คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3965/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ที่ดินพิพาทมีลูกหนี้เป็นเจ้าของรวม เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีสิทธิยึดมาแบ่งแก่เจ้าหนี้ในคดีล้มละลายได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 19,22(1) และ 109(1) แม้ผู้ร้องกับพวกเป็นเจ้าของรวมฝ่ายข้างมากเห็นว่าไม่ควรขายที่ดินพิพาททั้งแปลงก็จะนำบทบัญญัติมาตรา 1361 วรรคสอง แห่ง ป.พ.พ. มาใช้บังคับแก่กรณีนี้ไม่ได้ เพราะกรรมสิทธิ์ของเจ้าของรวมแต่ละคนย่อมครอบไปเหนือทรัพย์สินทั้งหมดจนกว่าจะมีการแบ่งทรัพย์สินหรือโดยการขาย ดังนั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีอำนาจยึดที่ดินพิพาทออกขายได้ทั้งแปลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1364 ผู้ร้องย่อมใช้สิทธิเรียกขอแบ่งส่วนของตน ตามสิทธิของเจ้าของรวมได้ในทางการบังคับคดี ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 287 ประกอบ พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 153.

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ยึดที่ดินโฉนดที่ 267 ตำบลท่ามะกา อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี ของลูกหนี้(จำเลย) ที่ 1 ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด แต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งให้ยกคำร้อง ผู้ร้องทั้งสองจึงยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่า ที่ดินที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยึดไว้เป็นของผู้ร้องทั้งสอง มิใช่เป็นของลูกหนี้ที่ 1 ขอให้มีคำสั่งว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้องทั้งสอง และปล่อยที่ดินพิพาท
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คัดค้านว่า ที่ดินโฉนดที่ 267 ตำบลท่ามะกา อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี พร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างเดิมเป็นของนางสมถวิล จำรูญ มารดาของผู้ร้องทั้งสองกับพวก เมื่อนางสมถวิลเจ้ามรดกถึงแก่กรรม ศาลมีคำสั่งตั้งให้นางสาวสมจินตนาจำรูญ เป็นผู้จัดการมรดก และต่อมาผู้จัดการมรดกได้จดทะเบียนขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ลูกหนี้ที่ 1 ถือว่าเป็นทรัพย์สินอันลูกหนี้ที่ 1 มีอยู่ในเวลาเริ่มต้นแห่งการล้มละลายอันอาจแบ่งแก่เจ้าหนี้ได้ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสอง
ผู้ร้องทั้งสองอุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เมื่อปรากฏว่าผู้ร้องทั้งสองและนายภัทรวิทย์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทร่วมกับลูกหนี้ที่ 1 ผู้ร้องทั้งสองจะร้องคัดค้านการยึดทรัพย์ไม่ได้ แต่มีสิทธิขอให้แบ่งส่วนของตนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 287 ประกอบพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153
ผู้ร้องทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 158 นั้น เป็นกรณีที่ผู้มีส่วนได้เสียคนใดเห็นว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่มีสิทธิยึดทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดให้คัดค้านต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้รับคำคัดค้านแล้วให้สอบสวนและมีคำสั่ง ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สั่งไม่ให้ถอนการยึด ผู้นั้นมีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลภายในกำหนดเวลาสิบสี่วันนับแต่วันได้ทราบคำสั่งนั้นเมื่อศาลได้รับคำร้องขอแล้ว ให้ศาลพิจารณาและมีคำสั่งชี้ขาดเหมือนอย่างคดีธรรมดา โดยเรียกเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้ามาสู้คดี จึงเห็นได้ว่าศาลจะมีคำสั่งให้ถอนการยึดทรัพย์ได้ต่อเมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าทรัพย์สินที่ยึดนั้นมิใช่ทรัพย์สินของลูกหนี้ในคดีล้มละลาย คดีนี้ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ที่ดินพิพาทลูกหนี้ที่ 1 เป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ฉะนั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 จึงมีสิทธิยึดที่ดินพิพาทมาแบ่งแก่เจ้าหนี้ในคดีล้มละลายได้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 19, 22(1) และ 109(1) แม้ผู้ร้องทั้งสองและนายภัทรวิทย์จะมีกรรมสิทธิ์ร่วมอยู่ในที่ดินพิพาท และเป็นเจ้าของฝ่ายข้างมากมีความเห็นว่าไม่ควรขายที่ดินพิพาททั้งแปลงก็ตามก็จะนำบทบัญญัติมาตรา 1361 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาใช้บังคับแก่กรณีไม่ได้ เพราะกรรมสิทธิ์ของเจ้าของรวมแต่ละคนนั้นย่อมครอบไปเหนือทรัพย์สินทั้งหมดจนกว่าจะมีการแบ่ง ส่วนการขายเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือศาลก็ย่อมจะให้ขายได้ทั้งแปลงเว้นแต่จะตกลงยินยอมกันให้ขายเฉพาะส่วนของลูกหนี้ที่ 1 เพราะแม้แต่ในกรณีระหว่างนางสาวสมจินตนากับผู้ร้องทั้งสองและนายภัทรวิทย์ซึ่งเป็นเจ้าของรวมกันอยู่ เมื่อตกลงแบ่งกันเองไม่ได้ ก็ต้องขายทั้งแปลงเช่นเดียวกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364ซึ่งผู้ร้องทั้งสองและนายภัทรวิทย์ย่อมมีทางที่จะเรียกขอให้แบ่งส่วนของตนตามสิทธิของเจ้าของรวมได้ในทางการบังคับคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 ประกอบพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153…”
พิพากษายืน.

Share