คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3821/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การคำนวณค่ารายปีนั้น ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินฯมาตรา 18 ให้ถือเอาค่ารายปีของปีที่ล่วงมาแล้วเป็นหลักในการคำนวณค่าภาษีปีต่อมาคดีนี้แม้โจทก์ขอคำนวณค่ารายปีในปี 2526 จากค่ารายปีของปี 2522 แต่เมื่อปรากฏว่าค่ารายปีของปี 2523 ถึง 2525 คู่ความยังพิพาทกันอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล กรณีจึงไม่มีหลักเกณฑ์อันใดที่จะเอามาคำนวณได้ดีกว่าที่จะยึดถือค่ารายปีของปี 2522ดังนั้นจึงนำค่ารายปีของปี 2522 มาใช้เป็นหลักในการคำนวณค่ารายปีของปี 2526 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินเรียกเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินของเจ้าพนักงานเก็บภาษีของจำเลยที่ 1 ให้เพิกถอนใบแจ้งคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินจำนวน232,807.38 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า การประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ชอบแล้ว เพราะโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ได้ใช้ในการประกอบอุตสาหกรรมและประกอบกิจการค้า จึงไม่อยู่ในข้อยกเว้นภาษีโรงเรือน อีกทั้งการคำนวณค่ารายปีก็ได้เทียบจากค่าเช่าซึ่งเหมาะสมและชอบแล้ว เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ จำเลยที่ 2 ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นพิจารณาซึ่งก็เห็นชอบกับเหตุผลของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1จำเลยที่ 2 ได้แจ้งคำชี้ขาดให้โจทก์ทราบ คำชี้ขาดของจำเลยที่ 2จึงชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 คืนเงินภาษีโรงเรือนเป็นส่วนลดให้โจทก์จำนวน 114,148.98 บาท ภายใน 3 เดือนนับแต่วันที่ศาลตัดสินโดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ย หากเกิน 3 เดือนให้ใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเกิน 3 เดือนจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นว่าการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินนั้นได้กำหนดไว้ในมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 ให้ผู้รับประเมินชำระปีละครั้งตามค่ารายปีของทรัพย์สิน และกำหนดค่ารายปี หมายถึงจำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรจะให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ ทรัพย์สินทั้งหมดของโจทก์ได้ใช้ประกอบธุรกิจของโจทก์เอง ฉะนั้นการชำระค่ารายปีของทรัพย์สินโจทก์อยู่ที่ว่าสมควรจะให้เช่าได้ในปีหนึ่งเป็นจำนวนเงินเท่าใดโจทก์จึงขอกำหนดค่าเช่าที่ควรจะได้รับเป็นค่ารายปี สำหรับปี 2526โดยกำหนดเอาค่ารายปีของปี 2522 แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ตามภาวะค่าครองชีพและเศรษฐกิจ เมื่อถึงปี 2526 จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 107.36ตามข้อนำสืบของโจทก์ ปรากฏตามคำเบิกความของนายสุพัตร ทองเจิมประกอบด้วยดัชนีราคาขายลดที่พักอาศัย ของกองระดับราคากรมเศรษฐกิจพานิชย์ จากปี 2522 ถึง 2527 เพิ่มขึ้นร้อยละ 58.2ซึ่งยังเป็นอัตราร้อยละที่ต่ำกว่าที่โจทก์พอใจในการกำหนดค่ารายปีแม้ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 18ค่ารายปีของปีที่ล่วงมาแล้วนั้น ให้เป็นหลักในการคำนวณค่าภาษีปีต่อมา ซึ่งเป็นเพียงหลักการณ์ที่จะคำนวณค่ารายปี สำหรับคดีนี้โจทก์ขอคำนวณมาจากค่ารายปี 2522 ก็เป็นเพียงเพื่อตั้งฐานให้ได้ค่ารายปีในปี 2526 เพราะไม่มีหลักเกณฑ์อื่นใดที่ขอเอามาคำนวณได้ดีกว่าที่จะยึดถือของปี 2522 เพราะค่ารายปีของปี 2523,2524 และ 2525 ตามคำเบิกความของนายธนิต อิ่มบัว พยานโจทก์และนายประดิษฐ์ เจียมจันทร์ พยานจำเลยตรงกันว่า คู่ความพิพาทเกี่ยวกับค่ารายปี อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลโดยเฉพาะปี 2523 ศาลฎีกาได้พิพากษาแล้ว ฉะนั้นจะเอาค่ารายปีของปี 2525 มาเป็นเกณฑ์ในการคำนวณค่ารายปีของปี 2526 ยังไม่ได้พยานหลักฐานของโจทก์มีเหตุผลรับฟังได้ว่า การคำนวณค่ารายปีของโจทก์เป็นไปตามภาวะค่าครองชีพและเศรษฐกิจที่เจริญเติบโตขึ้น ส่วนจำเลยมีนายประดิษฐ์เบิกความว่า ที่จำเลยกำหนดค่ารายปีโดยอาศัยเทียบเคียงกับค่ารายปีของโรงงานอื่นที่อยู่ใกล้เคียงกับโรงงานของโจทก์ คือโรงงานบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด และโรงงานทอผ้าขององค์การอุตสาหกรรมทอผ้า ซึ่งก็เป็นเหตุผลที่จำเลยกำหนดค่ารายปีของโจทก์ แต่ไม่น่าจะกำหนดเพิ่มขึ้นมากมายหลายเท่ากว่าการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจและภาวะค่าครองชีพที่กองระดับราคากรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ได้สำรวจไว้ ทั้งไม่ปรากฏว่าโรงงานที่นำมาเปรียบเทียบมีลักษณะ สภาพ และทำเลใกล้เคียงกับของโจทก์ จนมีค่ารายปีเหมือนกัน พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักน่ารับฟังดีกว่าจำเลยคดีฟังได้ว่าค่ารายปีที่โจทก์ขอเสียภาษีมานั้นชอบด้วยเหตุผลการประเมินของเจ้าพนักงานจำเลยที่ 1 และคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2ไม่ชอบ
พิพากษายืน

Share