คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4050/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ความผิดฐานเป็นซ่องโจรจะต้องมีบุคคลตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปคบคิดประชุมหารือร่วมกัน และตกลงกันที่จะกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 แห่ง ป.อ. และความผิดนั้นมีกำหนดโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป ทั้งนี้โดยการประชุมหารือร่วมกันและตกลงกันว่าจะกระทำความผิดอะไรเป็นข้อสาระสำคัญของความผิดฐานเป็นซ่องโจร ได้ความเพียงว่าจำเลยกับพวกร่วมกันฉ้อโกงทรัพย์ผู้เสียหาย โดยใช้เล่ห์เพทุบายในการเล่นการพนันเป็นเหตุให้ผู้เสียหายเป็นฝ่ายเล่นแพ้และเสียทรัพย์พนัน แต่ไม่ได้ความว่าจำเลยกับพวกได้คบคิดร่วมประชุมปรึกษาหารือกันที่ไหนเมื่อใด และได้ตกลงกันจะกระทำความผิดอย่างใดหรือไม่ จึงจะลงโทษจำเลยฐานเป็นซ่องโจรมิได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 210, 341, 33, 83, 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 ริบของกลางและคืนเงินของกลางแก่ผู้เสียหายกับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 210 วรรคแรก ลงโทษจำคุกคนละ 6 เดือน ริบกระดาษสีกับยางรัดและเงินสดจำนวน 830 บาทของกลาง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องข้อหาฐานเป็นช่องโจรเสียด้วย ของกลางไม่ริบ นอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสามได้ร่วมกับพวกกระทำความผิดฐานเป็นซ่องโจรตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 210 บัญญัติว่า “ผู้ใดสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปเพื่อกระทำผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 นี้ และความผิดนั้นมีกำหนดโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นซ่องโจร ฯลฯ” มาตรา 211 บัญญัติว่า “ผู้ใดประชุมในที่ประชุมอั้งยี่หรือซ่องโจร ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่หรือซ่องโจร ฯลฯ” มาตรา 212 บัญญัติว่า “ผู้ใด (1) จัดหาที่ประชุมหรือที่พำนักให้แก่อั้งยี่หรือซ่องโจร ฯลฯ” และมาตรา 213 บัญญัติว่า “ถ้าสมาชิกอั้งยี่หรือพรรคพวกซ่องโจรคนหนึ่งคนใดได้กระทำความผิดตามความมุ่งหมายของอั้งยี่หรือซ่องโจรนั้น สมาชิกอั้งยี่หรือพรรคพวกซ่องโจรที่อยู่ด้วยในขณะกระทำความผิดหรืออยู่ด้วยในที่ประชุมแต่ไม่ได้คัดค้านในการตกลงให้กระทำความผิดนั้นและบรรดาหัวหน้า ผู้จัดการหรือผู้มีตำแหน่งหน้าที่ในอั้งยี่หรือซ่องโจรนั้นต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นทุกคน”จากบทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นสาระสำคัญของความผิดฐานเป็นซ่องโจรว่า จะต้องมีบุคคลตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปคบคิดประชุมหารือร่วมกันและตกลงกันที่จะกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 และความผิดนั้นมีกำหนดโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป เมื่อได้ประชุมตกลงกันดังกล่าวแล้ว แม้จะยังมิได้กระทำความผิดตามที่ตกลงไว้ ผู้ที่เข้าร่วมประชุมก็มีความผิดฐานเป็นซ่องโจรแล้ว หากมีผู้เข้าร่วมประชุมคนใดคนหนึ่งไปกระทำความผิดตามที่ตกลงไว้ ก็เป็นความผิดขึ้นอีกกระทงหนึ่ง ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมประชุมแม้จะไม่ได้ไปเข้าร่วมกระทำผิดก็ต้องมีความผิดด้วยดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 213 แต่ถ้าประชุมปรึกษาหารือกันแล้วไม่เป็นที่ตกลงกันว่าจะกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดแล้วผู้ที่เข้าร่วมประชุมก็หามีความผิดฐานเป็นซ่องโจรไม่ จึงเป็นที่เห็นได้ว่า การประชุมหารือร่วมกันและตกลงกันว่าจะกระทำความผิดอะไรเป็นข้อสาระสำคัญที่จะแสดงให้เห็นว่ามีการกระทำความผิดฐานเป็นซ่องโจรหรือไม่ ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบปรากฏจากคำเบิกความของนายเอนก จันทะโพธิ์ และนางแสงเดือน มังกร ผู้เสียหายประจักษ์พยานโจทก์แต่เพียงว่า ในระหว่างนั่งอยู่บนรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุ จำเลยทั้งสามกับคนโดยสารรถรวมทั้งผู้เสียหายได้เข้าเล่นการพนันโดยวิธีทายสีในแผ่นกระดาษที่โจทก์พยายามนำสืบให้เห็นว่าจำเลยทั้งสามกับพวกได้ร่วมกันฉ้อโกงทรัพย์ผู้เสียหายโดยใช้เล่ห์เพทุบายในการเล่นการพนันเป็นเหตุให้ผู้เสียหายเป็นฝ่ายเล่นแพ้และเสียทรัพย์พนันแก่ฝ่ายจำเลยไปนั้น โจทก์ไม่มีพยานยืนยันได้ว่าจำเลยทั้งสามกับพวกได้คบคิดร่วมกันประชุมปรึกษาหารือกันที่ไหน เมื่อใด และได้ตกลงกันจะกระทำความผิดอย่างใดหรือไม่ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบจึงไม่มีน้ำหนักให้ฟังได้ว่าจำเลยทั้งสามได้ร่วมกับพวกกระทำการเป็นซ่องโจรแต่อย่างใด จึงลงโทษจำเลยทั้งสามฐานนี้ไม่ได้…”
พิพากษายืน.

Share