คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4481/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กฎหมายล้มละลายเพียงบัญญัติมิให้บุคคลที่ถูกพิทักษ์ทรัพย์ ดำเนินคดีในทางแพ่งด้วยตนเอง แต่ไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติว่าบุคคลที่ถูกพิทักษ์ทรัพย์ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เข้ามาดำเนินคดีในทางอาญาแทนบุคคลที่ถูกพิทักษ์ทรัพย์ โดยเฉพาะกฎหมายล้มละลายมิได้คุ้มครองให้ผู้กระทำผิดอาญา นั้นพ้นผิดไปด้วย จำเลยได้ร่วมสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ และธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คโดยการกระทำผิดของจำเลยเกิดขึ้นก่อนจะถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ไม่เกี่ยวข้องกับ การถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในภายหลัง ดังนี้ แม้ในการ ต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์จำเลยไม่มีเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เข้ามาดำเนินคดีแทน การดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นอุทธรณ์ ก็ชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 สามกระทง ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 กระทงละ 30,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละ 1 ปี รวมปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 90,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 3 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 45,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี 6 เดือน ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดกระทงแรกให้วางโทษปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 30,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2มีกำหนด 1 ปี กระทงที่สองปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 22,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 9 เดือน กระทงที่สามปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 20,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 8 เดือน รวมปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 72,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี 5 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว คงปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 36,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี 2 เดือน 15 วัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยที่ 2 เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ ล.9/2541 ของศาลจังหวัดสุรินทร์ จำเลยที่ 2 จึงไม่อาจชำระหนี้ตามเช็คแก่โจทก์ในคดีนี้ได้ เพราะการต่อสู้คดีนี้ต้องให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้ามาดำเนินคดีแทนตั้งแต่ชั้นอุทธรณ์ แต่ไม่มีเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้ามาดำเนินคดีแทนจำเลยที่ 2 การดำเนินกระบวนพิจารณาตั้งแต่ชั้นอุทธรณ์เป็นต้นมาจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นเห็นว่า ตามหลักกฎหมายล้มละลายเพียงบัญญัติมิให้บุคคลที่ถูกพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินคดีในทางแพ่งด้วยตนเอง แต่ไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติว่าบุคคลที่ถูกพิทักษ์ทรัพย์ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้ามาดำเนินคดีในทางอาญาแทนบุคคลที่ถูกพิทักษ์ทรัพย์ โดยเฉพาะกฎหมายล้มละลายมิได้คุ้มครองให้ผู้กระทำผิดอาญานั้นพ้นผิดไปด้วยประกอบกับจำเลยที่ 2 ได้ร่วมสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสามฉบับให้โจทก์เพื่อชำระหนี้เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2540 และธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเช็คทั้งสามฉบับเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2540 แต่จำเลยที่ 2 ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2541การกระทำผิดของจำเลยที่ 2 ในคดีนี้เกิดขึ้นก่อนจะถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดไม่เกี่ยวข้องกับการถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในภายหลังแต่อย่างใด การดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นอุทธรณ์เป็นต้นมาจึงชอบแล้ว
แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วางโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มานั้นหนักเกินควร เห็นสมควรวางโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ให้เหมาะสมเสียใหม่
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้วางโทษจำคุกจำเลยที่ 2 กระทงแรก 7 เดือน กระทงที่สอง 5 เดือน และกระทงที่สาม 4 เดือน รวมจำคุก 16 เดือน ลดโทษให้จำเลยที่ 2 กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 8 เดือน สำหรับจำเลยที่ 1 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 แต่ประการเดียว นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share