คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5519/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษี 7 ได้รับคำสั่งกรมสรรพากรให้ปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบและประเมินภาษีอากรประจำสำนักงานภาษีสรรพากรเขตพื้นที่ 8 อันเป็นสำนักงานที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง พ.ศ. 2515 ย่อมถือว่าเป็นเจ้าพนักงานประเมินผู้ได้รับแต่งตั้งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตามประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยการแต่งตั้งเจ้าพนักงาน (ฉบับที่ 121) เรื่อง ประกาศยกเลิกและแต่งตั้งเจ้าพนักงานตามประมวลรัษฎากร ที่กำหนดให้ข้าราชการพลเรือนสามัญตั้งแต่ระดับ 3 ขึ้นไปเป็นเจ้าพนักงานประเมิน การแบ่งส่วนราชการภายในของกรมสรรพากรเป็นเรื่องการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อให้เกิดความคล่องตัวมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับสภาพในปัจจุบันไม่กระทบถึงอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบภาษีที่ทำต่อเนื่องกันมา ดังนั้น เมื่อกองภาษีการค้าซึ่งเป็นหน่วยงานดูแลรับผิดชอบเกี่ยวกับภาษีของโจทก์ถูกยุบเลิกไป โดยมีการจัดตั้งสำนักงานภาษีสรรพากรเขตพื้นที่ขึ้นมาแทน และปรากฏว่าภูมิลำเนาและสถานที่ประกอบการค้าของโจทก์อยู่ภายในเขตพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานภาษีสรรพากรเขตพื้นที่ 7 แต่กรมสรรพากรมีคำสั่งให้ ว.ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตรวจสอบภาษีภายในของโจทก์อยู่เดิมมีอำนาจตรวจสอบภาษีของโจทก์ต่อไป แม้ ว.จะได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีของสำนักงานภาษีสรรพากรเขตพื้นที่ 8 ก็มีอำนาจตรวจสอบภาษีของโจทก์ได้ ภาพถ่ายจากต้นฉบับเอกสารที่อยู่ในความอารักขาหรือในความควบคุมของทางราชการเป็นสำเนาเอกสารที่ต้องมีบุคคลดังที่ระบุไว้ในมาตรา 93(3) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งรับรองความถูกต้องจึงจะรับฟังได้ แต่เมื่อจำเลยอ้างส่งสำเนาเอกสารดังกล่าวต่อศาลโดยโจทก์มิได้คัดค้านว่าต้นฉบับเอกสารไม่มี หรือเอกสารนั้นปลอมหรือสำเนาไม่ถูกต้องเช่นนี้ ศาลภาษีอากรกลางจึงมีอำนาจรับฟังสำเนาเอกสารนั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 125 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรพ.ศ. 2528 มาตรา 17 โจทก์มีรายได้จากการประกอบกิจการ แต่ไม่มีหลักฐานแสดงการจ่ายของโจทก์ ซึ่งต้องถือว่าโจทก์มีเงินกำไรสุทธิที่จะต้องเสียภาษีตามจำนวนที่เป็นรายรับของโจทก์ การที่เจ้าพนักงานประเมินนำข้อมูลจากหน่วยงานที่ควบคุมการทำงานของโจทก์มาคำนวณกำไรสุทธิด้วยการหักค่าใช้จ่ายให้แก่โจทก์รวมจำนวนถึงร้อยละ 80ซึ่งเป็นการกระทำโดยมีเหตุสมควรและเป็นธรรมแก่โจทก์เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจกระทำได้ โจทก์เพิกเฉยไม่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบภาษีของจำเลยเมื่อถูกประเมินก็ไม่ยอมมารับผลการประเมินโดยอ้างว่าสถานที่ประกอบการค้าของโจทก์ไม่ได้อยู่ในเขตรับผิดชอบของสำนักงานภาษีสรรพากรเขตพื้นที่ 8 จึงไม่ไปรับทราบผลการประเมินเช่นนี้ ย่อมไม่มีเหตุจะงดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยไม่มีอำนาจประเมินให้โจทก์เสียภาษีอากร การประเมินไม่ชอบด้วยกฎหมายโจทก์ได้อุทธรณ์แล้วแต่คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว
จำเลยให้การว่า เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยมีอำนาจประเมินตามกฎหมาย การประเมินชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า เห็นว่าการที่มีการแบ่งส่วนราชการตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมสรรพากรกระทรวงการคลัง พ.ศ. 2515 ให้สำนักงานภาษีสรรพากรเขตพื้นที่ 7รับผิดชอบเขตพื้นที่บางกอกน้อยซึ่งเป็นภูมิลำเนาและสถานที่ประกอบการค้าของโจทก์ และมีคำสั่งของกรมสรรพากร ที่ ท.164/2525ในข้อ 6.3.2 เอกสารหมาย ล.6 ว่า สำหรับงานตรวจสอบที่ได้ออกหมายเรียกแล้วเกิน 1 ปี นับถึงวันที่ออกคำสั่งนี้ ให้ปฏิบัติดังนี้ (ก) ถ้าเป็นงานตรวจสอบที่เจ้าหน้าที่เป็นเจ้าของเรื่องเองและยังตรวจสอบไม่เสร็จ ให้ส่งมอบเรื่องและเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ให้แก่ สพท.ซึ่งเจ้าหน้าที่เจ้าของเรื่องไปปฏิบัติราชการ เพื่อจะได้ตรวจสอบอย่างต่อเนื่องจนแล้วเสร็จ(ข) ถ้าเป็นงานตรวจสอบที่ทำเป็นคณะให้กองดำเนินการตรวจสอบต่อไป การแบ่งส่วนราชการดังกล่าวจึงเป็นเรื่องการบริหารราชการแผ่นดินภายในของจำเลยเพื่อให้เกิดความคล่องตัวมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับสภาพของกรมสรรพากรในปัจจุบัน เมื่องานตรวจสอบภาษีรายของโจทก์เป็นงานที่ดำเนินการค้างมาจากงานกองภาษีการค้าและยังไม่เสร็จสิ้น กองภาษีการค้าถูกยุบเลิกไปนายวินิจ สื่อสุวรรณ เจ้าพนักงานตรวจสอบภาษีรายของโจทก์ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษี 6 ฝ่ายตรวจสอบ สำนักงานภาษีสรรพากรเขตพื้นที่ 8 นายวินิจก็ย่อมมีอำนาจดำเนินการต่อไปได้จนกว่าจะเสร็จงาน การแบ่งส่วนราชการของจำเลยดังกล่าวจึงหามีผลกระทบกระเทือนเป็นเหตุให้การตรวจสอบภาษีรายของโจทก์ที่ต่อเนื่องมาจากกองภาษีการค้าเป็นการไม่ชอบไม่ โจทก์จึงไม่อาจจะยกเอาเหตุที่โจทก์มีภูมิลำเนาหรือสถานที่ประกอบการค้าอยู่ในเขตพื้นที่สำนักงานภาษีสรรพากรเขตพื้นที่ 7 ของการแบ่งส่วนราชการของจำเลยมาอ้างว่าสำนักงานภาษีสรรพากรเขตพื้นที่ 8ไม่มีอำนาจตรวจสอบและประเมินภาษีรายของโจทก์ได้
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า การประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยชอบหรือไม่ เห็นว่าแม้เอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 70 ถึงแผ่นที่ 179 เป็นภาพถ่ายมาจากต้นฉบับเอกสารที่อยู่ในความอารักขาหรือในความควบคุมของทางราชการการอ้างภาพถ่ายเอกสารลักษณะเช่นนี้เท่ากับเป็นการอ้างสำเนาเอกสารจะต้องมีบุคคลดังที่ระบุไว้ในมาตรา 93(3) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งรับรองถูกต้องแล้วจึงจะรับฟังได้ก็ตาม แต่ตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งตามมาตรา 125 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของคู่ความฝ่ายที่ถูกอีกฝ่ายหนึ่งอ้างอิงเอกสารมาเป็นพยานหลักฐานยันตน จะต้องคัดค้านการอ้างเอกสารหรือความถูกต้องสำเนาเอกสารก่อนวันสืบพยานหรือก่อนศาลพิพากษา แล้วแต่กรณีแต่โจทก์ก็มิได้คัดค้านว่าต้นฉบับเอกสารไม่มี หรือเอกสารนั้นปลอมหรือสำเนาไม่ถูกต้องภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ดังนั้น ศาลภาษีอากรกลางย่อมมีอำนาจรับฟังสำเนาพยานเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 70 ถึงแผ่นที่179 แทนต้นฉบับได้ ไม่ใช่เป็นการรับฟังพยานหลักฐานที่ฝ่าฝืนกฎหมายอุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่าการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลในปี 2519 และ 2520 เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยได้หักค่าใช้จ่ายให้แก่โจทก์โดยถือเป็นค่าวัสดุก่อสร้างร้อยละ 50 เป็นค่าแรงก่อสร้างร้อยละ 30 รวมเป็นค่าใช้จ่ายร้อยละ 80 โจทก์จะได้กำไรร้อยละ 20 ไม่ถูกต้อง ไม่มีกฎหมายให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานในการประเมินกำหนดต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายสำหรับเงินได้ การประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์ยอมรับข้อเท็จจริงว่าโจทก์มีรายได้จากการประกอบกิจการของโจทก์ โจทก์ย่อมมีเงินได้ที่จะต้องเสียภาษีภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังที่บัญญัติไว้ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 65, 65 ทวิ และ 65 ตรี เมื่อโจทก์ไม่มีหลักฐานใดมาแสดงว่าเป็นรายจ่ายของโจทก์ จึงต้องถือว่าโจทก์มีเงินกำไรสุทธิที่จะต้องเสียภาษีตามจำนวนที่เป็นรายรับของโจทก์ การที่เจ้าพนักงานประเมินคำนวณกำไรสุทธิของโจทก์โดยยินยอมให้มีการหักค่าใช้จ่ายด้วยการนำเอาข้อมูลจากกรมโยธาธิการที่เป็นหน่วยงานที่ควบคุมงานก่อสร้างสถานที่ราชการที่โจทก์ดำเนินการ ซึ่งจะต้องมีค่าใช้จ่ายเป็นค่าแรงก่อสร้างเอกสารหมาย ล.16 มาเป็นแนวทางตรวจสอบกิจการก่อสร้างของโจทก์แล้วคำนวณกำไรสุทธิด้วยการหักค่าใช้จ่ายให้แก่โจทก์เป็นค่าวัสดุก่อสร้างและค่าแรงก่อสร้างรวมจำนวนถึงร้อยละ 80 เอกสารหมาย ล.9 นับว่าเป็นการกระทำโดยมีเหตุสมควรและเป็นธรรมแก่โจทก์ กรณีเช่นนี้เจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจที่จะกระทำได้
ปัญหาคงเหลืออยู่ว่า สมควรจะงดหรือลดเบี้ยปรับเงินเพิ่มให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า ในการตรวจสอบภาษีรายของโจทก์โจทก์มอบอำนาจให้นางสาวสุภาวดีมาให้การต่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีจำเลยเพียงครั้งเดียว หลังจากนั้นเจ้าพนักงานประเมินก็ได้มีหนังสือให้จำเลยไปพบพร้อมกับส่งเอกสารให้แก่เจ้าพนักงานประเมินโจทก์ก็เพิกเฉยไม่ได้ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบภาษีของจำเลยแต่อย่างใดต่อมาเมื่อโจทก์ถูกประเมินภาษีก็ไม่ยอมมารับทราบผลการประเมิน กรณีเช่นนี้ย่อมไม่มีเหตุที่จะงดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มให้โจทก์ได้ ข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าโจทก์ไม่ได้ติดต่อกับจำเลยเพราะสถานที่ประกอบการค้าของโจทก์ไม่ได้อยู่ในเขตความรับผิดชอบของสำนักงานภาษีสรรพากรเขตพื้นที่ 8 ทำให้โจทก์ไม่แน่ใจจึงไม่ไปรับทราบผลการประเมินฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share