คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15320/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

หลังจากศาลมีคำสั่งพิทักทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดแล้ว โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินและบ้านพิพาทของโจทก์และเรียกค่าเสียหายจากการที่โจทก์ไม่อาจนำที่ดินและบ้านพิพาทออกให้เช่าซึ่งจะได้ค่าเช่าไม่น้อยกว่าเดือนละ 60,000 บาท คิดถึงวันฟ้องเป็นเวลา 1 เดือน เป็นเงิน 60,000 บาท พร้อมทั้งค่าเสียหายในอัตราเดือนละ 60,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินและบ้านพิพาท จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า สัญญาเช่าเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา จำเลยไม่ได้ผิดสัญญาต่อโจทก์ ขอให้บังคับโจทก์จดทะเบียนสิทธิการเช่าที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่จำเลย ดังนี้ คดีโจทก์ในส่วนที่ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินและบ้านพิพาทอันเป็นทรัพย์สินของโจทก์ไม่เกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยโดยตรง จึงไม่อยู่ในอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะดำเนินคดีแทนจำเลยตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 (3) จำเลยย่อมมีอำนาจต่อสู้คดีได้โดยลำพัง สำหรับค่าเสียหายที่โจทก์เรียกมานั้นโจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องว่าเป็นค่าเสียหายนับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 พร้อมทั้งค่าเสียหายนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินและบ้านพิพาท เมื่อปรากฏว่าศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2554 ค่าเสียหายดังกล่าวจึงเป็นมูลหนี้อันเกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่เกิดขึ้นภายหลังที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว โจทก์ไม่อาจนำมาขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 27, 91 และ 94 โจทก์ชอบที่จะฟ้องจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ในคดีล้มละลายได้โดยตรง ไม่อาจฟ้องเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นจำเลยแทนลูกหนี้หรือเข้าดำเนินคดีนี้แทนลูกหนี้ จำเลยจึงมีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นได้ด้วยตนเอง แต่ในส่วนฟ้องแย้งของจำเลยนั้น เป็นการขอให้บังคับโจทก์จดทะเบียนสิทธิการเช่าที่ดินและบ้านพิพาทตามสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาอันเป็นประโยชน์ในทางทรัพย์สินของจำเลย กรณีเป็นเรื่องที่จำเลยใช้สิทธิฟ้องร้องเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยระหว่างจำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ซึ่งต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 22 (3) ที่ศาลชั้นต้นรับฟ้องแย้งและพิพากษาตามฟ้องแย้งจึงไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 3008 ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี และบ้านเลขที่ 8/5 ถนนเบญจางค์ ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี และส่งมอบการครอบครองคืนโจทก์ในสภาพปกติให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย 60,000 บาท และค่าเสียหายอีกเดือนละ 60,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินและบ้านดังกล่าว
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยทำสัญญาเช่ากับโจทก์โดยมีข้อตกลงว่าโจทก์จะขายที่ดินพิพาทให้จำเลยในราคา 25,000,000 บาท หรือให้จำเลยหาผู้อื่นมาซื้อแทนหรือเช่าระยะยาว จำเลยติดต่อห้างหุ้นส่วนสามัญ เจ เค สุกี้ เพื่อก่อสร้างโชว์รูมจำหน่ายเครื่องแก้ว เครื่องครัว และสร้างร้านอาหารสุกี้ ใช้เงินในการก่อสร้างปรับปรุง 21,650,000 บาท สัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา ภายหลังโจทก์ตกลงขายที่ดินพิพาทให้บุคคลอื่น จึงฟ้องขับไล่จำเลยเป็นคดีนี้ ค่าเสียหายตามฟ้องสูงเกินจริง ลายมือชื่อผู้ให้เช่าไม่ใช่กรรมการโจทก์โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้องและมีคำสั่งไปยังเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดอุดรธานีจดทะเบียนการเช่าที่ดินพิพาทเป็นเวลา 30 ปี ให้จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า กรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์ในขณะทำสัญญาลงลายมือชื่อเป็นผู้ให้เช่า โจทก์บอกเลิกสัญญาโดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่เคยตกลงกับจำเลยว่าจะขายที่ดินพิพาทให้จำเลยหรือบริวาร จำเลยนำทรัพย์สินที่เช่าออกให้บุคคลภายนอกเช่าโดยไม่ได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากโจทก์ ผู้เช่าดังกล่าวจึงถือเป็นบริวารจำเลย สัญญาเช่าพิพาทไม่ใช่สัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาจำเลยไม่มีสิทธิบังคับให้จดทะเบียนการเช่า ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ระหว่างพิจารณา บริษัทแอปเปิ้ลทรี ไอเดีย แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ห้างหุ้นส่วนสามัญ เจ เค สุกี้ ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นจำเลย อ้างว่าต่างเป็นผู้เช่าที่ดินจากจำเลย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต โดยให้เรียกว่าจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ
จำเลยร่วมทั้งสองขอถือเอาคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยเป็นคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยร่วมทั้งสอง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสองพร้อมบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 3008 ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี เนื้อที่ 1 ไร่ 3 งาน 58 ตารางวา และบ้านเลขที่ 8/5 ถนนเบญจางค์ ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี และส่งมอบที่ดินพิพาทคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อย กับให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย 7,000 บาท และค่าเสียหายในอัตราเดือนละ 7,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 4 ธันวาคม 2555) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและจำเลยร่วมทั้งสองจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินและบ้านพิพาทกับให้จำเลยและจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท ยกฟ้องแย้งของจำเลย (ที่ถูก ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งให้เป็นพับ)
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลย คืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดให้แก่จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากนี้ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีได้ความว่า ก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2554 ตามคดีหมายเลขแดงที่ ล. 9076/2554 ต่อมาโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2555 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า คำสั่งยกอุทธรณ์ของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินและบ้านพิพาทของโจทก์และเรียกค่าเสียหายจากการที่โจทก์ไม่อาจนำที่ดินและบ้านพิพาทออกให้เช่าซึ่งจะได้ค่าเช่าไม่น้อยกว่าเดือนละ 60,000 บาท คิดถึงวันฟ้องเป็นเวลา 1 เดือน เป็นเงิน 60,000 บาท พร้อมทั้งค่าเสียหายในอัตราเดือนละ 60,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินและบ้านพิพาท จำเลยให้การเพียงว่า สัญญาเช่าเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา จำเลยไม่ได้ผิดสัญญาต่อโจทก์ ดังนี้ คดีโจทก์ในส่วนที่ฟ้องขับไล่จำเลยให้ออกจากที่ดินและบ้านพิพาทอันเป็นทรัพย์สินของโจทก์ไม่เกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยโดยตรงจึงไม่อยู่ในอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะดำเนินคดีแทนจำเลยตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 (3) จำเลยย่อมมีอำนาจต่อสู้คดีได้โดยลำพัง สำหรับค่าเสียหายที่โจทก์เรียกมานั้นโจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องว่าเป็นค่าเสียหายนับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 พร้อมทั้งค่าเสียหายนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินและบ้านพิพาท เมื่อปรากฏว่าศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2554 ค่าเสียหายดังกล่าวจึงเป็นมูลหนี้อันเกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่เกิดขึ้นภายหลังที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว โจทก์ไม่อาจนำมาขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 27, 91 และ 94 โจทก์ชอบที่จะฟ้องจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ในคดีล้มละลายได้โดยตรง ไม่อาจฟ้องเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นจำเลยแทนลูกหนี้หรือเข้าดำเนินคดีนี้แทนลูกหนี้ จำเลยจึงมีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นได้ด้วยตนเอง แต่ในส่วนฟ้องแย้งของจำเลยนั้น เป็นการขอให้บังคับโจทก์จดทะเบียนสิทธิการเช่าที่ดินและบ้านพิพาทตามสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาอันเป็นประโยชน์ในทางทรัพย์สินของจำเลย กรณีเป็นเรื่องที่จำเลยใช้สิทธิฟ้องร้องเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยระหว่างจำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ซึ่งต้องห้ามตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 (3) ที่ศาลชั้นต้นรับฟ้องแย้งและพิพากษาตามฟ้องแย้งจึงไม่ชอบ แต่เนื่องจากศาลอุทธรณ์ภาค 4 ยังไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยเกี่ยวกับเรื่องขับไล่และเรียกค่าเสียหาย ทั้งทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาคู่ความอาจถูกจำกัดสิทธิโดยบทบัญญัติของกฎหมาย เพื่อให้เป็นไปตามลำดับชั้นศาล จึงเห็นสมควรให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิจารณาพิพากษาใหม่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยมาเสียทั้งหมดนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำสั่งรับฟ้องแย้ง คืนค่าขึ้นศาลในส่วนที่เกี่ยวกับฟ้องแย้งทั้งหมดให้แก่จำเลย ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่เกี่ยวกับฟ้องแย้ง ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 เฉพาะส่วนที่ไม่รับวินิจฉัยคำฟ้องและคำให้การโดยย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิจารณาและพิพากษาใหม่ในส่วนคำฟ้องและคำให้การตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 รวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share