยะเวลาวางเงินที่จะต้องชำระแก่โจทก์ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ดังนี้จำเลยทั้งสามจึงฎีกาคำพิพากษานั้นของศาลอุทธรณ์ไม่ได้.
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยทั้งสามออกจากที่พิพาทและให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 1,500 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสามจะออกจากที่พิพาทจำเลยทั้งสามอุทธรณ์และยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับ ศาลอุทธรณ์สั่งอนุญาตให้ทุเลาการบังคับไว้ในระหว่างอุทธรณ์ โดยให้จำเลยทั้งสามคนใดคนหนึ่งหรือร่วมกันนำค่าเสียหายที่จะต้องชำระแก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนับถึงวันทราบคำสั่ง มาวางต่อศาลชั้นต้นภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยทั้งสามคนใดคนหนึ่งหรือร่วมกันนำค่าเสียหายดังกล่าว มาวางต่อศาลชั้นต้นภายใน 15 วันนับตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2532 จากนั้นได้สั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาวางเงินค่าเสียหายตามคำร้องขอของจำเลยทั้งสามซึ่งอ้างเหตุจำเป็นต่าง ๆ เรื่อยมาหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายกำหนดให้จำเลยทั้งสามวางเงินค่าเสียหายภายในวันที่ 20 มีนาคม 2533 ครบกำหนดจำเลยทั้งสามยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าเสียหายอีกโดยอ้างว่าเป็นคนยากจนยังหาเงินไม่ได้ศาลชั้นต้นเห็นว่าไม่มีเหตุสมควรจะอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอีกต่อไป ให้ยกคำร้องของจำเลยทั้งสาม
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คำสั่งของศาลอุทธรณ์เกี่ยวกับเรื่องการขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าเสียหายตามเงื่อนไขที่ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้มีการทุเลาการบังคับไว้ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์นั้นเป็นคำสั่งต่อเนื่องกับการทุเลาการบังคับซึ่งเป็นอำนาจโดยเฉพาะของศาลอุทธรณ์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 231ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งสามขยายระยะเวลาวางเงินที่จะต้องชำระแก่โจทก์ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นอีกต่อไปเช่นนี้ จำเลยทั้งสามจึงฎีกาคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ไม่ได้ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยทั้งสามมาจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษาให้ยกฎีกาของจำเลยทั้งสาม.