คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4117/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาซื้อขายลดเช็คเป็นสัญญาอย่างหนึ่งซึ่งกฎหมายมิได้กำหนดแบบไว้เมื่อมีการทำกันขึ้นจริง เพียงแต่ลงชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดตามสัญญาเพียงฝ่ายเดียวก็เป็นการเพียงพอแล้ว ดังนั้นสัญญาซื้อขายลดตั๋วเงินที่บริษัทเจ้าหนี้ทำไว้กับบริษัท พ. แม้จะมีชื่อกรรมการบริษัทเจ้าหนี้ผู้ซื้อลดตั๋วเงินเพียงคนเดียวก็มีผลผูกพันบริษัทพ. ผู้ขายลดตั๋วเงินนั้น บริษัท พ.มอบอำนาจให้นางด. ลงนามร่วมกับกรรมการบริหารคนใดคนหนึ่งในสามคน มีนาย ข. นาย ธ.นายฤ. ในเอกสารขายลดเช็คของบริษัท พ. ได้ ดังนี้ เป็นการตั้งตัวแทนเพื่อการขายลดตั๋วเงิน เมื่อกรรมการคนหนึ่งของบริษัท พ. ได้ลงลายมือชื่อร่วมกับนาง ด. ในการเสนอขายลดตั๋วเงินกับบริษัทเจ้าหนี้ การกระทำของตัวแทนจึงมีผลผูกพันบริษัท พ.ซึ่งเป็นตัวการ.

ย่อยาว

คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ไว้เด็ดขาดเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามหนังสือค้ำประกันจำนวน 5,390,342 บาทจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้นัดบรรดาเจ้าหนี้และลูกหนี้ตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 104แล้ว มีนายวิทยา ลูกหนี้โต้แย้ง
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วเห็นควรให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จำนวน 5,386,026.76 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ตามมาตรา 130(8) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483โดยมีเงื่อนไข…
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
ลูกหนี้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ลูกหนี้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีประเด็นจะต้องวินิจฉัยว่าลูกหนี้ในฐานะผู้ค้ำประกันสัญญาซื้อขายลดตั๋วเงินกับเจ้าหนี้จะต้องรับผิดในหนี้ที่บริษัท พี.ที.ไอ จำกัด ขายลดตั๋วเงินไว้กับเจ้าหนี้หรือไม่ปัญหาจะต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า การที่กรรมการบริษัทเจ้าหนี้เพียงคนเดียวลงลายมือชื่อในสัญญาซื้อขายลดตั๋วเงินนั้นจะทำให้สัญญาดังกล่าวไม่สมบูรณ์หรือไม่ เห็นว่า สัญญาซื้อขายลดเช็คเป็นสัญญาอย่างหนึ่งซึ่งกฎหมายมิได้กำหนดแบบไว้ ฉะนั้นสัญญาซื้อขายลดตั๋วเงินที่ทำกันขึ้นจริงเพียงแต่ลงชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดตามสัญญาเพียงฝ่ายเดียวก็เป็นการเพียงพอแล้ว ส่วนการที่กรรมการฝ่ายบริษัทเจ้าหนี้จะลงชื่อในฐานะผู้รับซื้อตั๋วเงินหรือไม่หรือลงชื่อไม่ครบถ้วนก็หาทำให้สัญญาซื้อขายลดตั๋วเงินไม่สมบูรณ์แต่ประการใดไม่สัญญาซื้อขายลดตั๋วเงินที่เจ้าหนี้ทำไว้กับบริษัท พี.ที.ไอ จำกัดตามเอกสารหมาย จ.3 และ จ.11 แม้จะมีชื่อกรรมการบริษัทเจ้าหนี้ผู้ซื้อลดตั๋วเงินเพียงคนเดียวก็มีผลผูกพันบริษัท พี.ที.ไอ. จำกัดผู้ขายลดตั๋วเงิน
ปัญหาต่อไปมีว่า การที่กรรมการบริษัท พี.ที.ไอ จำกัดผู้เดียวลงลายมือชื่อร่วมกับนางดวงเดือน ปรีชานุวัฒนสิริเจ้าหน้าที่คนหนึ่งของบริษัท พี.ที.ไอ. จำกัด มิใช่กรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อในการเสนอขายลดตั๋วเงินตามเอกสารหมาย จ.29/1ถึง 3 และ จ.31/1 ถึง 3 มีผลผูกพันบริษัท พี.ที.ไอ จำกัด หรือไม่เจ้าหนี้นำสืบว่าบริษัท พี.ที.ไอ จำกัด ได้มีหนังสือถึงเจ้าหนี้แจ้งให้ทราบว่า บริษัท พี.ที.ไอ. จำกัด มอบอำนาจให้นางดวงเดือนลงนามร่วมกับกรรมการบริหารคนใดคนหนึ่งในสามคนมีนายชวน คูสมิทธิ์นายธัญญะ สุภัทราวณิชย์ นายฤกษ์ชัย โกมลเกษรักษ์ ในเอกสารขายลดเช็คของบริษัท พี.ที.ไอ จำกัด ได้ หนังสือดังกล่าวได้แนบรายงานการประชุมกรรมการบริษัท พี.ที.ไอ. จำกัด ครั้งที่ 9/2527 มาด้วยปรากฏตามเอกสารหมาย จ.65 เอกสารดังกล่าวแสดงว่ากรรมการบริษัทพี.ที.ไอ จำกัด มอบอำนาจให้นางดวงเดือนลงนามในเอกสารเกี่ยวกับการขายลดตั๋วเงินกับเจ้าหนี้ได้ จึงเป็นการตั้งตัวแทนเพื่อการขายลดตั๋วเงินกับเจ้าหนี้ มีผลผูกพันบริษัท พี.ที.ไอ. จำกัดที่ลูกหนี้อ้างว่าเอกสารซื้อขายลดตั๋วเงินไม่ได้ลงชื่อกรรมการสองนายจึงขัดต่อกฎหมายไม่ผูกพันบริษัท พี.ที.ไอ. จำกัด นั้น เห็นว่ากรรมการมีอำนาจอย่างไรย่อมเป็นไปตามข้อบังคับ แต่ข้อบังคับของบริษัทหรือกฎหมายหาได้ห้ามมิให้บริษัทตั้งตัวแทนเพื่อกิจการของบริษัทอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ การตั้งนางดวงเดือนกับกรรมการคนใดคนหนึ่งทำการขายลดตั๋วเงินให้กับเจ้าหนี้จึงไม่ขัดต่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ได้ และผูกพันบริษัท พี.ที.ไอ. จำกัด ซึ่งเป็นตัวการ
พิพากษายืน.

Share