คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4009/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามสัญญาเช่าที่ดินที่ จ. เจ้าของที่ดินเดิมทำไว้กับโจทก์ผู้เช่าระบุยินยอมให้โจทก์มีสิทธิใช้ประโยชน์เฉพาะภายในเขตทรัพย์สินที่เช่าเท่านั้น มิได้ระบุว่าถ้าผู้เช่าสร้างท่าเทียบเรือ ล่วงล้ำลำน้ำหน้าที่ดินที่เช่า ผู้ ให้เช่าจะต้องยินยอมลงชื่อด้วย ฉะนั้น การที่ จ.ผู้ให้เช่าเดิมยินยอมลงชื่อรับรองโจทก์สร้างท่าเทียบเรือล่วงล้ำลำน้ำหน้า ที่ดินที่เช่าตามใบอนุญาต กรมเจ้าท่าจึงเป็นการกระทำนอกเหนือสัญญาเช่า ไม่ผูกพันจำเลย ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่เช่าจาก จ. และการที่โจทก์ทำคำร้องขอขยายท่าเทียบเรือที่มีขนาดเกินกว่า 500ตันกรอสส์ ก็เป็น การเพิ่มภาระให้จำเลยผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินต้องรับผิดชอบมากขึ้น กว่าความรับผิดตามสัญญาของเจ้าของที่ดินเดิม แม้โจทก์จะมีหนังสือ ถึงจำเลยว่าโจทก์รับเป็นผู้รับผิดชอบเองก็ตาม.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินซึ่งอยู่ติดลำน้ำ โดยในขณะนั้น นายจำรัส สัมฤทธิ์ เป็นเจ้าของ คือที่ดิน ซึ่งต่อมาออกเป็นโฉนดเลขที่ 8620 และ 8619 เพื่อสร้างคลังน้ำมันและท่าเทียบเรือสำหรับเรือบรรทุกน้ำมันขนถ่ายน้ำมันมีกำหนดเวลาการเช่า 30 ปีนับตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2511 จดทะเบียนการเช่าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2511 โจทก์ได้ขออนุญาตก่อสร้างท่าเทียบเรือและสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ ในลำน้ำหน้าที่ดินโฉนดเลขที่8619 ต่อกรมเจ้าท่าโดยนายจำรัส สัมฤทธิ์ เจ้าของที่ดินผู้ให้เช่ายินยอม และได้รับอนุญาตจากกรมเจ้าท่าให้สร้างและใช้ประโยชน์ในท่าเทียบเรือดังกล่าวตลอดมา ต่อมาเมื่อปี 2528 โจทก์มีความประสงค์จะปรับปรุงซ่อมแซมและขยายท่าเทียบเรือเดิมซึ่งเก่าและสร้างมานานแล้วให้อยู่ในสภาพดีและใหญ่ขึ้น โจทก์ให้พนักงานของโจทก์ติดต่อกับจำเลย ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และผู้ให้เช่าที่ดินโฉนดเลขที่8619 โดยรับโอนที่ดินและสัญญาเช่าจากนายจำรัส สัมฤทธิ์เจ้าของเดิมเพื่อให้จำเลยลงชื่อให้ความยินยอมในแบบพิมพ์คำร้องขอทำสิ่งล่วงล้ำลำน้ำแต่จำเลยไม่ยอมลงชื่อ โจทก์ได้รับความเสียหายและขาดประโยชน์ เพราะโจทก์ไม่สามารถปรับปรุงซ่อมแซม และขยายท่าเทียบเรือได้เป็นค่าเสียหายและขาดผลประโยชน์เป็นเงินไม่ต่ำกว่าเดือนละ 70,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยลงชื่อในช่องเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินในแบบพิมพ์คำร้องขอทำสิ่งล่วงล้ำลำน้ำของกรมเจ้าท่า เพื่อให้ความยินยอมให้โจทก์ปรับปรุง ซ่อมแซมและขยายท่าเทียบเรือที่สร้างหน้าที่ดินโฉนดเลขที่ 8619 ถ้าจำเลยไม่ยอมลงชื่อก็ขอให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยให้จำเลยใช้ค่าเสียหายและค่าขาดประโยชน์ให้โจทก์จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 140,000 บาท ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายและค่าขาดประโยชน์ให้โจทก์เดือนละ 70,000 บาท นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าแบบพิมพ์คำร้องขอทำสิ่งล่วงล้ำลำน้ำจะถูกต้องเรียบร้อย
จำเลยให้การว่า ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมไม่บรรยายให้แจ้งชัดว่าจำเลยมีหน้าที่ตามข้อสัญญาเช่าข้อที่เท่าใดที่จำเลยจะต้องลงชื่อในคำร้องขอทำสิ่งล่วงล้ำลำน้ำให้โจทก์ และโจทก์เสียหายอย่างไรนายจำรัส สัมฤทธิ์ ได้ตกลงทำสัญญาเช่ากับโจทก์มิได้ตกลงสัญญากับโจทก์ถึงการสร้างและขยายท่าเรือด้วยแต่อย่างใด ที่นายจำรัสสัมฤทธิ์ ลงนามในคำร้องขอทำสิ่งล่วงล้ำลำน้ำให้โจทก์ไปนั้น เป็นเพราะโจทก์หลอกลวงนายจำรัสว่าโจทก์จะสร้างท่าเรือเล็ก ๆ ธรรมดาเฉพาะในเขตที่ดินตามสัญญาในฟ้องมิใช่ท่าเทียบเรือที่ล่วงล้ำเข้าไปในเขตลำน้ำสาธารณะเช่นนั้น ตามสัญญาเช่าจำเลยไม่มีหน้าที่ต้องให้คำยินยอมต่อโจทก์ โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด เพราะโจทก์ยังใช้ท่าเรือและถนนขนถ่ายน้ำมันนั้นได้อยู่แล้วโจทก์ยังคงดำเนินกิจการตามปกติของโจทก์ การที่โจทก์ได้ขยายท่าเทียบเรือไม่ทำให้รายได้เพิ่มขึ้นหากเสียหายก็ไม่เกินเดือนละ500 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยลงชื่อในช่องเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินในแบบพิมพ์คำร้องขอทำสิ่งล่วงล้ำลำน้ำเพื่อรับรองและยินยอมให้โจทก์ซ่อมแซมปรับปรุงและขยายท่าเทียบเรือหน้าที่ดินโฉนดเลขที่ 8619ตำบลบางกุ้ง อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี ถ้าจำเลยไม่ยอมลงชื่อ ก็ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนารับรองและอนุญาตของจำเลย ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เดือนละ 2,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2528 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะให้คำยินยอมและรับรองหรือถือว่าจำเลยให้คำยินยอมและรับรองแล้ว
จำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 2กันยายน 2511 โจทก์ได้ทำสัญญาเช่าที่ดิน 3 แปลง เป็นของนายจำรัสสัมฤทธิ์ 2 แปลงคือ ที่ดินตาม น.ส.3 เลขที่ 72 และ 73 ต่อมาน.ส.3 ดังกล่าวได้เปลี่ยนเป็นโฉนดเลขที่ 8620 และ 8619 ที่ดินอีกแปลงหนึ่งเป็นของนางทิ้ง ชูรัตน์ เพื่อสร้างคลังน้ำมันปรากฏตามสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.3 เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2511โจทก์ได้จดทะเบียนการเช่าที่ดินทั้ง 3 แปลงตามหนังสือสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอทำสิ่งล่วงล้ำลำน้ำเพื่อสร้างท่าเทียบเรือสำหรับขนถ่ายน้ำมันต่อกรมเจ้าท่า โดยนายจำรัสสัมฤทธิ์ ลงชื่อยินยอมในฐานะเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 8619กรมเจ้าท่าอนุญาตให้โจทก์สร้างท่าเทียบเรือ เขื่อนกันดิน ค.ส.ล.ตลอดแนวที่ดินที่ติดกับลำน้ำสร้างหลักผูกเรือและหลักกันกระทบท่าตามใบอนุญาตและแผนที่เอกสารหมาย จ.7 โจทก์ได้ก่อสร้างท่าเทียบเรือและสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ดังกล่าว และใช้ขนถ่ายน้ำมันทางเรือตั้งแต่ ปี 2512 เป็นต้นมา ต่อมาเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2526 จำเลยมีหนังสือแจ้งโจทก์ว่า จำเลยได้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 8619 และ 8620จากนายจำรัส สัมฤทธิ์ ให้โจทก์จ่ายค่าเช่าแก่จำเลย ปรากฏตามหนังสือเอกสารหมาย จ.12 และเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2526นายจำรัส สัมฤทธิ์ มีหนังสือแจ้งโจทก์ว่า นายจำรัส สัมฤทธิ์ ได้ขายที่ดินให้จำเลย ให้จ่ายค่าเช่าแก่จำเลยโดยตรง ปรากฏตามหนังสือเอกสารหมาย จ.13 ต่อมาเมื่อต้นปี 2528 โจทก์ประสงค์จะซ่อมแซมปรับปรุงและขยายท่าเทียบเรือให้สามารถรับเรือขนาด 500 ตันกรอสส์ขึ้นไป โจทก์ให้จำเลยลงชื่อยินยอมในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินในคำร้องขอทำสิ่งล่วงล้ำลำน้ำตามแบบฟอร์มของกรมเจ้าท่าแต่จำเลยไม่ยอม
พิเคราะห์แล้ว ปัญหาว่าจำเลยผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินที่เช่าจะต้องยินยอมและลงชื่อรับรองในคำร้องของโจทก์ที่ขอทำการก่อสร้างปรับปรุงและขยายท่าเทียบเรือขนถ่ายต่อกรมเจ้าท่า ตามที่โจทก์ฎีกาหรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญาเช่าที่ดินซึ่งนายจำรัสเจ้าของที่ดินเดิมทำไว้กับโจทก์ ตามเอกสารหมาย จ.1 จ.2ข้อ 3.3 ระบุยินยอมให้โจทก์มีสิทธิใช้ประโยชน์เฉพาะภายในเขตทรัพย์สินที่เช่าเท่านั้น มิได้ระบุว่าถ้าผู้เช่าสร้างท่าเทียบเรือล่วงล้ำลำน้ำหน้าที่ดินที่เช่า ผู้ให้เช่าจะต้องยินยอมลงชื่อด้วยฉะนั้นการที่นายจำรัส สัมฤทธิ์ ผู้ให้เช่าเดิมยินยอมลงชื่อรับรองให้โจทก์สร้างท่าเทียบเรือล่วงล้ำลำน้ำหน้าที่ดินที่เช่า ตามใบอนุญาตกรมเจ้าท่าตามเอกสารหมาย จ.7 นั้น จึงเป็นการกระทำนอกเหนือสัญญาเช่า ไม่ผูกพันจำเลยผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่เช่าและการที่โจทก์ทำคำร้องขอขยายท่าเทียบเรือที่มีขนาดเกินกว่า 500 ตันกรอสส์ตามเอกสารหมาย จ.17 เป็นการกระทำเพื่อโจทก์จะได้รับประโยชน์มากขึ้น แบบพิมพ์คำรับรองของเจ้าของที่ดินในคำร้องดังกล่าวมีว่า ถ้ามีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดในหน้าที่ดินบนฝั่งของเจ้าของที่ดิน เจ้าของที่ดินจะเป็นผู้รับผิดชอบเองจึงเป็นการเพิ่มภาระให้จำเลยผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินต้องรับผิดชอบมากขึ้นกว่าความรับผิดตามสัญญาของเจ้าของที่ดินเดิม แม้โจทก์จะมีหนังสือถึงจำเลยว่าโจทก์รับเป็นผู้รับผิดชอบเองก็ตามโจทก์ก็ไม่มีสิทธิบังคับจำเลยให้กระทำนอกเหนือไปจากสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าได้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share