คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5327/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ส่งมอบสินค้าให้กรมจำเลยก่อนครบกำหนดตามสัญญา จำเลยยอมรับสินค้าไว้เพื่อทำการตรวจสอบ แต่มิได้แจ้งผลการตรวจสอบให้โจทก์ทราบตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ ซึ่งบัญญัติไว้สอดคล้องกับระเบียบจำเลยว่าด้วยการบริหารงานด้านพัสดุ ที่ให้คณะกรรมการตรวจรับพัสดุ ที่ซื้อทำการตรวจรับให้เสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุด หากผู้ขายส่งพัสดุ ไม่ถูกต้องตามสัญญา ให้คณะกรรมการตรวจรับพัสดุ รีบรายงานผู้ซื้อเพื่อแจ้งให้ผู้ขายทราบใน 3 วันทำการนับแต่วันที่ตรวจพบ แต่จำเลยหาได้ปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าวนั้นไม่การที่โจทก์ส่งมอบสินค้าที่ถูกต้องตามสัญญาล่าช้าเกินกำหนดอายุสัญญาจึงเกิดจากความล่าช้าในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของจำเลยเอง จะถือว่าโจทก์ส่งมอบสินค้าให้จำเลยล่าช้าและผิดสัญญาหาได้ไม่ จำเลยไม่มีสิทธิปรับโจทก์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซื้ออะไหล่เครื่องยนต์จำนวน 90 ชุด หัวฉีดจากโจทก์ โจทก์ได้ส่งมอบสินค้าดังกล่าวให้จำเลยครบถ้วนตามสัญญาแล้วจำเลยชำระเงินบางส่วนแก่โจทก์เป็นเงิน 19,000 บาท คงค้างชำระอีก 86,400 บาท ขอให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ส่งมอบหัวฉีดจำนวน 100 ชิ้นถูกต้องตามสัญญา แต่ลูกสูบจำนวน 90 ชุด ที่โจทก์ส่งมอบมีลักษณะแตกต่างจากลูกสูบที่ผลิตจากบริษัทดูราลัว ประเทศอิตาลี จำเลยจึงมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ส่งลูกสูบที่ถูกต้องตามสัญญาให้แก่จำเลย และจะปรับโจทก์เป็นรายวันตามสัญญา โจทก์นำลูกสูบที่ถูกต้องตามสัญญาจำนวน 90 ชุด มาส่งมอบให้จำเลยเมื่อพ้นกำหนดตามสัญญา อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามสัญญา ทำให้จำเลยเสียหาย คิดเป็นเงินค่าปรับ 52,012.80บาท จำเลยได้แจ้งให้โจทก์หักกลบลบหนี้กับเงินค่าลูกสูบจำนวน86,400 บาท ที่จำเลยจะต้องชำระให้โจทก์ แต่โจทก์เพิกเฉย จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ต้องชำระเงินค่าลูกสูบแก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง และบังคับให้โจทกชำระเงินค่าปรับจำตวนดังกล่าวแก่จำเลย พร้อมดอกเบี้ย
โจทก์ใไ้การแก้ฟ้องแย้งว่า การส่งมอบอะไหล่ตามสัญญาซื้อขายมิได้ระบุบังคับเป็นเงื่อนไขให้โจทก์ต้องแสดงถิ่นกำเนิดของลูกสูบจำเลยไม่มีสิทธิรับเงินค่าปรับและดอกเบี้ยจากเงินค่าปรับจากโจทก์เพราะเงินที่จะต้องชำระยังอยู่ในความครอบครองของจำเลยมีจำนวนล้ำจำนวนที่จำเลยเรีกยร้องเอาจากโจทก์ ขอให้ยกฟ้องแย้ง
จำเลยขอให้เรียกนายอุดม ประชากริช หุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์เข้ามาเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต โจทก์ร่วมขอถือเอาคำฟ้องและคำให้การแก้ฟ้องแย้งของโจทก์เป็นคำคู่ความของโจทก์ร่วมด้วย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงินจำนวน 86,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้โจทก์และโจทก์ร่วมใช้ค่าปรับแก่จำเลยจำนวน52,012.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ส่งมอบลูกสูบให้จำเลยครั้งแรกยังไม่ถูกต้องตามสัญญา แต่จำเลยไม่ได้แจ้งให้โจทก์ทราบ แต่เมื่อโจทก์ส่งมอบลูกสูบให้จำเลยใหม่ถูกต้องตามสัญญา ตามปกติจำเลยจะต้องชำระราคาสินค้าให้โจตทก์ภายในเวลาไม่เกิน 2 สัปดาห์ ซึ่งจำเลยไม่ชำระให้โจทก์จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดและต้องชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นไป พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินให้โจทก์และโจทก์ร่วมจำนวน 86,400 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 5 เมษายน 2527 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย มีโจทก์ร่วมเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2526 จำเลยได้ทำสัญญาซื้ออะไหล่เครื่องยนต์สูบน้ำ วี.เอ็ม. จากโจทก์รวม 2รายการ คือ ลูกสูบขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 105 มิลลิเมตร ยี่ห้อดุราลัวผลิตจากประเทศอิตาลี จำนวน 90 ชุด ราคาชุดละ 960 บาท เป็นเงิน86,000 บาท และหัวฉีดยี่ห้อโบสิโอ ผลิตจากประเทศอิตาลี จำนวน100 ชิ้น ราคาชิ้นละ 190 บาท เป็นเงิน 19,000 บาท รวมเป็นเงิน105,400 บาท กำหนดส่งมอบสินค้าทั้ง 2 รายการ ภายใน 30 วัน นับแต่วันทำสัญญา คือภายในวันที่ 26 พฤษภาคม 2526 โจทก์ได้นำสินค้าทั้ง2 รายการไปส่งมอบให้จำเลยในวันที่ 16 พฤษภาคม 2526 สำหรับหัวฉีดจำนวน 100 ชิ้น คณะกรรมการตรวจรับพัสดุของจำเลยได้ตรวจแล้วเห็นว่าถูกต้องตามสัญญาจึงได้รับหัวฉีดดังกล่าว และจำเลยได้จ่ายเงินค่าหัวฉีดจำนวนเงิน 19,000 บาท ให้โจทก์รับไปแล้ว ส่วนลูกสูบจำนวน 90 ชุด คณะกรรมการตรวจรับพัสดุให้โจทก์ออกหนังสือรับรองว่าลูกสูบที่โจทก์ส่งให้จำเลยเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2526นั้นถูกต้องตามสัญญา โจทก์จึงออกหนังสือรับรองให้คณะกรรมการตรวจรับพัสดุจึงได้รับลูกสูบดังกล่าวไว้เพื่อทำการตรวจสอบ โดยได้บันทึกการรับมอบไว้ในใบส่งของด้วย ต่อมาวันที่ 22 สิงหาคม 2526จำเลยมีหนังสือถึงโจทก์แจ้งว่าโจทก์ผิดสัญญาเพราะกำหนดเวลาที่ให้โจทก์ส่งมอบสินค้าที่ซื้อได้ล่วงเลยไปแล้ว โจทก์ยังไม่ได้ส่งมอบสินค้าให้จำเลยตามสัญญา วันที่ 30 สิงหาคม 2526 โจทก์ได้มีหนังสือตอบจำเลยว่าโจทก์ได้ส่งมอบสินค้าให้จำเลยแล้วและคณะกรรมการตรวจรับพัสดุของจำเลยได้ตรวจรับสินค้าไว้แล้ว แต่โจทก์ยังไม่ได้รับเงินค่าสินค้า วันที่ 12 ตุลาคม 2526 จำเลยมีหนังสือเตือนให้โจทก์ส่งมอบสินค้าอีก วันที่ 18 ตุลาคม 2526 โจทก์มีหนังสือตอบจำเลยว่าได้ส่งสินค้าให้ถูกต้องตามสัญญาแล้วแต่ยังไม่ได้รับเงินค่าสินค้าจำเลยจึงจ่ายเงินค่าสินค้ารายการหัวฉีด จำนวน 19,000 บาทให้โจทก์ แต่ยังไม่ได้จ่ายเงินค่าสินค้ารายการลูกสูบให้โจทก์ต่อมาเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2527 โจทก์ได้จัดส่งลูกสูบชุดใหม่ให้จำเลยอีก 90 ชุด จำเลยได้ตรวจรับลูกสูบชุดใหม่ไว้ แต่จำเลยยังไม่ได้จ่ายเงินค่าลูกสูบให้โจทก์ จนกระทั่งวันที่ 23 พฤษภาคม2527 จำเลยได้มีหนังสือถึงโจทก์แจ้งว่าโจทก์ส่งของให้จำเลยครบถ้วนแล้วเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2527 แต่โจทก์ส่งสินค้าเกินกำหนดอายุสัญญาไป 301 วัน ต้องเสียค่าปรับเป็นเงิน 52,012.80 บาท ให้โจทก์ไปติดต่อดำเนินการเรื่องค่าปรับ โจทก์ได้มีหนังสือโต้แย้งการปรับของจเลยไว้ และข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยที่โจทก์มิได้ฎีกาว่า ลูกสูบชุดแรก จำนวน 90 ชุดที่โจทก์ส่งมอบให้จำเลยครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2526ไม่ถูกต้องตามทำสัญญา แล้ววินิจฉัยว่า
“พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาข้อแรกของจำเลยว่า โจทก์โจทก์ร่วม หรือจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา เห็นว่าแม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าลูกสูบจำนวน 90 ชุด ที่โจทก์ส่งมอบให้จำเลยครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2526 จะเป็นลูกสูบที่ไม่ถูกต้องตามสัญญาก็ตาม จำเลยก็ไม่ได้นำสืบว่าโจทก์รู้ดีอยู่แล้วว่าลูกสูบดังกล่าวเป็นลูกสูบที่ไม่ถูกต้องตามสัญญาแล้วโจทก์ยังขืนนำมาส่งมอบให้แก่จำเลย ข้อเท็จจริงกลับได้ความว่า จำเลยมีความสงสัยว่าลูกสูบดังกล่าวเป็นลูกสูบที่ไม่ถูกต้องตามสัญญาจึงได้ทำบันทึกไว้ในใบส่งของว่า ผู้ซื้อได้รับลูกสูบไว้เพื่อตรวจสอบเท่านั้น มิใช่รับไว้เพราะลูกสูบทั้ง 90 ชุด ถูกต้องตามสัญญาแล้วนอกจากนี้จำเลยยังได้ขอให้โจทก์ทำหนังสือรับรองว่าลูกสูบทั้งหมดถูกต้องตามสัญญาด้วย ดังนั้น จำเลยจึงมีหน้าที่ตรวจสอบแล้วแจ้งให้โจทก์ทราบว่าลูกสูบที่โจทก์ส่งมอลและจำเลยรับไว้ตรวจสอบดังกล่าวถูกต้องตามสัญญาหรือไม่ เพื่อโจทก์จะได้จัดการหามาเปลี่ยนหรือแก้ไขให้ถูกต้องตามข้อสัญญา แต่หลังจากโจทก์ได้ส่งมอบลูกสูบให้จำเลยและทำหนังสือรับรองให้แล้วตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2526จำเลยก็ไม่ได้แจ้งผลการตรวจสอบให้โจทก์ทราบว่าลูกสูบที่โจทก์ส่งมอบถูกต้องตามสัญญาหรือไม่ เพราะเหตุใด จนกระทั่งวันที่ 22 สิงหาคม2526 จำเลยได้มีหนังสือถึงโจทก์ความว่า บัดนี้ได้เกินกำหนดอายุสัญญาแล้ว แต่โจทก์ยังไม่ส่งของให้จำเลยอันเป็นการผิดสัญญาโดยจำเลยไม่ได้บอกว่าลูกสูบที่จำเลยรับไว้ตรวจสอบนั้นไม่ถูกต้องอย่างไร โจทก์ก็ยังคงยืนยันว่าโจทก์ส่งลูกสูบให้จำเลยแล้ว และคณะกรรมการตรวจรับพัสดุได้ตรวจรับไว้แล้ว หลังจากได้รับหนังสือตอบของโจทก์ดังกล่าวเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2526 แล้ว แทนที่จำเลยจะมีหนังสือชี้แจงต่อโจทก์ว่าสินค้าของโจทก์ไม่ถูกต้องอย่างไร จำเลยกลับมีหนังสือฉบับลงวันที่ 12 ตุลาคม 2526 เตือนให้โจทก์ส่งของตามสัญญาและให้นำค่าปรับมาชำระให้จำเลยอีก ซึ่งโจทก์ก้ได้ทำหนังสือฉบับลงวันที่ 18 ตุลาคม 2526 ตอบยืนยันต่อจำเลยว่าโจทก์ได้ส่งสินค้าให้จำเลยถูกต้องตามสัญญาแล้ว แสดงว่าโจทก์ก็ยังไม่ทราบอยู่ดีว่าลูกสูบที่โจทก์ส่งมอบแก่จำเลยไม่ถูกต้องตามสัญญาอย่างไรจนกระทั่งถึงวันที่ 22 มีนาคม 2527 โจทก์จึงได้จัดส่งลูกสูบชุดใหม่ให้จำเลยอีก 90 ชุด ซึ่งโจทก์ให้เหตุผลว่าเพื่อตัดความรำคาญซึ่งศาลฎีกาเห็นว่าเป็นเหตุผลที่รับฟังได้ และจำเลยก็ได้ยอมรับลูกสูบชุดใหม่นี้ว่าถูกต้องตามสัญญา การที่โจทก์ส่งมอบลูกสูบที่ถูกต้องตามสัญญาล่าช้าเกินกำหนดอายุสัญญาไปดังกล่าวเกิดจากความล่าช้าในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของจำเลยเอง ทั้งนี้เพราะตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2521 ข้อ 48บัญญัติไว้ว่า การตราจรับพัสดุ ให้คณะกรรมการตรวจรับพัสดุที่ซื้อทำการตรวจรับให้เสร็จสิ้นไปโดยเร็วที่สุด หากผู้ขายส่งพัสดุไม่ถูกต้องตามสัญญา ให้คณะกรรมการตรวจรับพัสดุรีบรายงานผู้ซื้อเพื่อแจ้งให้ผู้ขายทราบภายใน 3 วันทำการ นับแต่วันที่ตราจพบนอกจากนี้ระเบียบกรมชลประทานว่าด้วยการบริหารงานด้านพัสดุพ.ศ. 2522 ข้อ 91 ยังได้บัญญัติไว้สอดคล้องกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2521 ดังกล่าวอีกด้วยว่า”…การตรวจรับพัสดุและงานจ้างจะต้องดำเนินไปต่อหน้าผู้แทนผู้ขาย หรือผู้รับจ้างทุกคราวไป… หากการตรวจรับจะต้องดำเนินไปล่าช้าเกินเวลาอันสมควร ให้รายงานผลการตรวจรับให้ผู้ซื้อทราบโดยเร็ว โดยชี้แจงเหตุผลไว้ด้วย…” แต่จำเลยหาได้ปฏิบัติตามระเบียบทั้ง 2 ระเบียบนั้นไม่ ดังนั้นจะถือว่าโจทก์ส่งมอบลูกสูบให้จำเลยล่าช้าเกินกำหนดอายุสัญญา และโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาหาได้ไม่ จำเลยจึงไม่มีสิทธิปรับโจทก์ตามสัญญาข้อ 9 ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว
สำหรับฎีกาข้อที่ 2 ของจำเลยที่ฎีกาว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาจำเลยไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดนัดอันจะต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์โจทก์จึงควรมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากจำนวนเงินค่าสินค้า จำนวน 86,400 บาท นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 12พฤศจิกายน 2527) เป็นต้นไปนั้น เห็นว่า เมื่อศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ข้างต้นแล้วว่า โจทก์มิใช่เป็นฝ่ายผิดสัญญา ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่าจำเลยได้รับมอบลูกสูบจำนวน 90 ชุด ไว้ถูกต้องตามสัญญาแล้วตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม 2527 ซึ่งจำเลยมีหน้าที่ที่จะต้องชำระราคาค่าลูกสูบให้แก่โจทก์ภายในเวลาอันสมควร ซึ่งศาลอุทธรณ์ได้หยิบยกเหตุผลขึ้นวินิจฉัยไว้โดยละเอียดแล้วว่า โจทก์จะต้องได้รับเงินจากจำเลยภายในเวลาไม่เกิน 2 สัปดาห์ คือในวันที่ 5 เมษายน 2527นั้นชอบด้วยเหตุผลแล้ว…”
พิพากษายืน.

Share