คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5803/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่ให้รอฟังผลคดีอื่นให้ถึงที่สุดก่อน ซึ่งเป็นดุลพินิจของศาลที่จะสั่งตามที่เห็นสมควรตาม ป.วิ.พ. มาตรา 39 จำเลยอุทธรณ์โต้แย้งการใช้ดุลพินิจของศาลชั้นต้นเกี่ยวกับการสั่งไม่รอฟังผลคดีอื่น จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามมาตรา 224.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินพิพาทและให้จำเลยรื้อบ้านเลขที่ 157 แขวงบางด้วน เขตภาษีเจริญกรุงเทพมหานคร ซึ่งปลูกในที่พิพาทออกไป หากจำเลยไม่ยอมรื้อถอนขอสั่งให้โจทก์รื้อโดยให้จำเลยเสียค่าใช้จ่ายกับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเดือนละ 1,000 บาท ตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะขนย้ายเสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่พิพาท ไม่มีอำนาจฟ้อง เดิมโจทก์เคยฟ้องขับไล่นายสุรินทร์ ปัทมชัยวิรัตน์ออกจากที่พิพาทตามคดีหมายเลขดำที่ 3215/2529 คดีหมายเลขแดงที่5260/2531 คดีดังกล่าวศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยคดีนี้เป็นบริวารของจำเลยในคดีดังกล่าว คดียังไม่ถึงที่สุด โจทก์มาฟ้องจำเลยในคดีนี้อีก จึงเป็นฟ้องซ้อนไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่เสียหายเพราะที่ดินไม่ใช่ของโจทก์ และในส่วนค่าเสียหายในคดีนี้ศาลก็วินิจฉัยแล้ว
ระหว่างการสืบพยาน จำเลยขอให้ศาลรอฟังผลคดีของศาลชั้นต้นหมายเลขดำที่ 3215/2529 หมายเลขแดงที่ 5260/2531 จนกว่าคดีดังกล่าวจะถึงที่สุด
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ดำเนินคดีต่อไปโดยไม่รอผลอีกคดีหนึ่งตามที่จำเลยขอ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่พิพาทและให้จำเลยรื้อบ้านเลขที่ 157 ซึ่งปลูกอยู่ในที่พิพาทออกไป
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รอฟังผลอีกคดีหนึ่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยผู้อาศัยออกจากที่พิพาทและเรียกค่าเสียหายเดือนละ 1,000 บาทถือได้ว่าในขณะยื่นคำฟ้องอาจให้เช่าได้ไม่เกินสองพันบาท จำเลยมิได้กล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ หรือมิได้ยกข้อโต้เถียงในเรื่องแปลความหมายแห่งข้อความในสัญญาที่ก่อให้เกิดสิทธิอยู่ในที่พิพาทนั้น เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาขับไล่จำเลยออกจากที่พิพาทจำเลยจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคสอง ที่จำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งไม่ให้รอฟังผลคดีแพ่งหมายเลขแดงที่5260/2531 ให้ถึงที่สุดเสียก่อนพิพากษาขับไล่จำเลยว่าเป็นการไม่ชอบนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลชั้นต้นเกี่ยวกับการสั่งไม่รอฟังผลคดีอื่น ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 39 เป็นดุลพินิจของศาลจะสั่งตามที่เห็นสมควรหาใช่บทบังคับศาลต้องสั่งให้รอฟังผลคดีอื่นทุกคดีไปไม่ อุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวข้างต้น แม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยมา ศาลฎีกาก็รับวินิจฉัยให้ไม่ได้”
พิพากษายกฎีกาจำเลย.

Share