คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4299/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญากู้เป็นแบบพิมพ์มีสองหน้า ด้านหน้าเป็นแบบพิมพ์สัญญากู้ด้านหลังเป็นแบบพิมพ์สัญญาค้ำประกันเงินกู้ซึ่งไม่มีการกรอกข้อความดังนี้การปิดอากรแสตมป์ที่แบบพิมพ์สัญญาค้ำประกันเป็นการปิดอากรแสตมป์สำหรับสัญญากู้ด้วย เมื่อรวมอากรแสตมป์ที่ปิดด้านหน้าและด้านหลังครบถ้วนตามที่ระบุในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากรแล้ว ย่อมอ้างสัญญากู้ดังกล่าวเป็นพยานได้ โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 และนาง ค. ในฐานะเป็นผู้ร่วมกันกู้เงินโจทก์ ชดใช้เงินกู้ และขอให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 ในฐานะทายาทผู้รับมรดกของนาง ค.รับผิดหนี้เงินกู้ที่นางค. ต้องใช้คืนแก่โจทก์ จำเลยที่ 3 ที่ 4 ให้การว่าลายมือชื่อจำเลยที่ 1ในสัญญากู้ปลอม ดังนี้ไม่เป็นประเด็นข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ที่ 4 เพราะไม่ว่าลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 ในสัญญากู้จะปลอมหรือไม่ก็ไม่เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 ที่ 4 ซึ่งต้องรับผิดในฐานะทายาทของนาง ค. ผู้กู้ร่วม พยานผู้เชี่ยวชาญเป็นพยานแสดงความคิดเห็นตามหลักวิชาการซึ่งปกติศาลก็รับฟังแต่มิใช่ว่าจะต้องเชื่อพยานผู้เชี่ยวชาญเสมอไป คำพยานผู้เชี่ยวชาญจะมีน้ำหนักกว่าประจักษ์พยานหรือไม่ก็ต้องพิจารณาตามรูปเรื่องและต้องอาศัยเหตุผลและพยานหลักฐานอื่นประกอบ ซึ่งผิดกับประจักษ์พยานซึ่งเป็นผู้ได้ยินกับหูเห็นด้วยตาของ ตนเองจึงน่าเชื่อว่าพยานผู้เชี่ยวชาญ โดยเฉพาะการที่อ้างแต่เพียงรายงานผลการตรวจพิสูจน์ของผู้เชี่ยวชาญโดยมิได้นำตัวผู้เชี่ยวชาญมาเบิกความอธิบายประกอบรายงานนั้นว่ามีความเป็นมาอย่างไรกับทั้งทำให้อีกฝ่ายไม่มีโอกาสถามค้านผู้เชี่ยวชาญด้วยดังนี้ ลำพังรายการการตรวจพิสูจน์ดังกล่าวจึงไม่มีน้ำหนักพอที่จะหักล้างประจักษ์พยานอีกฝ่ายได้ สำเนาหนังสือราชการที่เจ้าหน้าที่รับรองความถูกต้อง ซึ่งส่งเข้ามาในคดีตามที่คู่ความอ้างเป็นพยานไว้โดยชอบแล้ว ดังนี้คู่ความที่อ้างไม่จำต้องสืบพยานบุคคลประกอบ สำเนาหนังสือราชการดังกล่าวรับฟังได้เหมือนต้นฉบับ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 93(3) โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 ที่ 4 ในฐานะทายาทโดยธรรมของนาง ค. เจ้ามรดกซึ่งเป็นหนี้เงินกู้โจทก์อยู่และได้ถึงแก่กรรมลง ดังนี้ โจทก์มีเพียงสิทธิเรียกร้องบังคับชำระหนี้เอาจากจำเลยที่ 3 ที่ 4 ได้เท่าที่ไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่จำเลยที่ 3 ที่ 4 ได้รับศาลจึงไม่จำต้องกล่าวไว้ในคำพิพากษาว่าให้จำเลยที่ 3 ที่ 4รับผิดต่อโจทก์ไม่เกินจำนวนทรัพย์มรดกที่ได้รับจากเจ้ามรดกเพราะเป็นเรื่องที่ต้องไปว่ากันในชั้นบังคับคดี.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นทายาทโดยธรรม ผู้รับมรดกของนางคำมี จำเลยที่ 2 เป็นมารดาและเป็นทายาทโดยธรรมผู้รับมรดกของนางคำมี จำเลยที่ 3 ที่ 4 เป็นบุตรและเป็นทายาทโดยธรรมผู้รับมรดกของนางคำมี จำเลยที่ 1 และนางคำมีร่วมกันกู้เงินโจทก์ต่อมานางคำมีถึงแก่ความตาย และครบกำหนดชำระเงินคืนแล้ว ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ เมื่อไม่กล่าวถึงรายละเอียดของดอกเบี้ย ก็ไม่ควรพูดถึงจำนวนเงินพร้อมดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ร่วมกับนางคำมีกู้เงินโจทก์ ลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 ในสัญญากู้เป็นลายมือชื่อปลอม ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ขอสละมรดกของนางคำมีส่วนที่ตกทอดแก่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์526,746 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ของเงินต้น 550,000 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จ
จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ฎีกาว่าสัญญากู้หมาย จ.6 ปิดอากรแสตมป์ไม่ครบกล่าวคือ ขณะที่ทำสัญญากู้ฉบับนี้ตามประมวลรัษฎากรกำหนดว่าต้องปิดอากรแสตมป์ 450 บาทสำหรับเงินกู้จำนวน 450,000 บาท แต่โจทก์ปิดอากรแสตมป์เพียง140 บาท โจทก์จึงไม่อาจใช้สัญญากู้ฉบับดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานในคดีนี้นั้น ศาลฎีกาตรวจดูแล้วปรากฏว่าสัญญากู้หมาย จ.6เป็นแบบพิมพ์มีสองหน้า ด้านหนึ่งเป็นแบบพิมพ์สัญญากู้ที่โจทก์ใช้อ้างเป็นหลักฐานคดีนี้ อีกด้านหนึ่งเป็นแบบพิมพ์สัญญาค้ำประกันเงินกู้ซึ่งไม่มีการกรอกข้อความเอกสารหมาย จ.6 จึงมีสัญญาเพียงฉบับเดียวคือสัญญากู้ และปรากฏว่าโจทก์ได้ปิดอากรแสตมป์ด้านสัญญากู้ 140 บาท ปิดอากรแสตมป์ด้านหลังสัญญากู้ซึ่งเป็นแบบพิมพ์สัญญาค้ำประกันอีก 310 บาท ดังนั้น ถือได้ว่าการปิดอากรแสตมป์สำหรับสัญญากู้อีก 310 บาทดังกล่าวเป็นการปิดอากรแสตมป์สำหรับสัญญากู้เงินรายนี้ด้วย จึงถือได้ว่าสัญญากู้หมาย จ.6 ได้มีการปิดอากรแสตมป์รวม 450 บาท ครบถ้วนบริบูรณ์แล้วตามที่ระบุไว้ในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากรข้อ 5 โจทก์ย่อมใช้สัญญากู้หมาย จ.6 นี้เป็นพยานในคดีนี้ได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118ฎีกาจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ผู้เชี่ยวชาญได้ทำการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อจำเลยที่ 1 ในช่องผู้กู้ในสัญญากู้หมาย จ.6 เปรียบเทียบกับตัวอย่างลายมือชื่อที่แท้จริงของจำเลยที่ 1 แล้วมีความเห็นว่าลายมือชื่อจำเลยที่ 1 ในสัญญากู้หมาย จ.6 น่าจะไม่ใช่ลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 จึงต้องฟังว่าลายมือชื่อจำเลยที่ 1 ในสัญญากู้หมาย จ.6 เป็นลายมือชื่อปลอมนั้น เห็นว่า พยานผู้เชี่ยวชาญนั้นเป็นพยานแสดงความคิดเห็นตามหลักวิชาการซึ่งปกติศาลก็รับฟังแต่มิใช่ว่าจะต้องเชื่อพยานผู้เชี่ยวชาญเสมอไป คำพยานผู้เชี่ยวชาญจะมีน้ำหนักกว่าประจักษ์พยานหรือไม่ก็ต้องพิจารณาตามรูปเรื่องแต่ละคดีซึ่งไม่เหมือนกัน และต้องอาศัยเหตุผลและพยานหลักฐานอย่างอื่นประกอบด้วย แต่หากเปรียบเทียบคำพยานผู้เชี่ยวชาญกับประจักษ์พยานแล้วก็ควรเชื่อประจักษ์พยานยิ่งกว่าคำพยานผู้เชี่ยวชาญที่ทำการพิสูจน์หลักฐาน เพราะประจักษ์พยานเป็นผู้ได้ยินกับหูเห็นด้วยตาของตนเอง โดยเฉพาะกรณีนี้จำเลยที่ 1 เพียงแต่อ้างรายงานผลการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อจำเลยที่ 1 (อยู่ในสำนวนอันดับที่ 92) เท่านั้น โดยมิได้นำตัวผู้เชี่ยวชาญที่ทำการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อจำเลยที่ 1 ดังกล่าวมาเบิกความเพื่ออธิบายในรายละเอียดประกอบรายงานนั้นว่ามีความเป็นมาอย่างไร ทั้งเป็นการไม่ให้โอกาสโจทก์ที่จะถามค้านผู้เชี่ยวชาญด้วย ลำพังแต่เพียงรายงานผลการตรวจพิสูจน์ดังกล่าวย่อมไม่มีน้ำหนักพอที่จะหักล้างประจักษ์พยานโจทก์ดังวินิจฉัยมาแล้วข้างต้น และจำเลยที่ 1 จะให้ถือเอาความเห็นของผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวเป็นข้อชนะคดีก็ไม่ได้เพราะโจทก์จำเลยมิได้ท้ากันหรือตกลงกันตั้งแต่แรกว่าให้ถือเอาความเห็นของผู้เชี่ยวชาญเป็นข้อแพ้ชนะแห่งคดี ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่าลายมือชื่อจำเลยที่ 1 ในช่องผู้กู้ในสัญญากู้หมาย จ.6 เป็นลายมือชื่อที่แท้จริงของจำเลยที่ 1 ชอบแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยลายมือชื่อจำเลยที่ 1 ในสัญญากู้หมาย จ.6 โดยเปรียบเทียบกับลายมือชื่อจำเลยที่ 1 ในหนังสือเรื่องราวขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมและการสอบสวนสิทธิในที่ดินฉบับลงวันที่ 15 มกราคม 2528 และหนังสือสัญญาจำนองที่ดินฉบับลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2528 (อยู่ในสำนวนอันดับที่ 52) แล้วเชื่อว่าลายมือชื่อจำเลยที่ 1 ในสัญญากู้หมาย จ.6 เป็นลายมือที่แท้จริงเป็นการไม่ชอบ เพราะโจทก์ไม่ได้อ้างหนังสือทั้งสองฉบับดังกล่าวไว้เป็นพยานต่อศาล โจทก์เพียงแต่เรียกเข้ามาในคดีโดยไม่ได้นำสืบพยานประกอบนั้น เห็นว่า โจทก์ได้อ้างหนังสือทั้งสองฉบับนี้เป็นพยานไว้ถูกต้องแล้วปรากฏตามบัญชีระบุพยานโจทก์เพิ่มเติมครั้งที่ 1 ฉบับลงวันที่ 26 กันยายน2528 อันดับที่ 6 และ 7 และหนังสือทั้งสองฉบับนี้เป็นหนังสือราชการและอยู่ในความครอบครองของทางราชการ คือที่ว่าการอำเภอเมืองลำพูนที่โจทก์อ้างส่งศาลก็เป็นสำเนาที่เจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93(3) รับรองถูกต้องแล้วจึงรับฟังได้เหมือนต้นฉบับ ฉะนั้นโจทก์จึงไม่จำเป็นต้องสืบพยานบุคคลประกอบ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยโดยนำเอาลายมือชื่อจำเลยที่ 1 ในสัญญากู้หมาย จ.6 เปรียบเทียบกับหนังสือทั้งสองฉบับดังกล่าวจึงเป็นการชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณา ฎีกาจำเลยที่ 1ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ฎีกาข้อสุดท้ายว่า ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์โดยมิได้กำหนดว่าให้รับผิดเพียงเท่าที่จำเลยที่ 3 ที่ 4 ได้รับทรัพย์มรดกของนางคำมีเจ้ามรดก จึงเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่านางคำมีเจ้ามรดกเป็นหนี้เงินกู้โจทก์อยู่และได้ถึงแก่กรรมลง จำเลยที่ 3 ที่ 4 เป็นทายาทโดยธรรมของนางคำมีย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ความรับผิดที่นางคำมีมีต่อโจทก์ โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้กองมรดกมีสิทธิเรียกร้องบังคับเอาชำระหนี้จากทายาทโดยธรรมได้เท่าที่ไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่ทายาทนั้นได้รับ ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1601 ฉะนั้น คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองจึงไม่จำเป็นต้องกล่าวว่าให้จำเลยที่ 3ที่ 4 รับผิดต่อโจทก์ไม่เกินจำนวนทรัพย์มรดกที่จำเลยที่ 3ที่ 4 ได้รับจากนางคำมีเจ้ามรดกเพราะเป็นเรื่องที่จะต้องไปว่ากันในชั้นบังคับคดี ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 3 ที่ 4 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน.

Share