คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7338/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรณีที่จะไม่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมมิใช่จะมีได้เฉพาะแต่ตามที่พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 123 บัญญัติไว้ในอนุมาตรา (1)ถึง (5) เท่านั้น กรณีอื่นนอกเหนือจากนี้ก็อาจมีได้
นายจ้างเลิกกิจการและเลิกจ้างลูกจ้าง มิใช่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามมาตรา 123 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 123 บัญญัติห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างยังมีผลใช้บังคับแต่กฎหมายมาตราดังกล่าวก็ได้บัญญัติเป็นข้อยกเว้นไว้ว่า หากลูกจ้างกระทำการมิชอบอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในอนุมาตรา (1) ถึง (5) นายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างได้ ดังนี้ เมื่อกฎหมายบัญญัติให้นายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างในกรณีที่ลูกจ้างกระทำการมิชอบเช่นนี้ ย่อมเห็นได้ว่าลูกจ้างจะกระทำการดังกล่าวได้ก็ต่อเมื่อกิจการของนายจ้างยังคงดำเนินอยู่เท่านั้น หากกิจการของนายจ้างถูกเลิกไปลูกจ้างก็ไม่อาจกระทำการเช่นนั้นได้การที่นายจ้างเลิกกิจการและเลิกจ้างลูกจ้างจึงมิใช่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม
กรณีที่นายจ้างเลิกกิจการและเลิกจ้างลูกจ้างจะเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมหรือไม่ ต้องพิจารณาถึงเหตุผลของการเลิกกิจการเป็นสำคัญกับต้องพิจารณาด้วยว่าข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ทำกันไว้มีว่าอย่างไร เพราะข้อตกลงนี้เป็นสัญญาอย่างหนึ่งที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องปฏิบัติตาม ตลอดจนนายจ้างได้จ่ายเงินผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามกฎหมายและตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างให้แก่ลูกจ้างหรือไม่ หรือมีเหตุอื่นใดอันทำให้เห็นได้ว่าการกระทำของนายจ้างเป็นการกระทำที่ทำให้ลูกจ้างได้รับความเสียหายโดยปราศจากความชอบธรรมที่จะทำได้
ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ซึ่งเป็นข้อตกลงที่โจทก์กับสหภาพแรงงานค. ทำกันไว้ มีข้อตกลงเลิกจ้างในกรณีมีความจำเป็นต้องลดคนงานหรือเลิกจ้างโดยไม่มีความผิดไว้ด้วย หากมีการเลิกจ้างในกรณีดังกล่าวก็ให้นายจ้างจ่ายเงินต่าง ๆ ตามข้อตกลงให้แก่ลูกจ้าง การที่โจทก์เลิกจ้างผู้กล่าวหาทั้งสี่สิบเอ็ดเนื่องจากโจทก์เลิกกิจการถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่มีความผิดดังที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกำหนดไว้เมื่อโจทก์ได้จ่ายเงินต่าง ๆ ซึ่งมีทั้งเงินที่ต้องจ่ายตามกฎหมายและตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างให้แก่ผู้กล่าวหาทั้งสี่สิบเอ็ดรับไปครบถ้วน อันเป็นการปฏิบัติตามข้อตกลงที่ทำกันไว้เรียบร้อยแล้ว จึงไม่มีกรณีที่จะถือว่าผู้กล่าวหาทั้งสี่สิบเอ็ดได้รับความเสียหายจากการกระทำของโจทก์ ดังนั้น ที่โจทก์เลิกกิจการและเลิกจ้างลูกจ้างในคดีนี้จึงมิใช่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสิบสองซึ่งเป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 11, 12, 13/2539 ว่า โจทก์เลิกจ้างผู้กล่าวหาทั้งสี่สิบเอ็ดเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ให้โจทก์จ่ายค่าเสียหายแก่ผู้กล่าวหาทั้งสี่สิบเอ็ด ขอให้เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 11, 12, 13/2539 หากศาลเห็นว่ากรณีเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ขอให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งดังกล่าวโดยให้ถือเอาเงินที่โจทก์ได้จ่ายไปแก่ลูกจ้างเป็นค่าเสียหายที่พอสมควรแล้ว

จำเลยทั้งสิบสองให้การว่า การโอนขายกิจการเป็นการคาดการณ์ของโจทก์เองว่าในอนาคตกิจการของโจทก์ไม่สามารถแข่งขันกับกิจการด้านครัวการบินกับบริษัทใหญ่ ๆ ได้ จึงมิใช่เหตุจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ทั้งการเลิกจ้างดังกล่าวไม่เข้าเหตุตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 123 การที่โจทก์เลิกจ้างผู้กล่าวหาทั้งสี่สิบเอ็ดในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับจึงเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม จำนวนค่าเสียหายที่จำเลยทั้งสิบสองกำหนดเหมาะสมกับเหตุผลข้อเท็จจริงและสภาวะความเดือดร้อนของผู้กล่าวหาทั้งสี่สิบเอ็ดแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าผู้กล่าวหาทั้งสี่สิบเอ็ดเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน เค แอล เอ็ม ประเทศไทย ซึ่งเกี่ยวข้องกับการยื่นข้อเรียกร้องเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2538 และได้มีการบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับลงวันที่ 11 เมษายน 2538 ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2538ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2541 โจทก์เลิกจ้างผู้กล่าวหาทั้งสี่สิบเอ็ดเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2539 ในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างยังมีผลใช้บังคับอยู่ สาเหตุที่โจทก์เลิกจ้างเนื่องจากโจทก์ขายกิจการให้แก่บริษัทเกทกูร์เมท์ (ไทยแลนด์) จำกัด เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

พิเคราะห์แล้ว เห็นควรวินิจฉัยประเด็นที่ว่า คดีมีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 11, 12, 13/2539 ลงวันที่ 16 สิงหาคม 2539 หรือไม่ก่อน ประเด็นข้อนี้โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์มีความจำเป็นต้องขายกิจการให้แก่บริษัทเกทกูร์เมท์ (ไทยแลนด์) จำกัด โจทก์จึงต้องเลิกจ้างลูกจ้างรวมทั้งผู้กล่าวหาทั้งสี่สิบเอ็ดด้วย ในการเลิกจ้างโจทก์ได้จ่ายเงินตามกฎหมายและตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างให้แก่ลูกจ้างรวมทั้งผู้กล่าวหาทั้งสี่สิบเอ็ดไปครบถ้วนแล้ว ผู้กล่าวหาทั้งสี่สิบเอ็ดจึงไม่ได้รับความเสียหาย การกระทำของโจทก์จึงมิใช่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 123 ดังที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์วินิจฉัย เห็นว่า กรณีที่จะไม่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมมิใช่จะมีได้เฉพาะแต่ตามที่พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 123 บัญญัติไว้ในอนุมาตรา (1) ถึง (5) เท่านั้น กรณีอื่นนอกเหนือจากนี้ก็อาจมีได้ และเห็นว่ากรณีที่นายจ้างเลิกกิจการและเลิกจ้างลูกจ้างมิใช่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามมาตรา 123 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ทั้งนี้เห็นได้จากข้อความในบทบัญญัติของมาตราดังกล่าวนั้นเองกล่าวคือ กฎหมายมาตรานี้บัญญัติห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างยังมีผลใช้บังคับ แต่กฎหมายมาตราดังกล่าวก็ได้บัญญัติเป็นข้อยกเว้นไว้ว่า หากลูกจ้างกระทำการมิชอบอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในอนุมาตรา (1) ถึง (5) นายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างได้ เมื่อกฎหมายบัญญัติให้นายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างในกรณีที่ลูกจ้างกระทำการมิชอบเช่นนี้ ย่อมเห็นได้ว่าลูกจ้างกระทำการดังกล่าวได้ก็ต่อเมื่อกิจการของนายจ้างยังคงดำเนินอยู่เท่านั้นหากกิจการของนายจ้างถูกเลิกไปลูกจ้างก็ไม่อาจกระทำการเช่นนั้นได้ ด้วยเหตุนี้การที่นายจ้างเลิกกิจการและเลิกจ้างลูกจ้างจึงมิใช่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามที่มาตรา 123 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 บัญญัติไว้

กรณีที่นายจ้างเลิกกิจการและเลิกจ้างลูกจ้างจะเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมหรือไม่ต้องพิจารณาถึงเหตุผลของการเลิกกิจการเป็นสำคัญกับต้องพิจารณาด้วยว่าข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ทำกันไว้มีว่าอย่างไร เพราะข้อตกลงนี้เป็นสัญญาอย่างหนึ่งที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องปฏิบัติตามตลอดจนนายจ้างได้จ่ายเงินผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามกฎหมายและตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างให้แก่ลูกจ้างหรือไม่ หรือมีเหตุอื่นใดอันทำให้เห็นได้ว่าการกระทำของนายจ้างเป็นการกระทำที่ทำให้ลูกจ้างได้รับความเสียหายโดยปราศจากความชอบธรรมที่จะทำได้

สำหรับคดีนี้ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ฉบับลงวันที่ 11 เมษายน 2538 ซึ่งเป็นข้อตกลงที่โจทก์กับสหภาพแรงงาน เค แอล เอ็ม ประเทศไทย ทำกันไว้ มีข้อตกลงเลิกจ้างในกรณีมีความจำเป็นต้องลดคนงาน หรือเลิกจ้างโดยไม่มีความผิดไว้ด้วย หากมีการเลิกจ้างในกรณีดังกล่าวก็ให้นายจ้างจ่ายเงินต่าง ๆ ตามข้อตกลงให้แก่ลูกจ้าง การที่โจทก์เลิกจ้างผู้กล่าวหาทั้งสี่สิบเอ็ดเนื่องจากโจทก์เลิกกิจการ ถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่มีความผิดดังที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกำหนดไว้ เมื่อโจทก์ได้จ่ายเงินต่าง ๆ ซึ่งมีทั้งเงินที่ต้องจ่ายตามกฎหมายและตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างให้แก่ผู้กล่าวหาทั้งสี่สิบเอ็ดรับไปครบถ้วน อันเป็นการปฏิบัติตามข้อตกลงที่ทำกันไว้เรียบร้อยแล้ว จึงไม่มีกรณีที่จะถือว่าผู้กล่าวหาทั้งสี่สิบเอ็ดได้รับความเสียหายจากการกระทำของโจทก์ ดังนั้น ที่โจทก์เลิกกิจการและเลิกจ้างลูกจ้างในคดีนี้จึงมิใช่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม

พิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 11, 12, 13/2539 ลงวันที่ 16 สิงหาคม 2539 ระหว่าง นายนรินทร์ พิมพาและพวก ผู้กล่าวหากับบริษัท เค.แอล.เอ็ม. รอยัลดัทช์ แอร์ไลน์ จำกัด ผู้ถูกกล่าวหา เสีย

Share