คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5820/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อโจทก์ได้ดำเนินการตามขั้นตอนในฐานะผู้ถือหุ้นที่ใช้อำนาจครอบงำการจัดการเพื่อรักษาผลประโยชน์จากการลงทุนในบริษัทโดยฟ้องเพิกถอนรายงานการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นที่ ย.ผู้ถือหุ้นคนหนึ่งกับพวกจัดทำอันเป็นเท็จ จนเป็นเหตุให้มีการเปลี่ยนแปลงกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทจำเลยที่ 7 ที่ 8มาเป็น ย. เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริษัทแล้ว ขั้นต่อไปย่อมเป็นหน้าที่ของกรรมการบริษัทที่ได้รับแต่งตั้งโดยชอบจะเข้ามาดำเนินกิจการ แล้วพิจารณาว่าสมควรฟ้องร้องขอเพิกถอนคำพิพากษาตามยอมและสัญญาประนีประนอมยอมความที่ ย. ในฐานะผู้แทนโดยมิชอบของจำเลยที่ 7 ที่ 8 ทำไว้กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6หรือไม่ต่อไป โจทก์ในฐานะผู้ถือหุ้นคนหนึ่งหาได้ถูกโต้แย้งสิทธิที่จะก้าวล่วงมาฟ้องในชั้นนี้เสียเองต่อบริษัทจำเลยที่ 7 ที่ 8และจำเลยอื่นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นคนหนึ่งของบริษัทจำเลยที่ 7ที่ 8 ต่อมานายยงยุทธซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นคนหนึ่งของบริษัทจำเลยที่ 7ที่ 8 ได้ร่วมกับนายเชิดชัยกรรมการคนหนึ่ง จัดทำรายงานการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นอันเป็นเท็จว่า นายโฆสิตได้ขอลาออกจากกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลยที่ 7 ที่ 8 และได้แต่งตั้งนายยงยุทธเองขึ้นเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลยที่ 7 ที่ 8 แทนที่นายโฆสิต ต่อมานายยงยุทธได้สมคบกับผู้ถือหุ้นบางคนจัดทำรายงานการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นอันเป็นเท็จขึ้นมาอีกว่า ที่ประชุมได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้นำทรัพย์สินและกิจการทั้งหมดอันได้แก่ที่ดินและสิ่งก่อสร้างของบริษัทไปจำนองธนาคารไทยทนุ จำกัดเป็นประกันหนี้บริษัทอื่น 3 บริษัท แล้วนำที่ดินและสิ่งก่อสร้างทั้งหมดดังกล่าวไปขายเอาเงินมาชำระหนี้แก่ธนาคารไทยทนุ จำกัดแทนบริษัททั้งสามโดยวิธีไถ่จำนอง อันเป็นการขัดต่อวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งบริษัท การขายทรัพย์สินทั้งหมดดังกล่าวก็จะทำให้บริษัทจำเลยที่ 7 ที่ 8 ต้องเลิกกิจการ ต่อมานายประเสริฐกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 8 และนายเชิดชัยกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 7 ที่ 8 ถึงแก่กรรม ยังผลให้บริษัทจำเลยที่ 7 มีกรรมการ2 คน ได้แก่ นายโฆสิตและนายสาวิท แต่ปรากฏหลักฐานไม่ถูกต้องว่ามีนายสาวิทและนายยงยุทธเป็นกรรมการ และยังผลให้บริษัทจำเลยที่ 8 เหลือนายโฆสิตเป็นกรรมการเพียงคนเดียว แต่ปรากฏหลักฐานไม่ถูกต้องว่ามีนายยงยุทธเป็นกรรมการเพียงคนเดียว ซึ่งไม่ครบองค์ประชุมขัดต่อกฎหมาย การทำนิติกรรมใด ๆ จึงเป็นโมฆะนายยงยุทธได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งก่อสร้างอันเป็นทรัพย์สินและกิจการของบริษัทจำเลยที่ 7 ที่ 8 ให้แก่จำเลยที่ 1ในราคา 55,250,000 บาท โดยจำเลยที่ 1 ทราบอยู่แล้วว่านายยงยุทธมิใช่กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทจำเลยที่ 7 ที่ 8และทราบรายงานการประชุมอันเป็นเท็จ ทั้งราคาขายก็ต่ำมาก ต่อมาในปี 2531 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ 7 ที่ 8 ต่อศาลชั้นต้นขอให้บังคับตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน ทั้ง ๆ ที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ไม่เคยเข้ามาเกี่ยวข้องกับสัญญาจะซื้อจะขายเลย ต่อมาจำเลยที่ 7 ที่ 8 โดยนายยงยุทธได้ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญปลอมของบริษัทจำเลยที่ 7 ที่ 8 แต่งตั้งทนายความยื่นคำให้การรับข้อเท็จจริงตามคำฟ้อง และทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันยอมจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งก่อสร้างให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 5938/2531 ของศาลชั้นต้นสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายทำให้โจทก์และผู้ถือหุ้นคนอื่น ๆ ได้รับความเสียหาย ขอให้เพิกถอนทำลายคำพิพากษาและสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีหมายเลขแดงที่ 5938/2531 ของศาลชั้นต้นว่าเป็นโมฆะไม่มีผลผูกพันบริษัทจำเลยที่ 7 ที่ 8 และที่ดินพร้อมสิ่งก่อสร้างตามสัญญาจะซื้อจะขาย
ศาลชั้นต้นสั่งคำฟ้องว่า โจทก์เป็นเพียงผู้ถือหุ้นและไม่ได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทจำเลยที่ 7 ที่ 8 กรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1169 และโจทก์ไม่ใช่คู่ความในคดีหมายเลขดำที่ 4369/2531 หมายเลขแดงที่ 5938/2531 ของศาลชั้นต้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ไม่รับฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหามีว่าโจทก์ในฐานะผู้ถือหุ้นคนหนึ่งของบริษัทจำเลยที่ 7 ที่ 8 มีอำนาจฟ้องบริษัทจำเลยที่ 7 ที่ 8 กับจำเลยอื่น ขอให้เพิกถอนคำพิพากษาและสัญญาประนีประนอมยอมความที่จำเลยทั้งแปดได้กระทำขึ้นตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ผู้ถือหุ้นเป็นผู้ที่นำเงินมาลงทุนในบริษัท แต่ผู้ถือหุ้นย่อมไม่สามารถที่จะเข้ามาบริหารบริษัทได้ทั้งหมดทุกคน การใช้อำนาจครอบงำการจัดการเพื่อรักษาผลประโยชน์ของบริษัท ผู้ถือหุ้นจำต้องแต่งตั้งผู้แทนอันได้แก่กรรมการบริษัทเข้ามาดำเนินกิจการแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1108(6), 1151, 1155 ต้องแต่งตั้งผู้สอบบัญชีเพื่อเข้ามาตรวจสอบฐานะการเงินของบริษัทตามมาตรา1108(6), 1209 มีการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นเพื่อให้กรรมการบริษัทรายงานผลการดำเนินงานและพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นตามมาตรา 1171, 1173 และผู้ถือหุ้นมีสิทธิเข้าทำการตรวจดูเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ของบริษัทตามมาตรา1139, 1197, 1207 ตลอดจนมีสิทธิร้องขอต่อเสนาบดีเจ้าหน้าที่ให้ตั้งผู้ตรวจไปตรวจการงานของบริษัทตามมาตรา 1215 เท่านั้นโจทก์ฎีกาว่าโจทก์และผู้ถือหุ้นคนอื่นได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลแพ่งเป็นอีกคดีหนึ่งเพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนรายงานการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นที่นายยงยุทธผู้ถือหุ้นคนหนึ่งกับพวกจัดทำอันเป็นเท็จจนเป็นเหตุให้มีการเปลี่ยนแปลงกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทจำเลยที่ 7ที่ 8 มาเป็นนายยงยุทธขณะนี้คดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลแล้วนั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์ได้ดำเนินกาาตามขั้นตอนในฐานะผู้ถือหุ้นที่ใช้อำนาจครอบงำการจัดการ เพื่อรักษาผลประโยชน์จากการลงทุนในบริษัทโดยฟ้องเพิกถอนรายงานการประชุมดังกล่าว เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริษัทดังนี้แล้ว ขั้นต่อไปย่อมเป็นหน้าที่ของกรรมการบริษัทที่ได้รับแต่งตั้งโดยชอบจะเข้ามาดำเนินกิจการแล้วพิจารณาว่าสมควรฟ้องร้องขอเพิกถอนคำพิพากษาและสัญญาประนีประนอมยอมความหรือไม่ต่อไปโจทก์ในฐานะผู้ถือหุ้นคนหนึ่งหาได้ถูกโต้แย้งสิทธิที่จะก้าวล่วงมาฟ้องในชั้นนี้เสียเองต่อบริษัทจำเลยที่ 7 ที่ 8 และจำเลยอื่นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 55 ไม่ ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องและไม่รับฟ้องชอบแล้ว
พิพากษายืน.

Share