คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5774/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรมสารบรรณทหารซื้อแบตเตอรี่จากโจทก์และฝากแบตเตอรี่ ที่ซื้อ ไว้กับโจทก์ แต่โจทก์ยังมิได้กำหนดแบ่งแยกไว้แน่นอนว่าจะขายแบตเตอรี่หม้อใดให้กรรมสิทธิ์ในแบตเตอรี่จึงยังไม่โอนไปยังกรมสารบรรณทหารตาม ป.พ.พ. มาตรา 460 เมื่อแบตเตอรี่ยังเป็นของโจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ จำเลยเป็นพนักงานของโจทก์ แม้จำเลยจะปฏิบัติตามวิธีที่มีการปฏิบัติกันมาก่อน แต่เมื่อทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยก็จะอ้างเอาการปฏิบัติดังกล่าวซึ่งผิดต่อระเบียบปฏิบัติที่โจทก์วางไว้มาเป็นข้อแก้ตัวเพื่อไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์หาได้ไม่ โจทก์เป็นนิติบุคคลสังกัดกระทรวงกลาโหม มีผู้อำนวยการเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ แม้โจทก์จะรู้เรื่องละเมิดก่อน วันที่21 พฤษภาคม 2525 แต่คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและ พิจารณาหาตัวผู้รับผิดชอบทางแพ่งทำการสอบสวนแล้วมีความเห็นว่า จำเลยจะต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ และได้เสนอความเห็นไปยัง ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นจนถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแจ้งให้ผู้อำนวยการของโจทก์ทราบ เมื่อ วันที่ 19ธันวาคม 2526 ถือได้ว่าโจทก์รู้ว่าจำเลยพึงต้อง ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2526 โจทก์ฟ้อง จำเลยเมื่อวันที่ 30ตุลาคม 2527 ยังไม่เกิน 1 ปี ฟ้องโจทก์จึง ไม่ขาดอายุความ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานของโจทก์ตำแหน่งหัวหน้าพนักงานขายส่วนกลาง มีหน้าที่ขายแบตเตอรี่ รับฝากและอนุญาตให้ถอนแบตเตอรี่ที่ลูกค้าซื้อและฝากไว้กับโจทก์ จำเลยที่ 2 เป็นทหารประจำการสังกัดกองการขนส่ง กรมสารบรรณทหาร มีหน้าที่ลงบัญชีควบคุมยอดรับ – จ่ายแบตเตอรี่ ของกองการขนส่ง กรมสารบรรณทหารและเป็นเจ้าหน้าที่ติดต่อขอถอนแบตเตอรี่ที่กองการขนส่งกรมสารบรรณทหาร ซื้อและฝากโจทก์ไว้ กองการขนส่งกรมสารบรรณทหาร กระทรวงกลาโหม เป็นลูกค้าของโจทก์ได้สั่งซื้อแบตเตอรี่จากโจทก์แล้วขอฝากแบตเตอรี่ไว้กับโจทก์ก่อน จะขอถอนไปใช้เมื่อมีความจำเป็นต้องใช้เป็นคราว ๆ ไปมีข้อตกลงว่าการขอฝากขอถอนแบตเตอรี่จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือและกำหนดตัวผู้ขอฝากขอถอนไว้ชัดเจนแน่นอน ระหว่างเดือนตุลาคม 2523 ถึงเดือนกรกฎาคม2524 จำเลยที่ 2 ได้ขอถอนแบตเตอรี่ที่กองการขนส่ง กรมสารบรรณทหารซื้อและฝากไว้กับโจทก์ อ้างว่ามีความจำเป็นต้องใช้ในราชการด่วนส่วนหลักฐานการขอถอนจะส่งตามมาภายหลัง ซึ่งเป็นความเท็จ และจำเลยที่ 1 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 ออกใบส่งสินค้า และหรือสั่งให้พนักงานของโจทก์ซึ่งอยู่ในบังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 ออกใบส่งสินค้าให้จำเลยที่ 2 เซ็นชื่อรับแบตเตอรี่ไปจากโจทก์รวม33 ฉบับ จำนวน 320 หม้อ คิดเป็นเงิน 401,480 บาท ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โดยโจทก์จะต้องชดใช้แบตเตอรี่หรือราคาให้แก่กองการขนส่ง กรมสารบรรณทหาร ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนแบตเตอรี่จำนวน 320 หม้อ หรือใช้ราคา 401,480 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2523จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำละเมิดและไม่ได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดต่อโจทก์ ก่อนหน้าที่จำเลยที่ 1 จะมาดำรงตำแหน่งนี้ก็มีการปฏิบัติรับฝากและขอถอนเช่นนี้มาก่อน จำเลยที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่ในนามกรมสารบรรณทหาร ถือว่ากรมสารบรรณทหารได้รับแบตเตอรี่ไว้แล้ว โจทก์ไม่ต้องชดใช้แบตเตอรี่คืนจึงไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้อง คดีโจทก์ขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนแบตเตอรี่จำนวน 320 หม้อ หรือใช้ราคา 401,480 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2523จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยนำสืบรับกันฟังได้ว่าขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เป็นพนักงานของโจทก์ ตำแหน่งหัวหน้าแผนกขายส่วนกลาง แผนกขายส่วนกลางขึ้นอยู่กับฝ่ายการตลาดมีหน้าที่ขายแบตเตอรี่ ทำหนังสือเสนอราคารับหนังสือรับฝากถอนแบตเตอรี่ กองการขนส่ง กรมสารบรรณทหาร เป็นลูกค้าซื้อแบตเตอรี่จากโจทก์โดยมีข้อตกลงเป็นระเบียบปฏิบัติว่า กองการขนส่งกรมสารบรรณทหาร จะมีหนังสือขอซื้อมายังแผนกขายส่วนกลางและชำระเงินให้ ส่วนแบตเตอรี่นั้นกรมสารบรรณทหารจะรับไปเฉพาะจำนวนที่ต้องการใช้ ส่วนที่เหลือจะฝากไว้กับโจทก์ก่อน เมื่อต้องการใช้จึงจะมีหนังสือมาขอถอนและระบุชื่อผู้ถอนมาในหนังสือ แต่ในทางปฏิบัติได้มีการใช้วิธีโทรศัพท์ขอเบิกไปก่อน ส่วนหนังสือขอถอนจะส่งมาภายหลัง ถ้าแบตเตอรี่ที่ฝากไว้หมดแล้ว กรมสารบรรณทหารเคยขอยืมแบตเตอรี่จากโจทก์ไปใช้ก่อน หัวหน้าแผนกขายส่วนกลางมีอำนาจให้ยืมได้ เมื่อมีใบสั่งซื้อจึงจะหัก – ลบกัน เมื่อประมาณเดือนกรกฎาคม 2524 กรมสารบรรณทหารมีใบสั่งซื้อมายังแผนกขายส่วนกลางแผนกขายส่วนกลางจึงได้หักลบกับแบตเตอรี่ที่กรมสารบรรณทหารได้ยืมไปก่อนแล้ว กรมสารบรรณทหารแจ้งว่าไม่เคยยืมจึงได้มีการตรวจสอบร่วมกัน ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้ขอถอนแบตเตอรี่ของกรมสารบรรณทหารที่ฝากไว้ไป 320 หม้อ โดยไม่มีใบขอถอน กรมสารบรรณทหารปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นผู้ถอนมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อหาตัวผู้รับผิดชอบตามคำสั่งของกระทรวงกลาโหม คณะกรรมการมีความเห็นว่าจำเลยทั้งสองต้องรับผิดคืนแบตเตอรี่จำนวน 320 หม้อ หรือใช้ราคา 401,480 บาทให้แก่โจทก์
พิเคราะห์แล้ว ปัญหาแรกที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 มีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า แม้กรมสารบรรณทหารได้ซื้อแบตเตอรี่จากโจทก์และขอฝากแบตเตอรี่ที่ซื้อไว้กับโจทก์แต่โจทก์ยังมิได้กำหนดแบ่งแยกไว้แน่นอนว่าจะขายแบตเตอรี่หม้อใดไม่ กรรมสิทธิ์ในแบตเตอรี่จึงยังไม่โอนไปยังกรมสารบรรณทหารผู้ซื้อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 460 เมื่อแบตเตอรี่ยังเป็นของโจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ได้
ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 ยินยอมให้จำเลยที่ 2 ขอถอนและรับแบตเตอรี่ไปจากโจทก์โดยจำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจขอถอนและไม่มีหนังสือขอถอนจากผู้มีอำนาจถอนนั้น เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อระเบียบที่วางไว้ เมื่อจำเลยที่ 2 เอาแบตเตอรี่ที่ถอนไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว การกระทำของจำเลยที่ 1 ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 จะอ้างว่าในกรณีที่จำเป็นเร่งด่วนกรมสารบรรณทหารเคยขอถอนแบตเตอรี่ไปก่อนโดยจะส่งหนังสือขอถอนมาให้ในภายหลัง และมีการปฏิบัติกันเช่นนี้ตั้งแต่ก่อนจำเลยที่ 1 มารับตำแหน่งหัวหน้าแผนกขายส่วนกลางซึ่งเป็นการปฏิบัติที่ผิดต่อระเบียบปฏิบัติที่โจทก์วางไว้มาเป็นข้อแก้ตัวเพื่อไม่ต้องรับผิดหาได้ไม่
ปัญหาต่อไปมีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่าแม้จะฟังได้ว่าโจทก์รู้เรื่องละเมิดก่อนวันที่ 21 พฤษภาคม 2525 แต่โจทก์ยังไม่รู้ผู้จะฟังต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน โจทก์เป็นนิติบุคคลสังกัดกระทรวงกลาโหม มีผู้อำนวยการเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์กระทรวงกลาโหมสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและพิจารณาหาตัวผู้รับผิดชอบทางแพ่งเรื่องแบตเตอรี่ของกรมสารบรรณทหารที่ซื้อและฝากไว้กับโจทก์ คณะกรรมการสอบสวนทำการสอบสวนแล้วมีความเห็นว่าจำเลยที่ 1 จะต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ และได้เสนอความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นจนถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมีคำสั่งให้ดำเนินการตามความเห็นของคณะกรรมการและได้มีการแจ้งให้ผู้อำนวยการของโจทก์ทราบเมื่อวันที่19 ธันวาคม 2526 ถือได้ว่าโจทก์รู้ว่าจำเลยที่ 1 พึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2526 โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รับผิดต่อโจทก์เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2527 ยังไม่ครบ 1 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
พิพากษายืน.

Share