แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หนังสือมอบอำนาจให้รับเงินแทนและใบรับเงินของผู้ซ่อมรถเป็นตราสารที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องปิดอากรแสตมป์ ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายหมวด 6 แห่งประมวลรัษฎากรข้อ 6 และ ข้อ 28ตามลำดับ แม้เอกสารดังกล่าวมิได้ปิดอากรแสตมป์ก็นำมารับฟังประกอบพยานบุคคลว่ามีการจ่ายเงินแล้วได้ เงื่อนไขตามสัญญาประกันภัยเป็นข้ออ้างของคู่สัญญาที่จะปฏิบัติต่อกันหรือลดหย่อนผ่อนกันได้โดยหลักประนีประนอม คู่กรณีเท่านั้นที่จะยกเป็นข้อต่อสู้ระหว่างกัน บุคคลอื่นหา ยก ขึ้นกล่าวอ้างได้ไม่ จำเลยซึ่งเป็นผู้ทำละเมิดจึงไม่อาจยกขึ้นต่อสู้ว่าโจทก์ที่ 1 ผู้รับประกันภัยจ่ายค่าทดแทนไปโดยผิดเงื่อนไขในสัญญาประกันภัย เมื่อโจทก์ที่ 1 จ่ายค่าทดแทนไปโดยสุจริตมิได้มีการสมยอมกับผู้เอาประกันภัย ย่อมมีสิทธิเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ของโจทก์ที่ 2 จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 โดยประมาท ชนรถยนต์ของโจทก์ที่ 2 ได้รับความเสียหาย โจทก์ที่ 1 จ่ายค่าซ่อมและค่ายกลากรถยนต์แทนโจทก์ที่ 2 จึงรับช่วงสิทธิมาฟ้องเรียกจากจำเลยทั้งสอง ส่วนโจทก์ที่ 2ขอให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ ค่าเสื่อมสภาพค่าเสียหายที่เกิดขึ้นกับสินค้าและค่าผ้าใบคลุมรถพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่า เหตุเกิดจากความประมาทของคนขับรถของโจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 1 ไม่อาจรับช่วงสิทธิมาฟ้องเรียกจากจำเลยที่ 2 เพราะมีการผิดเงื่อนไขในสัญญาประกันภัยข้อ 3.7.3,3.7.4 และ 3.8 ค่าเสียหายไม่ถึงที่ฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 41,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ที่ 1 และชำระเงินจำนวน 25,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ที่ 2
จำเลยที่ 1 ที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิรับช่วงสิทธิจากโจทก์ที่ 2 เพราะพยานโจทก์ในเรื่องการจ่ายเงิน คือหนังสือมอบอำนาจให้รับเงินแทนและใบรับเงินของผู้ซ่อมรถ เป็นพยานเอกสาร แต่เป็นเอกสารที่มิได้ปิดอากรแสตมป์ถูกต้องตามกฎหมายรับฟังเป็นพยานไม่ได้ว่าโจทก์ที่ 1 ได้จ่ายเงินไปนั้น เห็นว่าหนังสือมอบอำนาจให้รับเงินแทนและใบรับเงินในกรณีเช่นนี้ เป็นตราสารที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องปิดอากรแสตมป์ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายหมวด 6 แห่งประมวลรัษฎากร ข้อ 7 และข้อ 28ตามลำดับ ทั้งการจ่ายเงินดังกล่าวโจทก์ที่ 1 มีพยานบุคคลฟังได้ว่า โจทก์ที่ 1 ได้จ่ายเงินดังกล่าวไปแล้วจริง ข้อเท็จจริงคงฟังได้ว่าโจทก์ที่ 1 ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนไปแล้ว โจทก์ที่ 1ย่อมมีสิทธิเข้ารับช่วงสิทธิได้ ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์ที่ 1 จ่ายเงินค่าทดแทนไปโดยผิดเงื่อนไขในสัญญาประกันภัยนั้นเห็นว่า เงื่อนไขตามสัญญาประกันภัยเป็นข้ออ้างของคู่สัญญาที่จะปฏิบัติต่อกัน หรือลดหย่อนผ่อนกันได้โดยหลักประนีประนอม คู่กรณีเท่านั้นที่จะยกเป็นข้อต่อสู้ระหว่างคู่กรณีด้วยกัน บุคคลอื่นหายกขึ้นกล่าวอ้างได้ไม่ โจทก์ที่ 1 จ่ายเงินค่าทดแทนไปโดยสุจริตไม่ปรากฏว่าสมยอมกันแต่ประการใด โจทก์ที่ 1 ย่อมมีสิทธิเข้ารับช่วงสิทธิได้
พิพากษายืน.