คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5494/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

อายุความฟ้องคดีอาญาตาม ป.อ. มาตรา 95 ต้องถือตามอัตราโทษของความผิดที่พิจารณาได้ความ เมื่อได้ความเป็นยุติว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 390 ซึ่งมีอายุความฟ้องภายใน 1 ปี ตามมาตรา 95(5) และปรากฏว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้เกิน1 ปี นับแต่วันกระทำผิด ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2529 เวลากลางวัน จำเลยขับรถยนต์โดยสารขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร สาย 76 ไปตามถนนธนบุรีปากท่อ ด้วยความประมาท เมื่อถึงบริเวณหน้าสมาคมชาวโพธิ์ทองขณะนั้นรถจำเลยอยู่ในช่องเดินรถซ้ายสุด มีรถยนต์บรรทุกสิบล้อ 1 คันอยู่หน้ารถจำเลย และมีรถยนต์แท็กซี่อยู่ในช่องเดินรถด้านขวาขับไปในทิศทางเดียวกัน จำเลยได้ขับรถแซงรถบรรทุกสิบล้อ แต่แซงไม่พ้น หน้ารถจำเลยจึงเฉี่ยวชนประตูหลังข้างซ้ายรถยนต์แท็กซี่อย่างแรง ทำให้รถยนต์แท็กซี่เสียการทรงตัวพลิกคว่ำตกลงไปในคูน้ำข้างถนนด้านซ้าย เป็นเหตุให้นางสาวสุจินตนา สุนทรางศรัย และนางสาวสุกัญญา วงศ์สุภา ซึ่งโดยสารมาในรถยนต์แท็กซี่ รับอันตรายสาหัสหน้าเสียโฉมอย่างติดตัว เหตุเกิดที่แขวงจอมทอง เขตบางขุนเทียนกรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 ลงโทษจำคุก 1 เดือน ปรับ 1,000 บาทให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 2 ปี ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 โจทก์ฟ้องเกิน 1 ปี นับแต่วันกระทำผิด คดีขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95(5)สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(6) พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว มีข้อวินิจฉัยตามที่โจทก์ฎีกาว่า อายุความฟ้องจะต้องพิจารณาจากข้อหาหรือฐานความผิดที่โจทก์ฟ้อง หรือพิจารณาจากข้อหาหรือฐานความผิดที่ศาลฟังลงโทษโดยโจทก์เห็นว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีอายุความคดีนี้มี 10 ปี แม้ศาลชั้นต้นจะฟังลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 ก็หาทำให้คดีของโจทก์ขาดอายุความไม่เพราะโจทก์ฟ้องจำเลยภายในอายุความที่จำเลยถูกกล่าวหาแล้วนั้นพิเคราะห์แล้ว หากจะถืออายุความจากข้อหาหรือฐานความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยอาจไม่ได้รับความเป็นธรรมและอาจทำให้มีการฟ้องในข้อหาที่มีอัตราโทษสูงกว่าที่ได้กระทำผิดจริงเหตุดังกล่าวอาจทำให้เป็นการขยายอายุความฟ้องคดีอาญา ซึ่งจะเป็นโทษต่อจำเลย ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า อายุความฟ้องคดีอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 ต้องถือตามอัตราโทษของความผิดที่พิจารณาได้ความคดีนี้ได้ความเป็นที่ยุติว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 ซึ่งมีอายุความฟ้องภายใน1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95(5) เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้เกิน 1 ปี นับแต่วันกระทำความผิดฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ
พิพากษายืน.

Share