คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3324/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 มิได้ยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต่อศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 2 แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 มาก็ไม่เกิดสิทธิอุทธรณ์ พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 61 บัญญัติว่าเมื่อเจ้าหนี้ลงมติในการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายหรือการประนอมหนี้ไม่ได้รับความเห็นชอบให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย จึงเป็นบทบังคับให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย จะงดพิพากษาหรือพิพากษาเป็นอย่างอื่นไม่ได้เมื่อที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติไม่ยอมรับคำขอประนอมหนี้ของจำเลยที่ 2และขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานศาลเพื่อพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ล้มละลายแล้ว การที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายอีก ทั้ง ๆ ที่เป็นการพ้นขั้นตอนและพ้นระยะเวลาตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 45 แล้ว จึงเป็นการไม่ชอบ.

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้(จำเลย) ทั้งสองเด็ดขาด ต่อมาจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2532 จำเลยที่ 2 ได้ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อขอให้รับคำขอประนอมหนี้เสนอเข้าที่ประชุมเจ้าหนี้พิจารณาใหม่อีกครั้งในครั้งนี้จำเลยที่ 2 ได้เสนอขอประนอมหนี้ดีขึ้นกว่าครั้งก่อนโดยเสนอชำระเป็นเงินก้อน ครั้งเดียวแทนการผ่อนชำระภายใน 5 ปีเช่นครั้งก่อน โดยชำระเงินก้อนจำนวนร้อยละ 30 ของจำนวนหนี้ที่ศาลอนุญาตภายในกำหนด 6 เดือน จำเลยที่ 2 ได้ติดต่อกับเจ้าหนี้ไว้เป็นส่วนใหญ่และมีความเห็นชอบกับการขอประนอมหนี้ครั้งใหม่นี้แล้ว แต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีคำสั่งยกคำร้องอ้างว่าจำเลยที่ 2 ได้ยื่นคำร้องขอประนอมหนี้หลังจากพ้นขั้นตอนที่จะยื่นคำขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายแล้ว ไม่รับคำขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายแล้ว ไม่รับคำขอประนอมหนี้ไปเสนอต่อที่ประชุมเจ้าหนี้ในระหว่างนี้ ซึ่งจำเลยที่ 2 เห็นว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะพระราชบัญญัติล้มละลายฯ ไม่มีข้อห้ามที่จะไม่ให้ลูกหนี้ยื่นคำขอประนอมหนี้ครั้งใหม่อีก ขอให้ยกเลิกคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โดยให้รับคำขอประนอมหนี้ของจำเลยที่ 2 ไว้ดำเนินการต่อไป
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า จำเลยที่ 2 จะขอประนอมหนี้ต้องร้องขอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนด 7 วันนับแต่วันยื่นคำชี้แจ้งเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สิน หรือภายในเวลาที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะกำหนดให้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483มาตรา 45 ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายใหม่ตามคำร้อง และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งยกคำร้อง ถือได้ว่าเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์วินิจฉัยไม่กำหนดให้จำเลยที่ 23 ขอประนอมหนี้ ย่อมเป็นดุลพินิจในการดำเนินกระบวนพิจารณาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ศาลสมควรมีคำสั่งยืนตามคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และคดีไม่มีเหตุจำเป็นต้องทำการไต่สวน ยกคำร้อง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ไม่ชอบนั้น เห็นว่าจำเลยที่ 1 มิได้ยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต่อศาลชั้นต้นแต่อย่างใด จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 2 แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 มาก็ไม่เกิดสิทธิอุทธรณ์ ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยจึงชอบแล้ว
ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ขั้นตอนการขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายมิได้มีบทบัญญัติใดห้ามลูกหนี้ที่จะขอประนอมหนี้ใหม่อีกในชั้นก่อนล้มละลายนั้น เห็นว่าตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 61 บัญญัติว่า เมื่อเจ้าหนี้ลงมติในการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายหรือการประนอมหนี้ไม่ได้รับความเห็นชอบ ให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย บทบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นบทบังคับให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย จะงดพิพากษาหรือพิพากษาเป็นอย่างอื่นไม่ได้ คดีนี้ปรากฎข้อเท็จจริงว่า ที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ลงมติไม่ยอมรับคำขอประนอมหนี้ของจำเลยที่ 2และขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานศาลเพื่อพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ล้มละลายแล้ว การที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายอีก ทั้ง ๆ ที่เป็นการพ้นขั้นตอนและพ้นระยะเวลาตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 45 จึงเป็นการไม่ชอบ
พิพากษายืน.

Share