แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ตามคำฟ้องและความที่ปรากฏในสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นการจดทะเบียนภารจำยอมก็เพื่อประโยชน์ที่โจทก์จะใช้ทางภารจำยอมนั้น เดิน ออกสู่ซอย และถนน แนวทางที่จะมีการจดทะเบียนตามที่ตกลงกันจึงต้องเป็นแนวทางที่สามารถใช้ภารยทรัพย์ตามวัตถุประสงค์ของเจ้าของสามยทรัพย์ แนวที่จะถือว่าจะเป็นประโยชน์ได้ก็ต้องอยู่ในแนวที่ไม่มีการขัดขวางการใช้ทางเดิน ดังนั้น การกำหนดให้เริ่มแนวจากขอบถนนกว้างออกไปอีก 2 เมตร โดยที่ยังอยู่ในแนวเส้นสีแดง ในแผนที่สังเขปจึงมิใช่การกำหนดให้จดทะเบียนภารจำยอมเป็นการฝ่าฝืนสัญญาประนีประนอมยอมความ หรือเป็นการเปลี่ยนแปลงในภารยทรัพย์ตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ อันจะทำให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นแก่ภารยทรัพย์ เพราะแนวที่กำหนดให้จดทะเบียนนั้นอยู่ในขอบเขตที่กำหนดไว้ในภารยทรัพย์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ.
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ทั้งเจ็ด จำเลยและจำเลยร่วมได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลได้พิพากษาตามยอมคดีถึงที่สุดแล้วว่าจำเลยและจำเลยร่วมยอมเว้นทางเดินกว้าง 2 เมตร จดทะเบียนภารจำยอมให้โจทก์เดินออกสู่ซอยสายสิน และถนนประชาชื่น ตามแผนที่สังเขปท้ายสัญญาประนีประนอมยอมความในเส้นสีแดง ต่อมาจำเลยร่วมได้ขายที่ดินให้จำเลยและไม่เกี่ยวข้องกับที่บริเวณพิพาทโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 7 ยื่นคำร้องว่าเส้นทางที่จำเลยกำหนดไว้บนฟุตบาทและถนนบางส่วนนั้นตามสภาพที่เป็นจริงแล้ว ไม่สามารถใช้เดินได้ตามที่ตกลงกันเพราะมีเสาไฟฟ้า ซุ้มต้นไม้กีดขวางอยู่ ขอให้จำเลยกำหนดแนวทางบนถนนให้จดทะเบียนภารจำยอมเพื่อให้ใช้ประโยชน์ได้
จำเลยคัดค้านคำร้องของโจทก์ดังกล่าว โดยยินยอมจดทะเบียนภารจำยอมตามที่ได้ตกลงไว้ในคำพิพากษาตามยอมเท่านั้น
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์ไม่สามารถใช้ทางเดินตามเส้นทางที่จะต้องจดทะเบียนภารจำยอมได้ทั้งหมดเพราะฟุตบาทมีเสาไฟฟ้า ซุ้มต้นไม้ปลูกอยู่และบางส่วนไม่สามารถใช้ได้เลยต้องเดินบนถนนและไม่จำกัดส่วนที่ดิน คือเดินได้ทุกส่วนของถนน ดังนั้นการที่จะจดทะเบียนภารจำยอมบนฟุตบาทบางส่วนและบนถนนบางส่วน จึงทำให้ประโยชน์แห่งภารจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก ซึ่งจำเลยในฐานะเจ้าของภารยทรัพย์ต้องงดยกเว้นการประกอบกรณีดังกล่าวอยู่แล้วเพื่อประโยชน์และความมุ่งหมายแห่งภารจำยอม จึงต้องจดทะเบียนในส่วนที่ใช้ประโยชน์ได้ หาใช่จดในส่วนที่ไร้ประโยชน์ จึงมีคำสั่งให้จำเลยไปจดทะเบียนภารจำยอมให้โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยให้มีความกว้างยาวเท่าเดิม แต่ให้ย้ายไปจดบนถนนติดฟุตบาทด้านที่ตกลงให้จดทะเบียนภารจำยอม หากไม่ไปให้ใช้คำพิพากษาตามยอมแทนการแสดงเจตนา
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงยุติว่าส่วนหนึ่งของแผนที่สังเขปในเส้นสีแดงทางด้านริมนั้นมีการทำเป็นขอบถนนและตลอดแนวส่วนนี้มีการปักเสาไฟ และซุ้มต้นไม้ไม่อาจใช้เป็นทางเดินตลอดแนวได้บางตอนต้องลงไปเดินในถนนซึ่งอยู่ในส่วนที่เป็นเส้นสีแดงตามแผนที่สังเขป คดีมีปัญหาวินิจฉัยว่า ที่ศาลมีคำสั่งให้จำเลยใช้ขอบถนนเป็นแนวจดทะเบียนภารจำยอมนั้น เป็นการเปลี่ยนแปลงแก้ไขสัญญาประนีประนอมยอมความหรือไม่ ศาลฎีกาได้พิจารณาสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์ จำเลยและจำเลยร่วมลงวันที่ 7 สิงหาคม 2528 แล้วในสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวนั้น มิได้มีการกำหนดแนวทางด้านข้างว่าจะเริ่มที่ตรงแนวทางใด ในแนวเส้นสีแดงของแผนที่สังเขปท้ายสัญญาประนีประนอมยอมความในเมื่อตามคำฟ้องและความที่ปรากฏในสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นการจดทะเบียนภารจำยอมก็เพื่อประโยชน์ที่โจทก์จะใช้ทางภารจำยอมนั้น เดินออกสู่ซอยสายสินและถนนประชาชื่นแนวทางที่จะมีการจดทะเบียนตามที่ตกลงกันจึงต้องเป็นแนวทางที่สามารถใช้ภารยทรัพย์ตามวัตถุประสงค์ของเจ้าของสามยทรัพย์ แนวที่จะถือว่าเป็นประโยชน์ได้ก็ต้องอยู่ในแนวที่ไม่มีการขัดขวางการใช้ทางเดินดังนั้นการกำหนดให้เริ่มแนวจากขอบถนนกว้างออกไปอีก 2 เมตร โดยความกว้างที่ออกไป 2 เมตร นั้น ก็ยังอยู่ในแนวเส้นสีแดงในแผนที่สังเขป จึงมิใช่การกำหนดให้จดทะเบียนภารจำยอมเป็นการฝ่าฝืนสัญญาประนีประนอมยอมความ หรือเป็นการเปลี่ยนแปลงในภารยทรัพย์ตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความอันจะทำให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นแก่ภารยทรัพย์แต่อย่างใด เพราะแนวที่กำหนดให้จดทะเบียนนั้นก็อยู่ในขอบเขตที่กำหนดไว้ในภารยทรัพย์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ”
พิพากษายืน.