คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5476/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้ จ. โดยให้ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดก ในพินัยกรรมมีการกรอกข้อความในช่องทรัพย์สินระบุเฉพาะทรัพย์สินที่มีอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ไม่ได้ระบุถึงทรัพย์สินที่มีอยู่ในประเทศไทย ทั้งหลังคำว่าอื่น ๆ ก็เว้นว่างไว้ แสดงว่าผู้ตายประสงค์จะยกทรัพย์สินเฉพาะที่ระบุในพินัยกรรมให้ จ. เท่านั้น ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกผู้ตายตามคำสั่งศาลสูงของมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกาจึงไม่มีส่วนได้เสียที่จะขอให้ถอนผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จัดการทรัพย์มรดกในประเทศไทยของผู้ตาย.

ย่อยาว

ผู้คัดค้านยื่นคำร้องว่า ผู้ตายเป็นคนสัญชาติไทยเดินทางไปอยู่มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทำพินัยกรรมแบบเขียนเองยกทรัพย์มรดกให้นายจอห์น เอแฮนสัน แต่เพียงผู้เดียว โดยกำหนดให้ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดก ต่อมาผู้ตายกลับมาอยู่ประเทศไทยแล้วถูกคนร้ายฆ่าตาย ศาลได้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกผู้ตาย ผู้ร้องได้โอนที่ดินพร้อมบ้านที่จังหวัดนนทบุรีเป็นของผู้ร้อง ส่วนผู้คัดค้านได้รับการแต่งตั้งจากศาลสูงมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ห้เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายเช่นกัน ผู้ร้องไม่ได้เป็นทายาท ไม่มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกเพราะถูกผู้ตายตัดจากการเป็นทายาทโดยพินัยกรรมอีกทั้งละเลยไม่กระทำการตามหน้าที่ผู้จัดการมรดก ขอให้ถอนผู้ร้องและตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้ร้องยื่นคำคัดค้านว่า พินัยกรรมที่ผู้ตายทำขึ้นมีผลผูกพันเฉพาะทรัพย์สินของผู้ตายที่อยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของผู้คัดค้าน
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1727บัญญัติว่า “ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดก เพราะเหตุผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำการตามหน้าที่หรือเพราะเหตุอย่างอื่นที่สมควรก็ได้…..” ซึ่งหมายความว่าผู้ที่จะร้องขอให้ถอนผู้จัดการมรดกได้จะต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ปรากฏข้อเท็จจริงแล้วว่า ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายซึ่งได้รับการตั้งโดยศาลสูงของมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ส่วนผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายที่ได้รับการตั้งจากศาลชั้นต้น มรดกที่จัดการก็เป็นที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในประเทศ สำหรับมรดกที่ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการนั้นเป็นทรัพย์ตามพินัยกรรมเอกสารหมาย ค.2ซึ่งผู้ตายได้นำเอาแบบพิมพ์ที่ใช้สำหรับกรอกข้อความและตอบคำถามต่าง ๆ เพื่อที่จะให้ผู้อื่นนำไปร่างพินัยกรรมอีกต่อหนึ่งมาใช้ทำเป็นพินัยกรรม โดยขีดฆ่าข้อความตอนขึ้นต้นที่ระบุเนื้อความดังกล่าวออก แล้วเขียนข้อความใหม่แทนว่า “รายการต่อไปนี้เป็นพินัยกรรมของข้าพเจ้าที่มีผลผูกพันตามกฏหมาย” จากนั้นผู้ตายก็กรอกข้อความลงในช่องว่างในหัวข้อรวม 24 หัวข้อ เป็นการเติมข้อความบ้างและตอบคำถามบ้างจากข้อ 1 ถึงข้อ 7 เป็นเรื่องรายละเอียดส่วนตัวเช่น ชื่อ วันเดือนปีเกิด นายจ้างคนปัจจุบันกรมธรรม์ที่นายจ้างทำให้และกรมธรรม์อื่น ๆ ข้อ 8 ทรัพย์สินและราคา ข้อ 9 ทรัพย์สินใด (ตามบัญชีในข้อ 8) ที่แยกคือกรรมสิทธิ์ ข้อ 10 เป็นหนี้สิน ข้อ 11 ชื่อและวันเกิดของคู่สมรสและบุตรข้อ 12 บุคคลหรือสถาบันที่จะรับผลประโยชน์และส่วนที่จะได้รับของแต่ละราย ข้อ 13 ส่วนที่เหลือ(จากที่ให้ไว้ข้างบน) ข้อ 14 ผู้รับผลประโยชน์ทั้งหมดจะได้รับส่วนแบ่งเมื่อข้าพเจ้าตาย ยกเว้นบุคคลดังต่อไปนี้ ซึ่งจะยังไม่ได้รับส่วนแบ่งจนกว่าจะบรรลุนิติภาวะหรือด้วยเงื่อนไขอื่นใด สำหรับทรัพย์สินและราคาในข้อ 8 นั้น ตามแบบพิมพ์จัดแยกประเภทเอาไว้แล้วคือ ที่ดิน หุ้น พันธบัตรและการลงทุน บัญชีลูกหนี้ บัญชีเช็ค บัญชีสะสม สังหาริมทรัพย์อื่น ๆ เครื่องเรือน เครื่องเพชร แสตมป์ เหรียญฯลฯ วัตถุโบราณ รถยนต์ และสุดท้าย อื่น ๆ ซึ่งผู้ตายได้กรอกข้อความในช่องประเภททรัพย์สินต่าง ๆ ทุกช่อง ส่วนในช่องบัญชีลูกหนี้กับวัตถุโบราณ กรอกว่า “ไม่มี” และสำหรับช่องสุดท้ายที่ว่า”อื่น ๆ ” นั้น ว่างไว้ไม่ได้กรอกข้อความใด ๆ ในข้อ 12 บุคคลหรือสถาบันที่จะได้รับผลประโยชน์ และส่วนที่ได้รับของแต่ละรายได้ระบุว่า”จอห์นเอแฮนสัน และทรัพย์ที่ได้รับระบุว่า “ทั้งหมด” เช่นนี้เห็นว่า เมื่อตามพินัยกรรมเอกสารหมาย ค.2 ได้ระบุทรัพย์สินไว้มากมายหลายประเภท และผู้ตายก็ได้กรอกข้อความลงไปตามนั้น แต่ว่างเว้นไม่กรอกข้อความในช่อง “อื่น ๆ” แสดงว่าทรัพย์สินที่ผู้ตายประสงค์จะยกให้แก่นายจอห์น เอแฮนสัน มีอยู่เพียงเท่านั้น เพราะหากผู้ตายประสงค์จะให้ทรัพย์สินอื่นใดทั้งหมดตกแก่บุคคลดังกล่าวก็ย่อมจะกรอกลงไปในพินัยกรรมได้ หรือกรอกลงในช่อง “อื่น ๆ” ก็ได้ การที่ผู้ตายมิได้กรอกข้อความในช่อง “อื่น ๆ” ว่า “ไม่มี” ย่อมแสดงว่าตามความเป็นจริงแล้วผู้ตายยังมีทรัพย์สินอื่น ๆ อยู่อีก แต่ผู้ตายไม่ประสงค์ที่จะทำพินัยกรรม และจะแปลความตามที่ผู้คัดค้านอ้างว่าเมื่อผู้ตายมิได้กรอกคำว่า “ไม่นำมาใช้” ในช่องต่อจากคำว่า “อื่น ๆ”แสดงว่าทรัพย์ในพินัยกรรมรวมทรัพย์อื่น ๆ ด้วย ก็ไม่ได้ เพราะข้อความในข้อ 8 เป็นเรื่องที่จะต้องกรอกระบุทรัพย์สินที่ต้องการจะทำพินัยกรรม จะกรอกว่า “ไม่นำมาใช้” เหมือนในบางข้อไม่ได้ เพราะเนื้อความต่างกัน และความหมายจะไม่สอดคล้องกัน ฉะนั้น ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จังหวัดนนทบุรีจึงอยู่นอกพินัยกรรมเอกสารหมาย ค.2ที่ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดก เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้คัดค้านจึงไม่มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดก
พิพากษายืน.

Share